เหล่ากูรูองค์กรขนาดใหญ่ และรุ่นพี่สตาร์ทอัป แนะปัจจัยหลักในการก้าวสู่สตาร์ทอัปอย่างยั่งยืน ชี้โอกาสสตาร์ทอัปรอดมีน้อย แนะไอเดียต้องดีในเวลาที่เหมาะสม บุคลากรต้องพร้อม องค์กรขนาดใหญ่พร้อมเป็นพาร์ตเนอร์
นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง และ CEO บริษัท อุ๊คบี จำกัด กล่าวภายในงานสัมมนา Thailand ICT Management Forum 2016 จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ว่า นโยบายของประเทศไทยในการสนับสนุนสตาร์ทอัป ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องหันมาสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นแนวโน้มในการลงทุนที่ดี แม้ว่าธรรมชาติของสตาร์ทอัปที่รอดอยู่เกิน 3 ปีจะมีน้อย และต้องเสี่ยงก็ตาม แต่การลงทุนขององค์กรต้องมองเรื่องการได้มาซึ่งนวัตกรรมของสตาร์ทอัปนั้นๆ มากกว่าการลงทุนเพื่อสนใจแต่เพียงกำไร ขณะที่สตาร์ทอัปเองก็ต้องการให้องค์กรขนาดใหญ่เข้ามาซื้อกิจการเหมือนแนวโน้มในทั่วโลกที่เกิดขึ้นมาแล้ว
นายกำพล ศรธนะรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า เมื่อสตาร์อัปอย่างฟินเทคกำลังมาแรง ก.ล.ต.ก็ต้องดูแลผู้เล่นรายเก่าให้ตื่นตัวสามารถแข่งขันกับฟินเทคให้ได้ ขณะที่แอปพลิเคชันเกี่ยวกับตลาดทุนก็มีเพิ่มขึ้น ก.ล.ต.ก็ต้องส่งเสริมเพื่อไม่ให้แอปเกิดใหม่กลายเป็นแอปเถื่อน
อย่างไรก็ตาม ต่อแอปที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ก.ล.ต.ไม่ต้องการเป็นผู้ควบคุม แต่ ก.ล.ต.ต้องการทำหน้าที่เหมือนครูฝึก คอยชี้แนะ ให้คำปรึกษา แก่สตาร์ทอัปให้ทำแอปที่อาจจะเถื่อน ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำกับดูแลของ ก.ล.ต.ให้มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องให้ได้ นอกจากนี้ เพื่อรับมือต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ก.ล.ต.ก็มีโครงการในการฝึกฝนบุคลากรให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีด้วย
ด้าน น.ส.ธนิษฐา วัฒนศักดากุล รองประธานฝ่ายบริหารจัดการ กลยุทธ์ และนวัตกรรม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรไม่จำเป็นต้องทำงานร่วมกับเฉพาะองค์กรใหญ่ หรือบริษัทจากต่างชาติเหมือนแต่ก่อน องค์กรเริ่มมีการทำงานกับสตาร์ทอัปมากขึ้น หน่วยนวัตกรรมของไทยพาณิชย์ ต้องทำงานไว โดยอาศัยไอเดีย หรือความต้องการของผู้บริโภค มาสร้างบริการตัวอย่างให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่า บริการนี้จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว บริการก็ต้องแข่งกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนด้วย และธนาคารก็พร้อมที่จะเป็นพาร์ตเนอร์กับสตาร์ทอัปเพื่อทำงานร่วมกัน
ขณะที่ นายไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง Buik.com ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการก่อสร้าง กล่าวว่า การสร้างแอปต้องทำให้คนกลับมาใช้ซ้ำให้ได้ ไม่ใช่โหลดมาแล้วไม่ได้ใช้ ซึ่งตนเองเชื่อในการให้ฟรี เหมือนอย่าง ไลน์ เฟซบุ๊ก ที่เป็นของฟรี จนทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน การให้ฟรีจะได้มาซึ่งข้อมูล และพฤติกรรมผู้บริโภค ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ โดยการวัดความสำเร็จของการทำงานมันมีวิธีการคิดหลายแบบ ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องรายได้ คนที่เป็นสตาร์ทอัปไม่จำเป็นต้องเป็นเด็ก เพราะคนจะเป็นสตาร์ทอัปได้อยู่ที่วิธีคิด และมีไฟที่ต้องการจะทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาต่อสิ่งที่เห็นปัญหาอยู่ ดังนั้น คนอายุ 60 ปี ก็เป็นสตาร์ทอัปได้
ด้าน น.ส.ศรีหทัย พราหมมณี หัวหน้าส่วน เอไอเอส สตาร์ทอัป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นสตาร์ทอัปได้อย่างยั่งยืนต้องมีทีมที่เข้มแข็ง มีความรู้ในธุรกิจที่จะทำ และมีผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ที่สำคัญคือ ต้องมีประสบการณ์ความผิดพลาด และพร้อมนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
ส่วน นายสรรเสริญ สมัยสุต หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด และผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ้ก ดิจิทัล จำกัด กล่าวว่า 4 ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนกับสตาร์ทอัป และเชื่อได้ว่าสตาร์ทอัปแต่ละที่จะไปได้ไกล และยั่งยืนแค่ไหน คือ 1.ดูคุณภาพของโอกาสว่าจะมีโอกาสของธุรกิจมากน้อยแค่ไหน 2.โอกาสต้องมาในเวลาที่เหมาะสม 3.บุคลากร และ 4.ทำได้หรือไม่
นายภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์ ผู้ก่อตั้ง Wongnai.com กล่าวว่า อุปสรรคของวงในคือ เรื่องเทคโนโลยี เนื่องจากวงในเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตยังไม่สามารถดูผ่านโทรศัพท์มือถือได้ โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่เป็นฟีเจอร์โฟน ซึ่งแอปของวงในต้องการให้คนดาวน์โหลดลงโทรศัพท์มือถือเพื่อหาร้านอาหารที่ใกล้ที่สุดได้ วงใน จึงต้องหาวิธีการทำการตลาดผ่านวิธีการแปลกๆ เช่น ให้ร้านขายโทรศัพท์มือถือย่านมาบุญครองดาวน์โหลดแอปวงในให้ลูกค้า ซึ่งสมัยนั้นลูกค้าลงแอปต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือไม่เป็นต้องให้ร้านค้าลงให้ รวมถึงใช้สาวๆ ในแคมฟรอกซ์ช่วยโปรโมตแอปวงในให้ เป็นต้น