xs
xsm
sm
md
lg

ใหม่สดหรือหมดมุก? MWC 2016 ชี้โลกมือถือใกล้อิ่มตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม้ว่าซัมซุงจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ S7 และ S7 edge พร้อม Gear 360 กล้อง 2 เลนส์เพื่อการถ่ายวิดีโอ VR หรือโซนี่ที่แจ้งเกิด Xperia Ear หูฟังบลูทูธพันธุ์ใหม่ที่ฝังระบบผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะไว้ภายใน ควบคู่กับสมาร์ทโฟนใหม่ Xperia X รวมถึงแอลจีที่เผยโฉมเรือธงใหม่ G5 สำหรับสู้ศึกในตลาดโลก แต่หลายสัญญาณในงานประชุมโมบาย เวิลด์ คองเกรส MWC 2016 ชี้ว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลกกำลังเผชิญหน้าต่อช่วงสุดท้ายของยุคที่ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดดแบบง่ายๆ เสียแล้ว

“ยุคที่ธุรกิจโทรคมนาคมเติบโตก้าวกระโดดแบบง่ายๆ” นั้นถูกมองว่าเริ่มต้นมาเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองในปี 2007 ที่ไอโฟนเริ่มเปิดตัว และทำตลาดจนทำให้กระแสสมาร์ทโฟนกระหึ่มทั่วโลก ผู้ผลิตทุกราย ตลาดทุกประเทศ รวมถึงธุรกิจในเซกเมนต์อื่นที่เกี่ยวข้องล้วนได้รับอานิสงส์จากการเติบโตก้าวกระโดดนี้ทั้งสิ้น

ช่วงเวลานั้น แอปเปิลสามารถพลิกสถานะจากบริษัทที่เพิ่งรอดพ้นจากภาวะโคม่ามาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก พร้อมกับที่ซัมซุง สามารถปรับภาพลักษณ์บริษัทครั้งใหญ่จนเป็นที่จดจำในตลาดโลก ยังไม่นับรวมแบรนด์อื่นอย่างเสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ที่เติบโตจากบริษัท “ไร้ตัวตน” มายืนแถวหน้าในเวทีโลก

แต่วันเหล่านั้นอาจจะกำลังหมดไป

สัญญาณจากงานประชุม Mobile World Congress 2016 ซึ่งถือเป็นงานช้างของวงการโทรคมนาคมโลกที่จัดขึ้นประจำทุกปี พบว่า ค่ายผู้ผลิตพยายามค้นหาจุดยืนในตลาดใหม่เพื่อเลี่ยงการแข่งขันในตลาดที่ใกล้อิ่มตัวเต็มที

ความอิ่มตัวของตลาดนี้เห็นได้ชัดจากสถิติของบริษัทวิจัยไอดีซี (IDC) เมื่อปีที่แล้ว การสำรวจพบว่า ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนมีอัตราการเติบโตลดลงเหลือ 9.5% ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เปอร์เซ็นต์การเติบโตกลายเป็นเลขตัวเดียว

สำหรับปีนี้ บริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ (Gartner) เชื่อว่าอัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนจะลดลงเหลือ 2.5% ทั้งหมดนี้เป็นผลให้ยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ยังต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะการจับตาว่าปีนี้อาจเป็นปีแรกที่ไอโฟนจะมียอดขายคงตัว หรือลดลงนับตั้งแต่มีการเปิดตัวไอโฟน

เหตุผลที่แสดงว่าตลาดโทรคมนาคมโลกกำลังอิ่มตัวนั้นชัดเจนเป็นที่รู้กันดี แต่ทุกฝ่ายก็รู้ด้วยว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไข้ได้ง่ายๆ หรือเร็ววันนี้ ตลาดตะวันตกกำลังทรงตัว สินค้าหลายกลุ่มมีทิศทางยอดขายตกต่ำในอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ ทั้งหมดทำให้ฟีเจอร์ใหม่ในอุปกรณ์พกพาถูกส่งมากระตุ้นตลาดต่อเนื่องในระดับราคาที่ต่ำลง

พูดถึงราคาอุปกรณ์ที่ต่ำลง ตลาดเกิดใหม่ หรือ emerging market ของโลกก็ยังถูกมองว่ามีความท้าทายสูงในการเจาะตลาดช่วงปีนี้ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าการพาเหรดสินค้าใหม่ที่เปิดตัวในงาน MWC 2016 ยังต้องลุ้นตัวโก่งว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางตลาดอิ่มตัวที่เกิดได้อย่างที่ผู้ผลิตตั้งใจไว้หรือเปล่า

***แบรนด์ใหญ่ชูสินค้าใหม่

โซนี่ (Sony) เจ้าพ่ออิเล็กทรอนิกส์แดนปลาดิบเปิดตัวอุปกรณ์เทคโนโลยีอัจฉริยะหลากรุ่นในงาน MWC 2016 โดดเด่นที่สุดต้องยกให้ Xperia Ear หูฟังบลูทูธพันธุ์ใหม่ที่สามารถทำงานเป็นผู้ช่วยส่วนตัวได้ครบเครื่อง รองลงมาเป็น Xperia Eye อุปกรณ์วิเคราะห์ใบหน้า และดวงตาที่ยังเป็นสินค้าแนวคิดแห่งอนาคต รวมถึงสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่แกะกล่อง Xperia X และผองเพื่อนที่ถูกแซวว่ามองเหมือนเดจาวูของ Xperia รุ่นก่อนเหลือเกิน ต่างเพียงรุ่นสีทองที่มี “golden face” หรือพื้นที่ด้านหน้าเครื่องเป็นสีทอง

Xperia Ear เป็นหูฟังบลูทูธที่ได้รับสมญาว่าเป็น “ผู้ช่วยในหู” Xperia Ear สามารถบอกตารางงาน อ่านข่าว และรายงานสภาพอากาศให้แก่ผู้ใช้โดยไม่ต้องแตะโทรศัพท์ ตัวเครื่องรองรับคำสั่งเสียง ทำให้ผู้สวมสามารถเอ่ยปากเพื่อโทร.ออก หรือค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงหาเส้นทางสถานที่ที่ต้องการ ตัวเครื่องใช้ซิลิโคนนุ่มนิ่มที่ออกแบบมาเพื่อการสวมใส่บนใบหูตลอดทั้งวัน เบื้องต้น Xperia Ear ยังไม่มีการเปิดเผยราคา โดยรายงานระบุเพียงว่า กำหนดการจำหน่าย Xperia Ear อยู่ที่ช่วงฤดูร้อนของอเมริกา ซึ่งเทียบเท่าประมาณเดือนมิถุนายน

นอกจาก Xperia Ear ยังมีอุปกรณ์ต้นแบบแนวคิดอีก 3 ชนิด ที่โซนี่เปิดตัวในงาน MWC 2016 ได้แก่ Xperia Eye กล้องดิจิตอลติดบนเสื้อเพื่อการบันทึกภาพมุมมองใหม่, Projector อุปกรณ์ที่ทำให้พื้นผิวโต๊ะเรียบๆ สามารถเป็นเวทีให้การทำงานไฮเทคตามใจนึก และ Agent อุปกรณ์ผู้ช่วยส่วนตัวซึ่งถูกนำไปโยงว่ามีความเหมือนกับ Amazon Alexa แต่มีความอัจฉริยะ และสามารถโต้ตอบได้มากกว่า

สินค้าแนวคิดต้นแบบเหล่านี้ถูกนำไปตีความว่า โซนี่ กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สามารถหาที่ยืนในตลาดโลกอีกครั้ง ความหลากหลายของอุปกรณ์ผู้ช่วยส่วนตัวแปลว่าโซนี่หวังให้ตัวเองสามารถชนกับ Amazon หรือระบบ Siri ของแอปเปิลที่กำลังทวีความนิยมมากขึ้นในอนาคต

ย้ายมาฝั่งเกาหลี แอลจีเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ LG G5 ด้วยจุดเด่นการเป็นมือถือตัวต่อที่ผู้ใช้ถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนเพิ่มเติมได้ตามที่ต้องการ ผู้ใช้สามารถถอดเปลี่ยนส่วนล่างของตัวเครื่อง G5 ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่ และถาดใส่การ์ดหน่วยความจำ เบื้องต้น อุปกรณ์เสริมที่แอลจีเปิดตัวมาทดลองตลาดให้ผู้ใช้ถอดเปลี่ยนใส่ใน LG G5 ขณะนี้มี 2 รุ่น ได้แก่ Camera Module ตัวต่อสำหรับตากล้องที่จะทำให้ LG G5 ถูกถือจับ และควบคุมการถ่ายภาพได้สะดวกกว่าเดิม และอีกตัวต่อคือ LG HiFi+ ผลงานจากความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตชิปประมวลผลเสียง Bang & Olufsen ซึ่งจะทำให้คอเพลงสามารถฟังเสียงที่ละเอียดกว่าบน LG G5

ด้านซัมซุงนั้นเปิดตัวมือถือใหม่ Galaxy S7 คู่กับกล้อง Gear 360 ซึ่งทำให้ผู้ใช้ S7 สามารถสร้างวิดีโอเสมือนจริง 360 องศาได้ด้วย หน่วยประมวลผลของ S7 และสามารถเรียกชมภาพเสมือนจริงที่ถ่ายมา หรือ live preview ได้แบบทันใจ

นอกจากฮาร์ดแวร์แล้ว เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง VR ยังชัดเจนว่า ซัมซุงกำลังให้ความสำคัญต่อเกมมากเป็นพิเศษในมุมซอฟต์แวร์ด้วย โดยในทัชวิซ (TouchWiz) ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ซัมซุงปรับแต่งสำหรับใช้กับ Galaxy S7 มาพร้อมแหล่งรวมเกมใหม่ แถมด้วยฟีเจอร์ใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถถ่ายวิดีโอ รับสาย หรืออ่านข้อความบนหน้าต่างจิ๋วโดยที่คอเกมไม่จำเป็นต้องปิดเกม

***จับตาแบรนด์เล็กจากจีน

ในขณะที่แบรนด์ใหญ่เริ่มผันตัวสู่ตลาดใหม่ นักวิเคราะห์มองว่า “next big smartphone” หรือสมาร์ทโฟนที่ทำยอดขายถล่มทลายอาจมาจากแบรนด์จีนรายเล็กที่รู้จักกันในเฉพาะกลุ่มอย่าง TCL และ OPPO

หากไม่นับรวมแบรนด์จีนยักษ์ใหญ่อย่างหัวเว่ย (Huawei) และผู้เอาชนะซัมซุงในตลาดจีนได้สำเร็จอย่างเสี่ยวหมี่ (Xiaomi) นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในช่วงไม่กี่ปีถัดจากนี้ สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ราคาประหยัดแต่มีคุณสมบัติหรูหราจะสามารถตีตลาดยุโรปได้มากขึ้น รวมถึงตลาดเกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของซัมซุง และแอปเปิลเอง

สิ่งที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนคือ ผู้ผลิตจีนนั้นพร้อมใจออกสื่อโลกด้วยการเข้าร่วมงานประชุม MWC 2016 ครั้งนี้ที่สเปน ตัวอย่างเช่นเสี่ยวหมี่ ที่เปิดตัวสมาร์ทโฟนเซรามิก Mi 5 ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าผู้ใช้สามารถจ่ายเงินในราคาที่ประหยัดกว่า เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาร์ทโฟนที่มีคุณสมบัติเครื่องใกล้เคียงกับเรือธงของซัมซุง และแอลจี

วันนี้แบรนด์ใหญ่อย่างซัมซุงนั้นได้รับผลกระทบจากส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงในปี 2015 ที่ผ่านมา ขณะที่แอปเปิลเองก็คาดการณ์ว่า รายรับจะลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ปี ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการกำหนดราคาสมาร์ทโฟนของแบรนด์จีนขนาดเล็กที่ประเดิมมูลค่าราว 200 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาระดับ 650 เหรียญสหรัฐของไอโฟน หรือ Samsung Galaxy รุ่นไฮเอนด์

ยกตัวอย่างเช่น หัวเว่ย ราคาเฉลี่ยสมาร์ทโฟนหัวเว่ยเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าเพียง 213 เหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นแล้ว 21% จากปี 2014 เรียกว่าเป็นราคาที่ทำให้แบรนด์ใหญ่ต้องหันหนีด้วยการสร้างลูกเล่นใหม่ บุกตลาดสดซิง ก่อนจะหมดมุกสร้างคุณสมบัติสุดเลิศเพื่อตั้งราคาจำหน่ายที่แพงกว่า









กำลังโหลดความคิดเห็น