เปิดปมแก้สัญญามือถือเอไอเอส เรื่องร้อนของ รมว.ไอซีที ป้ายแดงเกือบทุกคน ที่เมื่อรับตำแหน่งก็มักเกิดกระบวนการฟื้นฝอยหาตะเข็บ ไล่มาหลายยุคหลายสมัย จนสัมปทานใกล้สิ้นสุดใน 30 ก.ย.58 หลัง รมว.ไอซีทีนำเรื่องการเพิกถอนการแก้สัญญาครั้งที่ 6 (พรีเพด) และครั้งที่ 7 (โรมมิ่ง) เข้า ครม.โดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา สั่งการให้กระทรวงไอซีทีไปกำกับเร่งรัดให้บริษัท ทีโอที ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา และมติ ป.ป.ช.
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. เอไอเอสทำหนังสือถึง รมว.ไอซีที ขอความเป็นธรรม ร่ายยาวข้อเท็จจริงของการแก้สัญญาว่า ไม่ได้ละเมิดกฎหมาย ไม่ได้เอาเปรียบรัฐ ไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่เกี่ยวกับกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยต่ออดีตผู้บริหารทีโอทีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาฯ ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 ยันหาก ครม.ให้เพิกถอนการแก้สัญญาทั้ง 2 ครั้ง ให้กลับไปใช้สัญญาหลักก็พร้อมจ่ายส่วนแบ่งรัฐตามอายุสัญญาที่เหลืออยู่ ไม่ใช่ตามตัวเลขเพ้อฝัน 7 หมื่นกว่าล้านบาทที่เรียกร้องมา
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ได้ส่งหนังสือขอความเป็นธรรมต่อกรณีการทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยัง รมว.ไอซีที หลังจากที่กระทรวงไอซีทีอยู่ระหว่างการนำเสนอให้ ครม. พิจารณาเพิกถอนการทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 ระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับเอไอเอส โดยนำคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยต่ออดีตผู้บริหารทีโอที ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาฯ ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 มาเป็นเหตุผลในการเพิกถอนข้อตกลงต่อท้ายสัญญาฯ ทั้ง 2 ฉบับ
โดยการแก้สัญญาครั้งที่ 6 มีการปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากระบบบัตรเติมเงิน (พรีเพด) ให้เหลือ 20% ตลอดอายุสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จากเดิมที่ต้องจ่ายแบบขั้นบันไดสูงสุดที่ 35% และครั้งที่ 7 คือ เอไอเอสสามารถเข้าไปใช้เครือข่ายร่วม (โรมมิ่ง) กับผู้ประกอบการรายอื่น โดยเอไอเอสจะได้สิทธิในการหักค่าใช้เครือข่ายร่วม (โรมมิ่ง) ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการรายนั้น ก่อนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอที ซึ่งในครั้งนั้นเอไอเอสได้ใช้โครงข่ายร่วมของบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี)
“เอกชนขอความเป็นธรรมมาโดยชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คิดไปเองเหมือนที่บางคนคิด แม้กระทั่งจะให้จ่ายค่าเสียหายย้อนหลัง 7 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งในมุมของเอกชน หาก ครม.เห็นว่าต้องเพิกถอนการแก้สัญญาทั้ง 2 ครั้ง ให้ย้อนกลับไปใช้สัญญาหลักแทนก็ขอให้คิดในส่วนของอายุสัญญาเหลืออยู่ก็พอที่จะรับได้ แต่การนำผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาคิดบัญญัติไตรยางค์ย้อนหลังไป 10 กว่าปีเป็นอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก”
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ครม. ไม่ได้มีมติอะไรเกี่ยวกับตัวสัญญาเลย ไม่ว่าจะเป็นการแก้สัญญาทั้ง 2 ครั้งผิดกฎหมาย ต้องยกเลิกให้กลับไปใช้สัญญาเดิม หรือเห็นชอบกับสัญญา เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ แต่กลับระบุว่า ให้ทีโอทีไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา และมติ ป.ป.ช.ซึ่งในสมัย ครม. ประชาธิปัตย์ ในช่วงเดือน ก.พ.2554 การเมืองได้สั่งการให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติให้ทีโอทีฟ้องเอไอเอสอย่างมีเงื่อนงำจนนำมาสู่การลาออกของบอร์ดบางคน (http://www.manager.co.th/Telecom/ViewNews.aspx?NewsID=9540000024212)
ทั้งนี้ หนังสือขอความเป็นธรรมของเอไอเอส ได้ชี้แจงถึงความจริงอีกด้านของเหรียญเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนในฐานะคู่สัญญากับทีโอที ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อคำพิพากษาศาลฎีกา และการดำเนินการของ ป.ป.ช แต่กลับต้องได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า
***แก้ไขสัญญาตามกฎหมาย
1.การจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาระหว่างเอไอเอส กับทีโอที เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ในขณะนั้น และผ่านการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ซึ่งคู่สัญญาต่างได้ปฏิบัติตามข้อสัญญามาโดยตลอดด้วยดี โดยการแก้ไขสัญญาแต่ละครั้งได้ผ่านการพิจารณา และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานภายในของทีโอที ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการบริษัท ฝ่ายการเงิน และงบประมาณ ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ สำนักกฎหมาย และคณะกรรมการกลั่นกรองของทีโอที ตลอดจนหน่วยงานภายนอกอย่างสำนักงานอัยการสูงสุด และที่ปรึกษากฎหมายของทีโอที
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่า ทีโอทีไม่ได้รับความเสียหาย หรือเสียประโยชน์จากการแก้สัญญาได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของทีโอที ซึ่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2550 โดยมี พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ เป็นประธาน ซึ่งให้ความเห็นสรุปว่า การทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาไม่มีพฤติการณ์อันส่อเจตนาหลีกเลี่ยงการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2535 มีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ และไม่ปรากฏความเสียหายแก่ทีโอทีแต่อย่างใด
ส่วนกรณีอ้างคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาตามเรื่องเสร็จที่ 291/2550 ที่ว่า การแก้ไขสัญญาไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.2535 เพราะไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 และไม่ได้เสนอให้ ครม.เห็นชอบนั้น แตกต่างจากคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายที่วินิจฉัยตามเรื่องเสร็จที่ 291/2536 ที่ไม่ได้บัญญัติถึงขั้นตอนการแก้สัญญาไว้ว่า ต้องดำเนินการอย่างไร เพียงแต่บอกไว้ชัดเจนว่า โครงการซึ่งได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.2535 ใช้บังคับ และคงมีผลอยู่หลังจากนั้น คณะกรรมการตามมาตรา 22 คงมีอำนาจแต่เพียงการดำเนินการตามขั้นตอนการกำกับดูแล และติดตามผลให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา และรายงานผลการดำเนินงาน ความคืบหน้า ปัญหา และอุปสรรค และแนวทางแก้ไขต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อทราบตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.2535
ทั้งนี้ ความเห็นของกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 291/2536 ไม่ได้กำหนดขั้นตอน หรือวางแนวทางการปฏิบัติใดๆ ว่า หากมีการแก้สัญญาจะต้องมีการดำเนินการตามที่กฤษฎีกาวินิจฉัยไว้ในเรื่องเสร็จที่ 291/2550 แต่อย่างใด และเอไอเอสเห็นว่า หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน รวมทั้งทีโอทีก็ได้ใช้คำวินิจฉัยของกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 291/2536 เป็นแนวทางในการแก้สัญญามาโดยตลอด ดังนั้น การใช้แนวคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นในปี 2550 มาวินิจฉัยย้อนหลังต่อการกระทำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 จึงไม่สมเหตุผล ซึ่งหากพิจารณาแนวปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 291/2536 จะเห็นได้ชัดว่าเอไอเอส และทีโอทีปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องทุกประการ
*** ผลประโยชน์ประชาชน/ภาครัฐมากมาย
2.การแก้สัญญาครั้งที่ 6 และ 7 ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ และต่อรัฐมากมาย กล่าวคือ ในขณะนั้นบริการพรีเพดยังไม่แพร่หลายเพราะมีต้นทุนให้บริการสูง การปรับลดส่วนแบ่งรายได้เริ่มจากบริการของดีแทคก่อน ด้วยการที่บอร์ดทีโอทีปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้ดีแทค จากเรียกเก็บเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือน เปลี่ยนเป็นเรียกเก็บ 18% ของมูลค่าหน้าบัตรรวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำหน่ายในแต่ละเดือน นอกจากนั้น กสท โทรคมนาคม ยังปรับลดส่วนแบ่งรายได้ที่ดีแทคต้องจ่าย โดยสรุปแล้ว ดีแทคได้รับการลดส่วนแบ่งรายได้ 5% เป็นระยะเวลา 15 ปี จากระยะเวลาตามสัญญาทั้งหมด 27 ปี ส่วนทรูมูฟ ได้รับการลดส่วนแบ่งรายได้ลง 5% เป็นเวลา 10 ปี จากอายุสัญญา 17 ปี
การปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำให้บริการพรีเพดของเอไอเอส ในชื่อวัน-ทู-คอล ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ทีโอทีปรับลดส่วนแบ่งรายได้ให้บริการพรีเพดเอไอเอสเป็น 20% ของมูลค่าหน้าบัตรรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และกำหนดให้ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้เป็นรายเดือนแทนการจ่ายเป็นปี และกำหนดให้ต้องลดค่าบริการในระบบพรีเพดตามอัตรา และในระยะเวลาที่กำหนด
“การปรับลดส่วนแบ่งรายได้ การลดค่าบริการ ทำให้เกิดการใช้บริการอย่างรวดเร็วจาก 2 ล้านเลขหมายในปี 2544 เป็นกว่า 23 ล้านเลขหมายในปี 2556 รวมทั้งทีโอทีเองก็ได้รับเงินส่วนแบ่งรายได้ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันมากถึง 122,906 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีการปรับลดส่วนแบ่งรายได้ให้เหมาะสมทั้งอุตสาหกรรม ก็จะไม่เกิดการใช้บริการมากมายขนาดนี้”
ส่วนการแก้สัญญาครั้งที่ 7 เรื่อง โรมมิ่ง ตามหลักการโรมมิ่ง คือ การที่เจ้าของโครงข่ายรายหนึ่งยินยอมให้อีกโครงข่ายหนึ่งเข้าไปใช้งานโครงข่ายตนเองได้ โดยเอไอเอสได้มีหนังสือเสนอทีโอทีเพื่อขอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์รายอื่นเข้ามาใช้โครงข่ายบริษัท ขณะเดียวกัน ขอให้บริษัทสามารถเข้าไปใช้เครือข่ายร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 25 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 หลังจากนั้นทีโอทีจึงพิจารณาเห็นชอบ
ตามหลักปฏิบัติสากลของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั่วโลก เมื่อผู้ให้บริการรายใดเข้าไปใช้เครือข่ายร่วมของผู้ให้บริการอีกรายหนึ่ง รายได้ค่าใช้บริการที่เรียกเก็บจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้แก่ผู้อนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นรายได้ของผู้ให้บริการ และนำมาคำนวณเป็นส่วนแบ่งรายได้ให้คู่สัญญาภาครัฐต่อไป ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับบริการข้ามแดนอัตโนมัติ หรือ international roaming คือ เมื่อมีผู้ใช้บริการในประเทศไทยไปใช้บริการต่างประเทศ ผู้ให้บริการในไทยต้องชำระค่าใช้เครือข่ายให้แก่ผู้ให้บริการในต่างประเทศก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะเป็นรายได้ที่นำมาคำนวณจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอที เอไอเอสจึงใช้หลักการนี้สำหรับบริการเครือข่ายร่วมในประเทศด้วย
3.กรณีอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทนั้น กระทรวงไอซีที ได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดย มี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย เป็นประธาน และได้รายงานความเห็นต่อ รมว.ไอซีที เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2553 ว่า การจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 เป็นการสร้างสินค้าตัวใหม่ในการให้บริการ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนที่มีรายได้น้อย ดังนั้น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยคาดหมายว่าสินค้าตัวใหม่นี้จะมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก แม้อัตราส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐจะน้อยลง แต่ผลรวมของรายรับของรัฐน่าจะมากขึ้น และจากผลประกอบการของทีโอที พบว่า ตั้งแต่ดำเนินกิจการ รัฐได้รับส่วนแบ่งเฉพาะพรีเพดสูงถึง 430,015.93 ล้านบาท และขณะที่โพสต์เพดมีรายได้เพียง 250,956.78 ล้านบาท จึงเห็นว่าความเสียหายที่รัฐได้รับจากการลดค่าส่วนแบ่งสัมปทานยังมิอาจคำนวณได้เป็นตัวเลขแท้จริง เพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่า หากคิดอัตราส่วนแบ่งตามสัญญาสัมปทานเดิมแล้ว รายรับก่อนนำมาคิดส่วนแบ่งตามสัญญาสัมปทานจะมีจำนวนเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือไม่
*** ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเฉพาะตัว
4.กรณี ป.ป.ช.มีมติว่า อดีตผู้บริหารทีโอที ที่เกี่ยวข้องต่อการแก้สัญญาครั้งที่ 6 และ 7 มีความผิดทางวินัย และอาญานั้น หากการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยุติว่า พนักงานรัฐทำความผิดจริงก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวผู้นั้นจะต้องรับผิด และถูกลงโทษตามกฎหมายกำหนด ซึ่งบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการกระทำผิดวินัย และอาญาแต่อย่างใด การที่จะนำผลการพิจารณาชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.มาสรุปว่า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทีโอทีเพื่อมายกเลิกข้อตกลงต่อท้ายทั้ง 2 ฉบับ จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง อีกทั้งการดำเนินคดีอาญาต่ออดีตผู้บริหารทีโอที ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 กระทำผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหาจริง
***แก้สัญญาทั้งอุตสาหกรรม
5.สัญญาอนุญาตให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายอื่นอย่างดีแทค กับ กสท โทรคมนาคม ก็มีการแก้ไขโดยปรับลดส่วนแบ่งรายได้ของปีดำเนินการที่ 6 ถึง ปีที่ 15 (ระยะเวลา 10 ปี) จาก 25% เป็น 20% ของรายได้จากการให้บริการทุกประเภท โดยการแก้สัญญาดังกล่าวก็ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กระทรวงไอซีทีก็ควรจะพิจารณาเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติที่จะหยิบเฉพาะกรณีของบริษัทมาพิจารณา
“ใครๆ ก็แก้สัญญาทั้งนั้น กรณีเอไอเอสก็ทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ผลประโยชน์ก็ตกแก่รัฐ และประชาชน ส่วนกรณีคำพิพากษาของศาล หรือการชี้มูลของ ป.ป.ช.ก็เป็นความผิดเฉพาะตัวไม่เกี่ยวกับบริษัท ส่วนการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมการงาน มองว่า เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่หน้าที่ หรือเป็นความผิดของเอกชนคู่สัญญา หากมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รัฐต้องเรียกร้องเอาต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้ดำเนินการเช่นนั้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานของรัฐ จะทำให้เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอกไม่ได้ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อคู่สัญญาภาคเอกชน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้”