xs
xsm
sm
md
lg

ผ่ายุทธศาสตร์ “ควอลคอมม์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จิม แคที่ ประธานประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และอินเดีย บริษัท ควอลคอมม์ เทคโนโลยีส์ อิงค์
หนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของสมาร์ทโฟนคงหนีไม่พ้นในเรื่องของชิปเซ็ต ที่เป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนาฟังก์ชัน ฟีเจอร์ และประสิทธิภาพของตัวเครื่องให้แต่ละแบรนด์นำออกมาเป็นจุดเด่นในการทำตลาดแข่งขันกัน แต่จะมีผู้บริโภคกี่คนที่รู้ว่า ฟังก์ชันเหล่านี้มาจากความสามารถของชิปเซ็ตภายใต้แบรนด์ใหญ่อย่าง “Qualcomm” (ควอลคอมม์)

ในตลาดพีซีผู้บริโภคจะเห็นถึงการขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 แบรนด์ใหญ่ในตลาดหน่วยประมวลผล (CPU) คือ อินเทล (Intel) และเอเอ็มดี (AMD) เช่นเดียวกันในตลาดสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ก็มีชิปเซ็ต 2 แบรนด์ที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในตลาดนี้ คือ ควอลคอมม์ และมีเดียเทค (Mediatek) โดยมีอินเทลที่ลงมาจับตลาดสมาร์ทโฟนเข้ามาสอดแทรกในบางกลุ่ม

แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดเทคโนโลยีจะมีด้วยกัน 2 ส่วนหลักๆ คือ เรื่องของเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้น และอีกส่วน คือ ประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับราคา ดังนั้น แต่ละแบรนด์ก็จะมีการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาเจาะกลุ่มลูกค้า (แบรนด์มือถือที่จะนำชิปเซ็ตไปใช้) ให้เลือกใช้ให้เหมาะต่อผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในตลาดได้

จิม แคที่ ประธานประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และอินเดีย บริษัท ควอลคอมม์ เทคโนโลยีส์ อิงค์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจถึงปริมาณคาดการณ์ในการจัดส่งสมาร์ทโฟนในช่วงปี 2015-2019 ว่า จะสูงถึง 8.5 พันล้านเครื่อง ซึ่งจะทำให้สมาร์ทโฟนมีสัดส่วนมากถึง 53% ภายในปี 2019 ขณะเดียวกัน ยังระบุว่า ตลาดที่จะมีความคึกคักมากที่สุดในช่วง 3 ปีข้างหน้าก็คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ปัจจุบัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรมากกว่า 590 ล้านคน ที่สำคัญ คือ กว่า 60% มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2019 จะมีสัดส่วนผู้ใช้งาน 4G ราว 31% โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อเนื่องไปจนถึงปี 2019 ที่ 67% เช่นเดียวกับจำนวนสมาร์ทโฟนที่เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยที่ 39% ต่อปี”

สุวิทย์ พฤกษ์วัฒนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจประจำประเทศไทย บริษัท ควอลคอมม์ อินคอร์ปอเรทเต็ด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลประกอบการในปีที่ผ่านมาของควอลคอมม์ว่า ได้มีการจัดส่งชิปเซ็ตสมาร์ทโฟนเข้าสู่ตลาดไปกว่า 940 ล้านชิ้น ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่า ยอดจัดส่งชิปเซ็ตในปีนี้จะใกล้เคียงกับ 1 พันล้านชิ้น
สุวิทย์ พฤกษ์วัฒนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจประจำประเทศไทย บริษัท ควอลคอมม์ อินคอร์ปอเรทเต็ด
ขณะเดียวกัน ยังมองถึงทิศทางตลาดในประเทศไทยว่า ปีนี้อาจจะไม่เติบโตสูงเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากทั้งแบรนด์ และโอเปอเรเตอร์ต่างโหมทำตลาดในการเปลี่ยนเครื่อง 2G เป็น 3G หรือ 4G อย่างหนักในปีที่ผ่านมา ทำให้ดีมานด์ในตลาดปีนี้จะเป็นการเปลี่ยนเครื่องตามระยะเวลาการใช้งานมากกว่า ทำให้ตลาดอาจจะทรงตัวมากกว่าเติบโตเพิ่มมากขึ้นแบบเห็นได้ชัด

“ปัจจัยหลักที่จะทำให้สมาร์ทโฟนเติบโตในปีนี้ คือ เรื่องของ 4G ที่ผู้ให้บริการทุกรายเริ่มทำตลาดกันแล้ว ดังนั้น ควอลคอมม์ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตชิปเซ็ตที่รองรับการใช้งาน 4G ตั้งแต่ระดับล่าง จนถึงระดับพรีเมียม ก็พร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการใช้งานด้วยเช่นเดียวกัน”

ส่วนในแง่ของเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางผู้บริหารควอลคอมม์ให้ความสนใจต่อระบบอย่างเวอร์ชวล เรียลิตี (VR) ที่ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง เพราะสามารถนำไปพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ถัดมาคือ เรื่องของกล้องถ่ายภาพ 360 องศา ระบบความปลอดภัยบนสมาร์ทโฟน และเซ็นเซอร์ตรวจวัดข้อมูลทางชีวภาพ (Biometric Sensor)

***4 เทคโนโลยีจาก Snapdragon ในมือผู้ใช้

ในส่วนของชื่อที่ควอลคอมม์ ใช้ในการทำตลาดหน่วยประวลผล และชิปเซ็ตในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน คือ “Snapdragon” ที่ปัจจุบันทุกซีรีส์จะรองรับการใช้งาน 4G LTE หมดแล้ว ตั้งแต่ Snapdragon 210 จนถึง Snapdragon 820 ที่เป็นรุ่นไฮเอนด์ในเวลานี้

เพียงแต่เทคโนโลยีเด่นที่ควอลคอมม์พยายามชูขึ้นมาใน Snapdragon 820 จะมีด้วยกันหลักๆ 4 ส่วน ก็คือ ในเรื่องของ 1.การเชื่อมต่อที่ปัจจุบันในประเทศไทยจะได้ยินเรื่องของการรวมคลื่นมาให้บริการ LTE Advanced หรือ CA (Carrier Aggregation) ไม่ว่าจะเป็น 2CA คือ การรวม 2 คลื่นมาให้บริการ และ 3CA การรวม 3 คลื่นมาให้บริการ ที่ทางทรูมูฟ เอช จะเริ่มให้บริการในประเทศไทย เพื่อให้สามารถใช้งานโมบาย อินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น

นอกเหนือไปจากเรื่องของ CA ภายใน Snapdragon 820 ยังรองรับการใช้งานในส่วนของ LTE-U (LTE in Unlicensed spectrum) หรือการใช้คลื่นความถี่ 4G รวมกับคลื่นความถี่ที่ไม่ต้องขอใบอนุญาต (WiFi) ที่เอไอเอส ออกมาประกาศความร่วมมือกับทางหัวเว่ย ก่อนหน้านี้ให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือได้ความเร็วสูงถึง 1 Gbps ก็เป็นผลพวงมาจากเทคโนโลยีของควอลคอมม์ กับโมเด็มในรุ่น X12 LTE และจะพัฒนาขึ้นไปอีกในรุ่น X16 LTE ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้การนำเทคโนโลยีอย่าง Ultra HD Voice การใช้งานโทรศัพท์ผ่าน LTE (VoLTE) รวมถึงการใช้งานโทรศัพท์ผ่านไวไฟ (VoWiFi) ก็ถือเป็นความสามารถที่อยู่ภายในชิปเซ็ตของควอลคอมม์เช่นเดียวกัน ดังนั้น หลายๆ เทคโนโลยีที่ใช้งานในด้านการติดต่อสื่อสาร ส่วนใหญ่ก็จะมาพร้อมกับชิปเซ็ตที่ผู้ผลิตเลือกนำมาใช้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการว่าจะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับแต่ละประเทศหรือไม่

ถัดมาในส่วนของ 2.กล้องถ่ายภาพ แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะยังมีปัจจัยในเรื่องของเลนส์ และคุณภาพของกล้องที่ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละแบรนด์จะเลือกนำมาใช้ แต่หนึ่งในความสามารถพิเศษของ Snapdragon 820 คือ เรื่องของการประมวลผลภาพถ่ายเพื่อให้สามารถเก็บรายละเอียดแสงได้ครบถ้วนมากขึ้นภายใต้ชื่อเทคโนโลยี “Qualcomm Specta ISP” อย่างที่เห็นกันในคุณภาพของของซัมซุง Galaxy S7

3.ระบบชาร์จพลังงาน ถือเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ควอลคอมม์ชูขึ้นมา ภายใต้ชื่อ Quick Charge 3.0 ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ 85% ภายในเวลา 30 นาที แน่นอนว่าสิ่งที่ควอลคอมม์ต้องทำคือ การสร้างระบบนิเวศขึ้นมาเป็นมาตรฐานให้แก่ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม เพราะถ้ามีเทคโนโลยีแต่ไม่มีการออกอุปกรณ์ที่รองรับก็ไร้ประโยชน์

สุดท้าย คือ ฟังก์ชันอย่าง 4.การสแกนลายนิ้วมือ (Finger Print) ที่มีการคิดค้น 3D Ultrasonic ขึ้นมาเพื่อให้ระบบสแกนลายนิ้วมือแม่นยำมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มมิติของการสแกนเข้าไปทำให้ไม่ต้องกังวลถึงสภาพนิ้วมือที่ไม่สะอาดจากการทาโลชันทำให้ตัวสแกนรุ่นก่อนไม่สามารถอ่านค่าได้ พร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถสแกนผ่านพลาสติก กระจก หรือโลหะที่มีความหนาไม่เกิน 400 ไมครอนได้

ไม่นับรวมไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผล ทั้งซีพียู (Kyro) ที่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 2 เท่า และใช้พลังงานน้อยลง 2 เท่า และจีพียู (Adreno 530) ที่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 40% และใช้พลังงานน้อยลง 40% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า

ทั้งนี้ ชิปเซ็ต Snapdragon 820 ได้มีการนำไปใช้แล้วในสมาร์ทโฟนอย่าง Samsung Galaxy S7, LG G5, Xiaomi Mi5, Sony Xperia X Performance และ Vivo Xplay 5S และมีอีกมากกว่า 100 รุ่น ที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาเพื่อออกสู่ตลาดภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าจะมีรุ่นใดถูกนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยบ้าง เพราะอย่างซัมซุง ก็เลือกที่จะนำ S7 รุ่นที่ใช้หน่วยประมวลผล Exynos ที่ผลิตขึ้นมาเองเข้ามาทำตลาดแล้ว ส่วน LG G5 ก็อาจจะไม่ได้เห็นในตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพราะทางแอลจีได้เข้าสู่ช่วงการปรับกลยุทธ์ธุรกิจมือถือในไทยก่อนจะเริ่มทำตลาดอีกครั้งในช่วงปลายปี

แน่นอนว่า ไม่ใช่เพียงตลาดสมาร์ทโฟนเท่านั้นที่ควอลคอมม์ให้ความสนใจ เพราะปัจจุบันได้มีการขยายไลน์สินค้าไปให้ครอบคลุมอุปกรณ์เสริมอื่นๆ อย่างอุปกรณ์ไอทีที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (IoT) และอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้ (Wearable Device) ด้วยการนำหน่วยประมวลผลในตระกูล Snapdragon 200 เข้าไปใช้ร่วมกับแบรนด์สินค้าแฟชันอย่าง ฟอสซิล (Fossil) เพื่อผลิตสมาร์ทวอชท์ออกมาจำหน่ายแล้ว

รวมถึงการรุกเข้าไปยังตลาดหน่วยประมวลผลในรถยนต์ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะต้องมีการส่งต่อข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ อุปกรณ์สำหรับการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน LTE หรือ Wi-Fi ให้ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ต้องการประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อ ดังนั้น เมื่อดูแล้วอนาคตของควอลคอมม์ก็จะขยายวงออกไปสู่อุตสาหกรรมไอทีอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น