xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ 'ทรู' เล่นบทพระเอก(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในขณะที่สงคราม 4G กำลังระอุ เหล่าโอเปอเรเตอร์ต่างสาดกระสุนโปรโมชัน ทุ่มทุนพัฒนาโครงข่ายยกระดับคุณภาพการให้บริการ เพื่อมัดใจลูกค้า รวมทั้งชักชวนลูกค้าคู่แข่งให้ย้ายค่ายทุกวิถีทาง ด้วยการใช้ช่องทางร้านสะดวกซื้อที่สะดวกสมใจ หรือใช้การสกัดลูกค้าย้ายค่ายผ่านคอลเซ็นเตอร์ และกระบวนการเอกสารที่ชักช้าไม่ทันใจลูกค้ายุคดิจิตอล ที่กระหน่ำกันจนบางครั้งเริ่มเลยเถิดกระทบภาพลักษณ์ของแบรนด์ จนทำให้ดูเหมือนว่าธุรกิจทุกวันนี้มุ่งแต่เชือดเฉือนกันแบบไม่ไว้ไมตรี มองคู่แข่งขันกลายเป็นศัตรู

แต่ในภาวะสงคราม ยังมีบางแง่มุมที่ทำให้มีรอยยิ้มที่มุมปาก หลังจาก 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งว่า บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการมายัง กสทช. ว่า จะนำเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz งวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาทพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% และ หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน(แบงก์การันตี) ในจำนวนเงินประมูลที่เหลือทั้งหมด หรือประมาณ 68,258 ล้านบาท มามอบให้แก่ กสทช. ในวันที่ 11 มี.ค.โดยยึดเวลาส่งมอบตามฤกษ์ทางธุรกิจ ในเวลา 13.39 น.

ขณะเดียวกันยังบอกถึงไมตรีที่ทรูหยิบยื่นให้เพื่อนในอุตสาหกรรม ด้วยการอ้างมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่ว่าด้วยการป้องกันประโยชน์สาธารณะในกรณีฉุกเฉิน โดยการให้ เอไอเอส และบริษัทลูก คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด สามารถได้ใช้งานคลื่นความถี่ 900 MHzในส่วนของ ทรู ต่อไปได้อีก 3เดือน โดย ทรู ให้เหตุผลว่า

'ไม่ต้องการเป็นผู้ร้ายที่ทำให้ลูกค้าเอไอเอสซิมดับ และเพื่อให้เอไอเอส สามารถใช้เวลาที่เหลืออยู่อีก 3 เดือนในการโอนย้ายลูกค้า 2Gออกจากระบบ'

โดยปัจจุบัน เอไอเอส เหลือลูกค้าใช้ซิมการ์ดที่ค้างการใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ประมาณ 800,000 ราย และลูกค้าที่ใช้ซิมการ์ดบนคลื่นความถี่อื่นแต่ใช้บริการเชื่อมโยงข้ามโครงข่าย(โรมมิ่ง) เพื่อใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ประมาณ 7 ล้านราย

ไมตรีที่ถูกส่งให้เพื่อนในอุตสาหกรรม ความไม่ต้องการเป็นผู้ร้ายในสายตาลูกค้าที่ทำให้ซิม ดับ น่าจะทำให้ภาพกลุ่มทรูดูดีขึ้นมากหรืออาจจะมากจนกลายเป็น 'พระเอก' ในอุตสาหกรรม หากการดำเนินธุรกิจและเส้นทางการเติบโตจะเข้มงวดกับคำว่า 'ธรรมาภิบาล' มากกว่านี้

ในกลุ่มซีพีเอง เคยมีการพูดเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ธรรมาภิบาลไว้ว่า 'การวางระบบการกำกับดูแลองค์กร (Governance System) นั่นหมายความว่าเป็นการขับเคลื่อนไปทั้งเครือทุกบริษัท ทุกกลุ่มธุรกิจ การขับเคลื่อนเรื่องธรรมาภิบาล สิ่งสำคัญที่สุดต้องเริ่มจากตัวเราก่อน แล้วขยายไปยังองค์กร ทำอย่างไรให้ธรรมาภิบาลแทรกซึมเข้าไปในวัฒนธรรมองค์กร ทำให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้'

หากยึดถือธรรมาภิบาลเป็นหัวใจหลัก กลุ่มทรูน่าจะต้องรีบเคลียร์ปัญหาก่อนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบจากงบการเงินปีงบประมาณ 2557 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2557 ของบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งพบข้อพิรุธ 5 ข้อในสัญญาการดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องมีข้อกำหนดที่ไม่รัดกุม อาจทำให้ กสท เสียเปรียบรวมทั้งพบประเด็นที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและคู่สัญญาของ กสท ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญา ทำให้ กสท ไม่ได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามสัญญาคิดเป็นเงินจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อสตง.ตรวจพบ กสทก็รีบแก้ไข โดย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริษัทและรักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท เปิดเผยว่า ขณะนี้ กสท ได้ส่งเอกสารชี้แจงพร้อมงบการเงินทั้งหมดให้สตง.เรียบร้อยแล้ว พร้อมยืนยันกสท ไม่เสียประโยชน์ พร้อมชี้แจงทั้ง 5 ประเด็นที่สตง.ตั้งข้อสังเกตุ อาทิ 1.การขายส่งบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ที่ กสท ทำสัญญา กับ บริษัท เรียล มูฟ จำกัด ตกลงชำระค่าบริการเป็นรายเดือน ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ถึงงวดเดือนธันวาคม 2557 เป็นเงิน 49,864.86 ล้านบาท แต่บริษัทยืนยันการชำระหนี้เพียง 37,665.80 ล้านบาท ที่เหลือจำนวน 12,199.06 ล้านบาท จะเจรจาหาข้อยุติในภายหลังนั้น กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

ทั้งนี้การเจรจาล่าสุดเรื่องการใช้งานความจุโครงข่ายส่วนเพิ่มสามารถตกลงกันได้ในเบื้องต้นและจะเรียกเก็บค่าบริการกันในโอกาสต่อไป ขณะที่ประเด็นที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาได้แก่เรื่องวันเปิดให้บริการขายส่งบริการอย่างเป็นทางการแก่เรียลมูฟ, เรียลมูฟขอส่วนลดค่าบริการขายส่ง, เรื่องการใช้เสาโทรคมนาคมที่เป็นข้อพิพาทและใบแจ้งหนี้ที่ กสทเรียกเก็บนั้น กสท ยังเร่งติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งได้แจ้งเรียกเก็บค่าดอกเบี้ยจากการที่เรียลมูฟค้างชำระค่าบริการขายส่งบริการ และชำระล่าช้า

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กสท ยังไม่ได้รับเงินค่าบริการที่ครบถ้วนจากเรียลมูฟจึงยังไม่จ่ายชำระค่าเช่าให้กับบีเอฟเคทีเต็มจำนวน ซึ่งกสทไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด

2.การเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคม เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA จากบริษัท บี เอฟ เคที (ประเทศไทย) ที่ตามสัญญากำหนดให้บริษัทจัดหาเครื่องและอุปกรณ์สถานีฐานให้ กสท จำนวน 13,500 ชุด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 แต่บริษัท ไม่สามารถจัดหาให้ครบได้ในเวลาที่กำหนดนั้น ขอชี้แจงว่า บีเอฟเคที ไม่สามารถจัดสร้างและติดตั้งสถานีฐานครบจำนวน 13,500 สถานีได้ทันวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ทำให้ไม่สามารถเปิดใช้งานในทางพาณิชย์ได้ตามแผน และ กสท ได้พิจารณาเรียกเก็บค่าปรับจากบีเอฟเคที เป็นเงินค่าปรับ 2,016 ล้านบาทนั้นโดยการคำนวณค่าปรับดังกล่าวเป็นไปตามกำหนดในสัญญาฯ ซึ่งคิดตามจำนวนอุปกรณ์สถานีฐานแต่ละชุดและตามประเภทอุปกรณ์สถานีฐาน (1-Carrier, 2-Carrier,3-Carrier) และคิดค่าปรับเป็นรายเดือนจนถึงวันที่ส่งมอบครบถ้วนคือวันที่ 1 มีนาคม 2557
 
ทั้งนี้จำนวน Carrier รวมของอุปกรณ์สถานีฐานแต่ละประเภทซึ่งในแต่ละเดือนอาจน้อยกว่าหรือมากกว่าจำนวนที่ได้ออกแบบไว้ และเมื่อนำอุปกรณ์สถานีฐานประเภทที่จำนวนเกินมาชดเชยกับอุปกรณ์สถานีฐานประเภทที่น้อยกว่าพบว่ามีจำนวน Carrier รวมมากกว่าแผน หมายถึงระบบมีความจุมากขึ้นและส่งผลให้ กสท มีรายได้จากการให้บริการขายส่งบริการ เพิ่มขึ้น จากการชดเชยดังกล่าวจึงคิดเป็นค่าปรับได้ประมาณ 2,016 ล้านบาท

ขณะที่หากใช้วิธีคิดค่าปรับแบบไม่นำสถานีฐานประเภทที่จำนวนเกินมาชดเชยให้อุปกรณ์สถานีฐานประเภทที่น้อยกว่า (ตาม สตง.)จะเกิดค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 2,346 ล้านบาท สูงกว่าที่กสทคิดประมาณ 330 ล้านบาท

3.กรณี กสท ตกลงให้ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนซึ่งเป็นบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวเคชั่น จำกัด ใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA (โรมมิ่ง) แต่ยังมิได้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อ กสท แจ้งเรียกเก็บค่าบริการ ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2556 ถึงเดือนส.ค. 2557 เป็นเงิน 6,225.53 ล้านบาท บริษัทไม่ยอมชำระค่าบริการโดยอ้างว่าการเจราจายังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องอัตราค่าบริการนั้น

ส่วนหนึ่งเกิดจากการให้บริการดังกล่าวยังไม่มีการทำสัญญาเนื่องจากในช่วงแรกที่ กสท ได้เสนอให้ทำบันทึกข้อตกลงการให้บริการนั้นทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติ เรื่องโปรไฟล์ปริมาณการใช้งานและค่าบริการส่วนเกินของผู้ใช้บริการจำลอง จำนวน 3 ล้านรายแต่เนื่องจากบริษัทมีหนังสือแจ้งยืนยันการสั่งซื้อบริการจาก กสท และ กสท ได้มีหนังสือตอบรับ ในทางปฏิบัติจึงได้มีการใช้งานโรมมิ่งจากลูกค้าของทรูมูฟเอช มาตลอดและเกิดค่าใช้จ่ายค่าเช่าเครื่องและอุปกรณ์จากบีเอฟเคที โดยกสท ได้แต่งตั้งคณะทำงานเจรจากับกลุ่มทรู และมีการเจรจามาโดยตลอดเพื่อติดตามค่าโรมมิ่งจากทรูมูฟเอชซึ่งสถานะปัจจุบันการเจรจาได้ข้อยุติในวิธีการคำนวณ การเรียกเก็บค่าบริการ และอยู่ระหว่างการดำเนินการต่อไป

4.กรณีส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานคลื่น1800 MHzพบว่าทรูมูฟไม่นำส่งส่วนแบ่งรายได้บริการโรมมิ่ง 2Gของปี 2554-2556 โดย กสท ไม่ได้เรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้เนื่องจากงบการเงินประจำปีของทรูมูฟที่ส่งให้ กสท ตรวจสอบตามสัญญาสัมปทาน ไม่แสดงข้อมูลรายได้จากการให้บริการข้ามเครือข่ายหรือโรมมิ่งในช่วงปี 2554-2556

ทั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่ทรูมูฟเปิดให้บริการโรมมิ่ง 2G บนคลื่นความถี่ 1800 MHzแก่ลูกค้าของบริษัท เรียลมูฟ ซึ่งเป็นMVNO ของ กสท ตามสัญญาให้บริการขายส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ HSPA บนคลื่น 850 MHzโดยรายได้ส่วนนี้ทรูมูฟต้องนำส่งเป็นส่วนแบ่งให้กับ กสท ตามสัมปทาน

ขณะเดียวกัน กสท ได้ติดตามเจรจาเพื่อเรียกเก็บค่าบริการโรมมิ่ง 2Gดังกล่าวจากเรียลมูฟตามสัญญาขายส่ง เพื่อชำระให้กับทรูมูฟโดยการเจรจากินเวลาจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน 16 กันยายน 2556 ซึ่ง กสท ในฐานะเจ้าของสัมปทานจะเข้าเป็นผู้ให้บริการโรมมิ่งแทนทรูมูฟแต่ยังไม่ได้ข้อยุติประกอบกับยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนเพียงพอว่าทรูมูฟจะนำส่งรายได้ส่วนแบ่งที่เกิดจากการให้บริการโรมมิ่งให้กสทหรือไม่ ทำให้กสทยังไม่สามารถรับรู้รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวในงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31ธ.ค. 2554 ถึง 2556

จนกระทั่งภายหลังประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการเยียวยาและทรูมูฟได้เป็นผู้ให้บริการโรมมิ่งหลังหมดสัมปทานทำให้เกิดความไม่แน่นอนในช่วงรอยต่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ กสท รับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายทั้งหมดทันทีในปีงบประมาณ 2557 ทั้งนี้กสท ได้ดำเนินการปรับปรุงงบการเงินย้อนหลังของปี 2554 - 2556 เพื่อให้ตรงตามปีที่เกิดรายได้ตามความเห็น สตง.แล้ว ส่งผลให้มีค่าปรับจากการชำระภาษีไม่ตรงปีภาษี เป็นเงิน 23.28 ล้านบาท (23,279,383.33 บาท)ไม่ใช่ 2.3หมื่นล้านบาทตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ซึ่ง กสท ได้ชำระค่าปรับดังกล่าวแล้วตั้งแต่ 30 เม.ย. 2558

และ 5.การให้บริการอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่ง กสท อนุญาตให้บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจ ติดตั้งอุปกรณ์และใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมก่อนการจัดทำสัญญาหรือข้อตกลง และยังไม่มีข้อตกลงเรื่องอัตราค่าใช้บริการ ทำให้ กสท ไม่สามารถออกใบแจ้งหนี้ให้บริษัทชำระค่าบริการได้ ตั้งแต่เดือนก.พ. 2556 ถึง 31ธ.ค. 2557 รวมเป็นเงิน 287.75 ล้านบาท

ขอชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.58 ที่ผ่านมา กสท ได้อนุมัติอัตราค่าบริการเช่าใช้อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมซึ่งเป็นการกำหนดอัตราขึ้นใหม่ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ กสท เปิดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นร่วมใช้อุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานที่ กสท เป็นเจ้าของหรือเช่าใช้จากผู้อื่นตามประกาศ กสทช.เรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ประกอบกับลักษณะการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันมีรูปแบบและองค์ประกอบอุปกรณ์ที่เช่าใช้แตกต่างกันในผู้ประกอบการที่ขอเช่าใช้แต่ละราย ช่วงเริ่มต้นจึงยังไม่มีอัตราค่าเช่าที่จะใช้เรียกเก็บจากบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล รวมทั้งยังไม่มีการทำสัญญาเช่าใช้อุปกรณ์กับบริษัทโดยหลังจากนี้ กสท จะจัดได้ทำสัญญาและเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเงินประมาณ 780 ล้านบาทต่อไป

ไม่ใช่เฉพาะกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ก็มีการถามหา 'ธรรมาภิบาล' จากทรูวิชั่นส์

สมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการกสทช.ด้านกิจการกระจาย และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ กสท.มีมติปรับทางปกครอง กรณี บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด ไม่ดำเนินการเรียงช่อง หมายเลข1 -36เป็นช่องทีวีดิจิตอล ตามประกาศ ของกสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (เรียงช่อง) ภายใน15วัน นับจากที่กสท.มีคำสั่ง และครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2559 นั้น ขณะนี้ทรูวิชั่นส์ยังเพิกเฉยไม่จ่ายค่าปรับวันละ 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ครบกำหนด รวมถึงกรณีทรูวิชั่นส์ผิด กฎมัสแคร์รี่นั่นคือ มีการนำเนื้อหารายการในฟรีทีวีพร้อมโฆษณาไปออกอากาศในเคเบิลทีวีโดยยังคงโฆษณาชม.ละ 12 นาที ทั้งที่ตามกฎดังกล่าวต้องโฆษณาได้ไม่เกินชม.ละ 6 นาที ซึ่ง กสท.ได้ปรับทางปกครองเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท รวมถึงค่าปรับอีกวันละ 50,000 บาท ด้วย ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์ ยังเพิกเฉย ซึ่งค่าปรับก็ยังคิดอยู่ทุกวัน จึงเชื่อว่าทรูวิชั่นส์น่าจะนำเรื่องไปอุทรณ์ต่อศาล ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ดำเนินการได้ตามกฎหมาย ดังนั้นเรื่องนี้ต้องมีการนำเสนอบอร์ดกสท.อีกครั้งหนึ่งว่าจะมีมาตรการบังคับอย่างไร โดยอาจจะเพิ่มค่าปรับทางปกครอง หรือ พักใช้ ตลอดจนเพิกถอนใบอนุญาต แต่ยังไม่ใช่วันที่ 14 มี.ค.นี้ เพราะไม่มีประชุมบอร์ด กสท.

หลักธรรมาภิบาลหรือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นสิ่งที่ควรห่างไกลอาการ 'ปากว่าตาขยิบ' หากองค์กรขนาดใหญ่ ยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเข้มข้น สังคมคงไม่เห็นการอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้นของผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับผู้บริหารและพรรคพวกจำนวน 6 ราย วงเงินรวมกว่า 34 ล้านบาท สืบเนื่องจาก ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์, ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล, พิทยา เจียรวิสิฐกุล, อธึก อัศวานันท์, สมศักดิ์ เจียรวิสิฐกุล และ อารียา อัศวานันท์ อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน แต่กลุ่มผู้บริหารไม่ลาออก อ้างทำผิดโดยไม่เจตนา รวมทั้งเหตุการณ์เรื่องเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทร็ค ฟาร์มมิ่ง ด้วยการให้ชาวบ้านเข้าร่วมผลิต พืช ผัก ปลา แต่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์ในการผลิตของบริษัทแล้วใช้การรับซื้อผลผลิตแทนไม่ว่าจะเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา แม้แต่การปลูกข้าวโพดพันธุ์ 888

นาทีนี้ ถึงเวลาหรือยังที่ควรทบทวนเรื่องธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง มากกว่าคิดแค่เรื่องรายได้กับยอดขายเท่านั้น

Company Related Link :
กสทช.

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น