xs
xsm
sm
md
lg

อนาคต “ดีแทค” ภายใต้ดิจิตอลไทยแลนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
ดีแทค หวังร่างกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลที่ชัดเจนจะเป็นตัวแปรสำคัญสู่การนำพาประเทศไทยยุคดิจิตอล เชื่อเมื่อมีระเบียบแบบแผนชัดเจนจะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจในการลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นรากฐานสำคัญของ “ดิจิตอล ไทยแลนด์” มั่นใจกลยุทธ์ครึ่งปีหลังก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิตอล พร้อมการเติบโตที่ยั่งยืนภายใต้ CMO คนไทย

ก่อนหน้านี้ ดีแทค ได้มีการจัดทำข้อเสนอ (White Paper) “เส้นทางสู่ดิจิตอล ไทยแลนด์” ตามโครงการ ดิจิตอล ไทยแลนด์ ที่แบ่งเป็นยุทธ์ศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ที่ทางรัฐบาลกำหนดขึ้น คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล 2.ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมดิจิตอล 3.เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อสังคมที่เท่าเทียม 4.บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ 5.ทุนมนุษย์ และ 6.กรอบการทำงานองค์รวมเพื่อดิจิตอล ไทยแลนด์ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ตามเป้าหมายของโครงการที่วางไว้คือ การสร้างโอกาส และความเท่าเทียมกันทางสังคมเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในฐานะบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ถัดมาคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกด้วยการเพิ่มสัดส่วนจีดีพี 25% ให้มาจากอุตสาหกรรมดิจิตอล การเปลี่ยนโฉมภาครัฐให้ขึ้นมาอยู่ใน 50 อันดับแรกของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก และสุดท้ายคือ พัฒนาการสนับสนุนให้ประชากรไทยมีความรู้ด้านดิจิตอล

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า จากยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือ เรื่องของการร่างกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดในการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมดิจิตอลเป็นลำดับแรก เพราะถือเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะให้ประเทศเข้าสู่ยุคดิจิตอล

“ร่างกฎหมายดังกล่าวจะกลายเป็นแกนกลางของอุตสาหกรรมที่จะทำให้ภาคเอกชนสามารถทำแผนธุรกิจได้อย่างเหมาะสม อย่างในมุมของดีแทค เมื่อมีกฎหมาย และระเบียบที่ชัดเจนแล้วก็สามารถวางแผนในการประมูลคลื่นความถี่มาให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งจะอยู่ในส่วนของยุทธศาสตร์แรกคือ เรื่องของการขยายโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประชาชน ด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เหมาะสม”

เขาย้ำว่า ในการจัดทำแผนการจัดสรรความถี่ ไม่ว่าจะเป็นความถี่ 700 MHz 2300 MHz และ 2600 MHz รัฐจำเป็นต้องใช้กฎหมายที่ชัดเจนในการเรียกคืนความถี่ที่ไม่มีการใช้งาน หรือใช้งานอยู่แต่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ITU มาจัดทำโรดแมปความถี่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดในตอนนี้

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลควรวางไว้คือ การนำพาประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำดิจิตอลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบัน ไทยจะเป็นรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติต่างๆ ไทยใกล้เคียงกับมาเลเซีย และมีบางปัจจัยอย่างการเข้าถึง 3G 4G และจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่สูงกว่ามาเลเซีย

“การที่จะเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคได้ต้องเริ่มจากแซงมาเลเซียขึ้นมาก่อน โดยปัจจุบัน ไทยจะเป็นรองทั้งสิงคโปร์ และมาเลเซีย ในช่วงของอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟน ที่ไทยจะอยู่ราว 59% ขณะที่สิงคโปร์ และมาเลเซียอยู่ที่ 78% และ 65% ตามลำดับ เช่นเดียวกับดัชนีการพัฒนาด้านไอซีที ที่ไทยจะต้องปรับปรุงให้เพิ่มมากขึ้น เพราะยังตามหลังมาเลเซียอยู่นิดหน่อย”

ส่วนยุทธศาสตร์อื่นๆ ดีแทคก็มีข้อเสนอที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสนับสนุนนวัตกรรมดิจิตอล จากโครงการอย่าง ดีแทค แอคเซอเลอเรท ที่ตั้งเป้าว่าจะผลักดันสตาร์ทอัปไทยให้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค พร้อมกับการสร้างมูลค่าให้แก่สตาร์ทอัปเกิน 2,000 ล้านบาท ส่วนในแง่ของความเท่าเทียม ดีแทค มีโครงการอย่าง Internet For All ที่ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

ขณะที่ในแง่ของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทางดีแทค ก็พร้อมสนับสนุนในแง่ของบริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้การให้บริการอี-วอลเล็ต และอี-เพย์เมนต์ของ เพย์สบาย ส่วนเรื่องของทุนมนุษย์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายหลักของประเทศไทย ซึ่งต้องเริ่มจากการสร้างทักษะไอซีทีพื้นฐาน ดีแทค ก็จะมีโครงการอย่าง Smart Farmer ที่ส่งเสริมเกษตรกรไทยนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงโครงการเน็ตอาสาที่จะช่วยเข้าไปสอนให้ประชาชนไทยได้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

“ตอนนี้ ดีแทค กำลังอยู่ในขั้นตอนของการนำข้อมูลเหล่านี้เข้าไปเสนอแก่ภาครัฐ และมีโอกาสที่จะพูดคุยกับโอเปอเรเตอร์รายอื่นเพื่อช่วยกันร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิตอล เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในปี 2563”

***เปิดภารกิจ CMO นำพาดีแทคสู่ยุคดิจิตอล

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของดีแทค คือ การประกาศตั้ง “สิทธิโชค นพชินบุตร” เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด ที่เป็นคนไทยถัดจากยุคของ ธนา เธียรอัจฉริยะ ที่สร้างแบรนด์แฮปปี้ให้ประสบความสำเร็จในยุคก่อนหน้านี้ ด้วยการวางเป้าหมายไว้ที่การพาดีแทค กลับเข้าสู่การเติบโตในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม พร้อมไปกับการวางตำแหน่งแบรนด์ให้กลายเป็นผู้ให้บริการในยุคดิจิตอล

“เราเลือกผู้บริหารในตำแหน่งนี้จากความเหมาะสมเป็นหลัก ไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นคนไทย หรือชาวต่างชาติ เพียงแต่ สิทธิโชค มีความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภค มีประสบการณ์ในตลาด และรับรู้อยู่แล้วว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร ดังนั้น เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีกิจกรรมทางการตลาดที่ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแน่นอน”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคของดีแทค ที่เป็นดิจิตอล เซอร์วิส จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ เรื่องของผลิตภัณฑ์ และบริการ ซึ่งจะส่งผลให้วิธีในการทำธุรกิจเปลี่ยนไปด้วยการนำระบบวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้ามาใช้งานในการนำเสนอบริการที่เหมาะสมแต่ละบุคคล รวมถึงการใช้งานโมบายที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

***มองเกมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

เมื่อมองถึงการแข่งขันในตลาด ตอนนี้ ดีแทค เชื่อมั่นทั้งในแง่ของประสิทธิภาพเครือข่ายที่อยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันได้ แม้ว่าจะมีคลื่นบนใบอนุญาตน้อยกว่าคู่แข่ง เนื่องจากมีการเร่งขยายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำคลื่น 1800 MHz บนสัญญาสัมปทานมาให้บริการ Super 4G ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีในตลาด

ส่วนในแง่ของโปรโมชัน ก็มีการทำโปรโมชันต่อเนื่อง ทั้งสำหรับลูกค้าเดิม และลูกค้าย้ายค่ายที่ไม่เป็นรองใคร ส่วนในตลาดดีไวซ์ ดีแทค จะมีความแข็งแกร่งในตลาดลูกค้ารายเดือนมากกว่า เพราะที่ผ่านมา การแข่งขันในกลุ่มลูกค้าเติมเงินค่อนข้างสูงจากการเปลี่ยนผ่านเครื่อง 2G เป็น 3G

“คู่แข่งทั้ง 2 รายต่างลงทุนในการแจกเครื่องเพื่อแย่งลูกค้า 2G ซึ่งในช่วงแรกดีแทคไม่ได้ลงไปแข่งขันด้วย เพราะมองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อคู่แข่ง แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ดีแทค ก็จะเริ่มย้ายลูกค้าที่ใช้งาน 2G มาสู่ 3G ด้วยเช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ แผนการขยายเครือข่ายของดีแทคในส่วนของ 3G ความถี่ 2100 MHz จะเน้นไปที่การเพิ่มความหนาแน่นของสัญญาณให้มากขึ้น ส่วน 3G ความถี่ 850 MHzจะขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ 95% ของประชากรภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เช่นเดียวกับการขยาย Super 4G บนคลื่น 1800 MHz ให้ครบทุกจังหวัด พร้อมกับการเพิ่มแบนด์วิธเป็น 20 MHz ในบางพื้นที่ ส่วน 4G บนคลื่น 2100 MHz จะครอบคลุมทุกอำเภอภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ลาร์ส คิดว่าสำคัญที่สุดในการเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ คือ การพัฒนาฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ให้แข็งแรง รวมถึงการแนะนำบริการใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด เพื่อสร้างประโยชน์ในการใช้งานแก่ผู้บริโภค ขณะที่ปัจจุบันตลาดในประเทศไทยจะเน้นไปที่การขยายฐานลูกค้าใหม่เป็นหลัก

***คลื่น 900 MHz ชี้สภาพการแข่งขันในตลาด

ลาร์ส ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงการประมูลคลื่น 900 MHz ในรอบที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 2 มุมคือ กรณีที่เอไอเอสได้คลื่นไปก็ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นที่เอไอเอสเคยถือครองอยู่แล้ว ถ้าสูญเสียคลื่นส่วนนี้ไปก็อาจจะส่งผลต่อการแข่งขันในอนาคต ส่วนอีกกรณีที่ทรูได้คลื่นไป ก็อาจจะต้องมองไปถึงเงินลงทุนที่ต้องนำมาจ่ายค่าใบอนุญาตทั้ง 2 ใบ

“ดีแทค เชื่อว่าโครงสร้างของตลาดที่มีการกระจายคลื่นไปยังผู้ให้บริการทุกๆราย น่าจะดีที่สุดสำหรับอุตสาหกรรม เพราะช่วยให้เกิดการแข่งขันทางด้านบริการที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ได้เปรียบในการแข่งขันเนื่องจากทรัพยากร”

***ไม่ใช่เบอร์ 3 ในตลาด

จากกรณีที่มีการให้ข้อมูลถึงจำนวนเลขหมายที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันที่ระบุว่า ดีแทค ตกเป็นอันดับ 3 ในตลาดนั้น ดีแทค เชื่อว่ายังสามารถรักษาอันดับ 2 ในเชิงของส่วนแบ่งรายได้ไว้ได้ เพราะจากข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ผ่านมา ดีแทค มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 28% ในขณะที่อันดับถัดมาอยู่ที่ 20% ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันเชื่อว่าการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดขึ้นมาแต่ละเปอร์เซ็นต์ถือว่าทำได้ยากมาก

“แน่นอนว่า เราไม่ใช่ที่ 3 ในตลาด”
กำลังโหลดความคิดเห็น