ในสภาพที่สัญญาณทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในทุกๆ ภาคส่วน แต่ “หัวเว่ย” ยังมองว่าประเทศไทยมีโอกาสในการเติบโต ด้วยการเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรุงเทพฯ พร้อมไปกับการประกาศถึงการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่วางเป้าหมายระยะยาวไว้ด้วยการก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับตลาดโลก
โทมัส หลิว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มุมมองของบริษัทแม่ต่อประเทศไทยว่า หัวเว่ย มองไทยเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคนี้ ดังที่เห็นได้จากการลงทุนต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.1 หมื่นล้านบาท) ในการตั้งสำนักงาน วางโครงสร้างการทำธุรกิจ ขยายช่องทางจำหน่าย และบริการหลังการขายให้ครอบคลุม
“ช่วงที่ผ่านมา หัวเว่ย เหมือนเริ่มปูพื้นฐานในการทำตลาดในประเทศไทย แต่ต่อจากนี้ไปจะเป็นจุดที่หัวเว่ยเริ่มรุกเข้ามาในตลาดมากยิ่งขึ้นในทุกๆ ช่องทาง โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ การสร้างการรับรู้แบรนด์แก่ผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น เพราะแต่เดิมคนไทยจะมองหัวเว่ยว่าเป็นมือถือจีน แต่ด้วยคุณภาพ และประสิทธิภาพของสินค้าในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับโลกแล้ว และก็ได้รับการตอบรับจากตลาดยุโรป และสหรัฐฯ ด้วยดีเช่นเดียวกัน”
แน่นอนว่าด้วยเป้าหมายที่ซีอีโอประกาศออกมาว่า ต้องการขึ้นเป็นผู้นำสมาร์ทโฟนในทุกๆ ตลาด ทำให้จากเดิมเป้าหมายที่วางไว้ในแผน 3 ปีของหัวเว่ยที่ต้องการส่วนแบ่งตลาด 15% ภายในสิ้นปีหน้า ต้องเผชิญต่อความยากลำบากมากขึ้นต่อการวางแผนในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1
เพียงแต่การจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างมาช่วยให้หัวเว่ยขึ้นไปถึงจุดนั้น ดังนั้น การที่ “ทศพร นิษฐานนท์” รองผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนที่ผ่านมา ต้องทำการเปลี่ยนผ่านองค์กรให้พร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้นำ โดยขอใช้ระยะเวลา 1-2 เดือน ในการจัดการโครงสร้างภายใน และ 2-3 เดือน สำหรับการขยับขยาย
ทศพร มั่นใจว่า ระยะเวลา 5 ปีในการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ถ้าบริษัทยังสามารถรักษาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และนวัตกรรมไว้ได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการนำ Huawei P9 ออกสู่ตลาด เพราะถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกตลาดทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงในตลาดประเทศไทยที่มีจำนวนยอดจองเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้สูงถึง 12 เท่า ขณะเดียวกัน เป้าหมายส่วนแบ่งตลาด 15% ภายในปีหน้าก็ยังอยู่ในแผนที่วางไว้
โดยเฉพาะในการทำตลาดของซีรีส์ P9 หัวเว่ย วางงบประมาณไว้ที่ 150 ล้านบาท ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ในการโปรโมตผ่านสื่อต่างๆ แบบ 360 องศา ซึ่งถือว่าจะเป็นแคมเปญที่ใหญ่ที่สุดของหัวเว่ยก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้านี้ การใช้งบประมาณในการทำตลาดของแต่ละรุ่นจะขึ้นลงตามแต่ช่องทางที่เลือกใช้ แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นการลงในทุกๆ ช่องทางที่มี
***ใช้แคมเปญออนไลน์ดึงลูกค้า
นอกเหนือจากการใช้ช่องทางปกติในการทำตลาด ช่องทางออนไลน์ ก็เป็นอีกส่วนที่หัวเว่ยเลือกใช้ ด้วยการออกแคมเปญอย่าง “Worldfie War” ในการสร้างการรับรู้แบรนด์พร้อมกับการแนะนำข้อมูลผลิตภัณฑ์เพื่อให้กลุ่มลูกค้าใกล้ชิดกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้แบรนด์พรีเซนเตอร์อย่าง “อาเล็ก ธีรเดช เมธาวรายุทธ” ที่มาจับกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ และ “อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม” เน้นกลุ่มผู้ใช้งานมืออาชีพ เพื่อนำ P9 ไปใช้งานในมุมมองที่แตกต่าง
ร่วมกับเหล่าเซเลบริตีอย่าง ภูผา เตชะณรงค์, โจ้ ช.การช่าง, อายส์ กมลเนตร เรืองศรี, ยิปซี คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์ และเหล่าช่างภาพมืออาชีพที่จะมาถ่ายภาพแบบ “Worldfie” เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นถึงประสิทธิภาพของกล้องคู่ที่ได้รับความร่วมมือจากทางไลก้า บน P9
***ลุยขยายทุกช่องทางจำหน่าย
แน่นอนว่าการขยายช่องทางจำหน่ายถือเป็นสิ่งหลักที่แบรนด์มือถือต้องทำเพื่อให้โทรศัพท์สามารถเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้างได้มากขึ้น ดังนั้น แผนการเร่งด่วนที่สุดในตอนนี้ คือ การเพิ่มพาร์ตเนอร์ในส่วนของช่องทางจำหน่าย จากเดิมที่หัวเว่ยจะใช้การทำตลาดผ่านดีลเลอร์รายใหญ่อย่าง เจมาร์ท ทีจีโฟน ซีเอสซี กับทางดิสทริบิวเตอร์ในการกระจายสินค้า ก็จะเริ่มทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์มากขึ้น
ดังที่เห็นได้จากการทำโปรโมชันร่วมกันระหว่างหัวเว่ย และค่ายมือถือที่นำ P9 มาจำหน่ายในราคาพิเศษเมื่อชำระค่าบริการล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของหัวเว่ยในการขยายช่องทางจำหน่าย เพราะโอเปอเรเตอร์ทุกรายต่างก็มีหน้าร้านที่สามารถเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างทั่วประเทศอยู่เช่นเดียวกัน
อีกตลาดหนึ่งที่ “หัวเว่ย” เล็งเห็นโอกาสจากการมาของผลิตภัณฑ์อย่าง P9 ที่มีกล้องซึ่งร่วมผลิตกับไลก้า (Leica) ที่เป็นเจ้าแห่งเลนส์ของโลกกล้องตั้งแต่สมัยฟิลม์จนมาถึงดิจิตอลก็ยังคงรักษาภาพความเป็นแบรนด์พรีเมียมในตลาดได้อยู่ ดังนั้น การนำ P9 เข้าไปวางจำหน่ายในช่องทางตลาด “กล้อง” ถือเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงพูดคุยกันอยู่ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาส 3
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่หัวเว่ยเพิ่งเปิดตัว P9 ซึ่งถือเป็นโปรดักต์แฟลกชิปในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียม ซึ่งจะมีสัดส่วนลูกค้าหลักอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลักถึง 50% ทำให้มีแนวโน้มที่จะเริ่มจากการขยายในตัวเมืองก่อนไล่ไปตามหัวเมืองต่างจังหวัด เพื่อให้รับต่อสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ที่จะทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงหลังจากนี้
ด้าน โทมัส หลิว กล่าวเสริมว่า ช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ถือเป็นอีกจุดที่หัวเว่ยต้องการก้าวไปให้ถึงในตลาดประเทศไทย เพราะด้วยแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มให้ความสำคัญต่ออีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น ประกอบกับหัวเว่ยประสบความสำเร็จในการทำตลาดอีคอมเมิร์ซในจีน ทำให้การทำระบบจำหน่ายออนไลน์ในประเทศไทยต้องเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต
***เซอร์วิสต้องดี
ถัดมาคือ เรื่องของบริการหลังการขาย ที่หัวเว่ย ให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ด้วยการเปิดศูนย์บริการไปแล้ว 24 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 18 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ รวมเป็น 42 แห่ง พร้อมไปกับการพัฒนาพนักงานให้มีความเชี่ยวชาญในตัวผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาใช้บริการทั้งส่วนของเซอร์วิส และแนะนำการใช้งาน
ขณะเดียวกัน ได้มีการเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสมาร์ทโฟน P9 และ P9 Plus ที่เมื่อเครื่องมีปัญหาครั้งแรก หากเข้าไปที่ศูนย์บริการหลักทั้ง 5 แห่ง คือ SYNNEX สำนักงานใหญ่ ลาดพร้าว, SVOA สำนักงานใหญ่ ราษฎร์บูรณะ, CSC สำนักงานใหญ่ ลุมพินี, ศูนย์บริการหัวเว่ย นครศรีธรรมราช และศูนย์บริการหัวเว่ย เชียงใหม่ แล้วไม่สามารถแก้ไขได้ภายใน 1 ชั่วโมง ทางหัวเว่ยจะทำการเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ทันที
ส่วนลูกค้าที่ใช้หัวเว่ยรุ่นอื่นๆ จะได้รับสิทธิอย่างได้เครื่องสำรองไปใช้งาน กรณีที่ใช้ระยะเวลาซ่อมเกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งหัวเว่ย เชื่อว่า แนวคิดดังกล่าวจะช่วยเข้ามายกระดับบริการของหัวเว่ยให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะเพิ่มบริการอย่างรับส่งเครื่องถึงมือลูกค้าภายใน 5 วัน เข้ามาช่วยสำหรับลูกค้าที่ไม่มีเวลาไปศูนย์บริการในอนาคตด้วย
***จุดแข็งหัวเว่ยในตลาดสมาร์ทโฟน
ทศพร มองว่า ตอนนี้แบรนด์หัวเว่ยถือว่าแข็งแรงในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับกลางบน ด้วยการที่วางจำหน่าย P9 ในราคา 16,990 บาท พร้อมกับก่อนหน้านี้ ที่มีการปรับราคา Mate 8 ลงมาต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ทำให้เป็นช่วงราคาที่หัวเว่ยถือครองอยู่ แต่ขณะเดียวกัน หัวเว่ยก็ต้องพยายามกระจายสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแรงให้ครอบคลุมในทุกๆ ตลาด
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ของตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงที่สินค้ามีปริมาณมากกว่าความต้องการ (โอเวอร์ซัปพลาย) จากการที่โอเปอเรเตอร์ใช้การแจกเครื่องเพื่อให้ลูกค้าเปลี่ยนเครือข่ายมาใช้งาน 3G และ 4G ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงต้นปีที่ผ่านมาไม่เติบโตเท่าที่ควร จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตเกิน 10% ก็ทำให้ตลาดเติบโตไม่ถึง ทำให้ต้องดูในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อโอเปอเรเตอร์เลิกใช้สงครามแจกเครื่อง ดีมานด์ของตลาดก็จะเข้าสู่สภาวะปกติ