xs
xsm
sm
md
lg

YouTube Red เก็บค่าชม ใครได้ใครเสียใครเดินตาม??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลายเป็นกระแสร้อนที่ถูกพูดถึงอย่างมากเมื่อแหล่งรวมวิดีโอออนไลน์อย่าง “ยูทิวบ์ (YouTube)” จะไม่ใช่บริการรับชมฟรีทุกวิดีโออีกต่อไป เพราะวันนี้ การเปิดตัวบริการรับชมวิดีโอออนไลน์แบบจ่ายเงินรายเดือน 9.99 เหรียญสหรัฐ โดยไม่มีโฆษณาคั่นในชื่อ “ยูทิวบ์ เรด (YouTube Red)” ส่งผลหลายมุมกับผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า งานนี้ใครเป็นผู้ได้รับ หรือเสียประโยชน์ และ YouTube Red จะส่งแรงกระเพื่อมให้บริการใดปรับตัวตาม จนเกิดเป็นการปฏิวัติวงการวิดีโอออนไลน์ในอนาคต

วันนี้ วิดีโอหลายชิ้นถูกลบออกไปจนทำให้ผู้ใช้ YouTube ในสหรัฐฯ ไม่สามารถรับชมได้ ผลจากการที่ผู้สร้างวิดีโอนั้นไม่ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการ YouTube Red มาตรการที่เข้าข่าย “บังคับ” ที่เกิดขึ้นทำให้นักสังเกตการณ์ในหลายประเทศจับตามองใกล้ชิด แม้การเปิดบริการวันที่ 28 ตุลาคมนี้จะยังเป็นบริการเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ YouTube Red จะถูกขยายบริการสู่ประเทศอื่น

***ไม่ฟรี ไม่มีโฆษณา

แม้ว่าจะเป็นบริษัทที่ได้ชื่อว่ามีรายได้จากการโฆษณามากที่สุดบนโลกออนไลน์ แต่ YouTube บริษัทในเครือกูเกิล (Google) กลับตัดสินใจเปิดตัวบริการที่เปิดทางให้ผู้ใช้ปิดกั้นโฆษณาได้ด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้ผู้บริหาร YouTube ระบุว่า YouTube Red เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้ได้ชมเฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างแท้จริง

ผู้สมัครใช้บริการ YouTube Red จะไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใหม่มาใช้งานโดยเฉพาะ แต่สามารถใช้ชื่อบัญชีกูเกิลแอ็กเคานต์ในการยืนยันตัวตน และคลิกชมวิดีโอได้ตามปกติ เมื่อเสียค่าบริการ 9.99 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ผู้ใช้สามารถโหลดวิดีโอเก็บไว้เพื่อชมแบบออฟไลน์ได้ เบื้องต้นประกอบด้วยรายการอเมริกันที่หลากหลายทั้งเรียลิตีโชว์ รายการประกวดร้องเพลง ซีรีส์ รายการตลก รวมถึงวิดีโอถ่ายทอดสดเกมที่ได้รับความนิยมมากในขณะนี้

การเปิดตัว YouTube Red แสดงให้เห็นว่านี่เป็นครั้งแรกที่ YouTube จำกัดคอนเทนต์บางประเภทเอาไว้สำหรับผู้ใช้ที่สมัครสมาชิกเท่านั้นถึงจะรับชมได้ เนื่องจาก “ผู้ไม่เสียค่าสมาชิก” จะไม่สามารถรับชมคอนเทนต์พิเศษเหล่านี้

นอกจากวิดีโอ ผู้สมัครใช้งาน YouTube Red จะได้สิทธิฟังเพลงผ่านบริการกูเกิลเพลย์มิวสิก (Google Play Music) ซึ่งกูเกิลส่งมาแข่งกับบริการอย่างสปอติไฟ (Spotify) และแอปเปิลมิวสิก (Apple Music)

ราคา 9.99 เหรียญต่อเดือนนี้ ถูกกำหนดเฉพาะผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากเดินทางออกนอกสหรัฐอเมริกา ผู้ใช้จะไม่สามารถดาวน์โหลดวิดีโอเพื่อชมแบบออฟไลน์ โดยวิดีโอจะแสดงโฆษณา และวิดีโอที่ถูกบันทึกแบบออฟไลน์ไว้ก่อนเดินทางจะยังคงใช้ได้เป็นเวลา 30 วัน จุดนี้คาดว่าจะมีการประกาศราคาสำหรับการใช้งานในประเทศอื่นเพิ่มเติมในอนาคต

นักวิเคราะห์หลายรายไม่มั่นใจว่า YouTube Red จะสามารถแจ้งเกิดในเร็ววัน เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนทัศนคติของแฟน YouTube ให้หันมาจ่ายเงิน เพราะที่ผ่านมา ทุกคนสามารถรับชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมาตลอด และหลายคนชาชินต่อการทนดูโฆษณา

***ใครได้ใครเสีย?

นักวิเคราะห์ฟันธงว่า ในระยะเริ่มแรก ผู้ที่ยอมเสียเงินเพื่อสมัครบริการ YouTube Red อาจมีจำนวนน้อยมาก แต่ในระยะยาว YouTube Red อาจทำให้เจ้าพ่อวิดีโอออนไลน์มีความแข็งแกร่งมากขึ้นในฐานะผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง แทนที่จะเป็นเพียงแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ฟรีอย่างที่เป็นอยู่

นอกจากความแข็งแกร่งในตลาดวิดีโอสตรีมมิ่ง กูเกิลยังถูกมองว่า แจ้งเกิด YouTube Red เพราะความนิยมในการใช้เทคโนโลยีปิดกั้นโฆษณาที่ขยายตัวชัดเจน ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า ผู้ใช้ขี้รำคาญที่ติดตั้งโปรแกรมปิดกั้นโฆษณาออนไลน์ในเครื่องมีจำนวนมากกว่า 180 ล้านรายทั่วโลก โดย 45 ล้านรายเป็นผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน แอปพลิเคชันปิดกั้นโฆษณาออนไลน์กลายเป็นแอปพลิเคชันยอดนิยมในกลุ่มผู้ใช้อุปกรณ์ไอทีพกพา ซึ่งแม้แอปพลิเคชันเหล่านี้จะยังใช้งานไม่ได้กับโฆษณาบนวิดีโอออนไลน์ แต่นักวิเคราะห์ เชื่อว่า นักพัฒนาทั่วโลกจะพยายามหาทางเพื่อตอบความต้องการของผู้ใช้ในตลาด

การเปิดตัว YouTube Red จะทำให้ YouTube และเจ้าของวิดีโอมีรายได้ในรูปแบบที่ต่างไป โดยจากเดิมที่รายได้จะขึ้นอยู่กับส่วนแบ่งจากค่าโฆษณาตามจำนวนการคลิกชม เจ้าของวิดีโอจะได้รับส่วนแบ่งจากค่าสมาชิกแทน จุดนี้ YouTube ระบุว่า ได้เซ็นสัญญากับผู้สร้างวิดีโอชื่อดังทั้งหลาย ซึ่ง 99% ของผู้สร้างวิดีโอล้วนขานรับ และยินดีเข้าร่วมโครงการ YouTube Red เรียบร้อย

แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา “อีเอสพีเอ็น (ESPN)” ช่องกีฬารายใหญ่ของสหรัฐฯ ลงมือถอดวิดีโอทั้งหมดออกจาก YouTube เนื่องจากบริษัทไม่ได้เข้าร่วมโครงการ YouTube Red (ไม่ระบุเหตุผล) จุดนี้วิดีโอที่เคยเผยแพร่บน YouTube จะสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของบริษัท เบื้องต้นโฆษก YouTube ชี้แจงว่า กรณี ESPN ถอดวิดีโอทั้งหมดออกไม่ได้เกิดขึ้น เพราะไม่สามารถตกลงส่วนแบ่งรายได้ แต่สาเหตุมาจากลิขสิทธิ์กีฬาที่ ESPN บริหารอยู่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของ YouTube Red

การถอดวิดีโอของ ESPN ถือเป็นข่าวใหญ่เนื่องจากสถานีกีฬาอเมริกันนี้มีผู้ติดตามบน YouTube มากกว่า 1.6 ล้านคน ถือเป็นสถิติสมาชิกที่สูงมากเมื่อเทียบกับผู้สร้างวิดีโอรายอื่นบน YouTube ที่มักมีหลักหมื่น หรือพันคน

คำอธิบายของโฆษก YouTube สวนทางกับรายงานที่สื่ออเมริกันชี้ว่า ผู้สร้างวิดีโอกำลังถูกบีบให้เซ็นสัญญาร่วมโครงการ YouTube Red ทุกคน เพราะรายที่ไม่ยอมเซ็นสัญญาเพื่อรับส่วนแบ่งรายได้จากค่าสมาชิก วิดีโอของผู้สร้างรายนั้นจะถูกซ่อนจนทำให้ผู้ชมไม่สามารถเปิดชมได้ โดยทั้งหมดไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาว่า แบ่งรายได้กันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัว YouTube Red ยังคงถูกมองว่าเป็นการดึงดูดผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ให้เข้าหาแพลตฟอร์ม YouTube มากขึ้น เพราะจะมีรายได้จากเงินค่าสมาชิกเพิ่มเติม นอกเหนือจากรายได้ค่าโฆษณา

***ชาวเน็ตไม่ปลื้ม?

ในขณะที่ตลาดวิดีโอออนไลน์กำลังถูกปฏิวัติโดย YouTube Red แต่ชาวเน็ตในสหรัฐฯ บางรายกลับมีทัศนคติแง่ลบต่อบริการนี้ โดยแสดงความเห็นว่าชื่อ YouTube Red นั้นดูน่ากลัวจนถูกล้อว่า “YouTube เลือด” ขณะเดียวกันก็มองว่า ผู้ทำเงินจากธุรกิจวิดีโอออนไลน์ก็จะสามารถทำเงินได้มากขึ้นอีก และที่สำคัญคือ ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า YouTube Red จะมีผลต่อคอนเทนต์ชมฟรีอีก 99% บน YouTube อย่างไร

YouTube Red ถูกมองว่าเป็นอีกสงครามเงียบที่กำลังคุกรุ่นบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยท้ายที่สุดแล้ว ผู้ชนะในศึกนี้ย่อมมีฝ่ายเดียว

บริษัทที่ถูกจับเป็นคู่แข่งของ YouTube Red คือ บริการสตรีมมิ่งวิดีโอ ที่มีวิดีโอเอ็กซคลูซีฟของตัวเอง เช่นบริการเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่มีซีรีส์ “เฮาส์ออฟคาร์ดส (House of Cards)” หรือ แอมะซอน (Amazon) ที่มีซีรีส์ “ทรานสพาเรนต์ (Transparent)” โดยหากมองในตลาดบริการวิดีโอออนไลน์ที่มีการเก็บค่าสมาชิก เจ้าพ่อในแดนลุงแซมอย่างฮูลู (Hulu) ยังต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปีในการสะสมสมาชิกบริการกว่า 9 ล้านราย ขณะที่ Netflix เองก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะสร้างฐานตลาดได้เหนือกว่า Hulu ในปัจจุบัน

สำหรับ YouTube Red นักวิเคราะห์ เชื่อว่า ผู้บริหารกูเกิลมีความมั่นใจใน YouTube Red เรื่องการส่งแรงกระเพื่อมแง่บวกต่อธุรกิจวิดีโอออนไลน์ เนื่องจากกูเกิลในวันนี้ไม่ใช่บริษัทที่ลุยทดลองเปิดบริการใหม่แบบโยนหินถามทางอย่างที่ผ่านมา ซึ่งมักปิดบริการทิ้งไปอย่างไม่ใยดีในเวลาข้ามปี
กำลังโหลดความคิดเห็น