ความท้าทายใหม่ของยุคหลัง 3Gคือการสร้างคอนเทนต์คุณภาพสูงเข้ามาตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คน และบริการแอปดูหนังพร้อมวิดีโอออนดีมานด์ก็เป็นหนึ่งในบริการที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 400 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้น ขณะที่มูลค่าที่แท้จริงยังสามารถเติบโตได้ไม่ใช่แค่ตามจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ที่เปิดใช้บริการมากกว่า 96 ล้านเลขหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์สมาร์ทที่มีจอภาพและสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกชนิดอีกด้วย
*** ใครเป็นใครในตลาดแอปดูหนัง
รายแรกที่เริ่มทำตลาดอย่างจริงจังก็คงหนีไม่พ้นค่าย Hollywood HD ที่เริ่มต้นจากทีมพัฒนาไทย ซึ่งต่อยอดมาจากความสำเร็จของการอยู่เบื้องหลังการถ่ายทอดสดพรีเมียลีกส์ผ่านมือถือของค่ายเอไอเอส และเริ่มหันมาสนใจการสร้างวิดีโอออนดีมานด์อย่างเต็มที่ โดยเดินทางเจรจราเพื่อเลือกภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเข้าสู่โปรแกรมการรับชม แต่ผู้ให้บริการรายนี้ก็ยังคงไม่สามารถลดราคาลงมาเพื่อให้เกิดการใช้งานในวงกว้างได้ แม้ว่าจะมีการจับมือกับผู้ผลิตสมาร์ททีวีเพื่อเสนอแคมเปญพ่วงข้างแล้วก็ตาม โดยราคาค่าดูเริ่มต้นที่ 199 บาทต่อเดือน ซึ่งมีบางรายการที่จะต้องจ่ายเพิ่มหากต้องการจะเลือกดูเพิ่มเติม
โดยภาพยนตร์ทั้งหมดในระบบมีให้เลือกชมกว่า 300 เรื่อง ซึ่งเป็นหนังดังจากฮอลลีวู้ด และไทยเป็นหลัก คุณภาพของการดูเป็นมาตรฐานความชัดระดับ HD เหมาะสำหรับการดูผ่านอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ที่รองรับ ซึ่งข้อจำกัดของค่ายนี้น่าจะเป็นที่จำนวนของหนังที่น้อย ตลอดจนรูปแบบการชำระเงินและการจ่ายเพิ่มเติมสำหรับชมภาพยนตร์บางเรื่อง และไม่มีข้อได้เปรียบเรื่องการเจรจาลิขสิทธิ์หนังแต่อย่างใด
ฮุค (Hooq) นับเป็นรายใหญ่ที่เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง 3 ยักษ์ใหญ่ด้านความบันเทิงและเครือข่ายของ SingTel, Warner Bros. และ Sony Pictures เพื่อพัฒนาและต่อยอดการให้บริการวิดีโอออนดีมานด์ในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการนำเสนอภาพยนตร์จากค่ายหนังดังทั่วเอเชียและหนังดังฮออลีวู้ดระดับคุณภาพ บล็อกบัสเตอร์ ตลอดจนหนังไทยระดับพรีเมียมที่พร้อมเสิร์ฟด้วยจำนวนหนังกว่า 10,000 เรื่อง มีให้ชมตลอด 30,000 ชั่วโมง
อนุรัตน์ รัตนวิภาส ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฮุค จำกัด เปิดเผยว่า จุดเด่นของฮุคอยู่ที่คุณภาพของภาพยนตร์ระดับพรีเมียมจากค่ายฮอลลีวู้ดที่นับว่ามีความรวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับค่ายอื่นๆในการเข้าโปรแกรมวิดีโอออนด์ดีมานด์หลังฉายในโรงภาพยนตร์ราว 6 เดือน รวมไปถึงภาพยนตร์ในตำนานจากบล็อกบัสเตอร์ ตลอดจนซีรี่ส์ดังที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ อีกทั้งยังมีภาพยนตร์ไทยที่ได้รับความนิยมเข้ามาเป็นพันธมิตร รวมไปถึงราคาค่าชมที่ไม่มีแอบแฝงต่อเดือนเพียงแค่ 119 บาทเท่านั้น
ขณะที่ฟีเจอร์ของการใช้งานแอปพลิเคชันฮุค จะสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งแบบออนไลน์จะสามารถปรับคุณภาพความคมชัดได้ตามประสิทธิภาพเครือข่ายโดยอัตโนมัติ ช่วยให้การชมภาพยนตร์ไม่สะดุดหรือขาดตอน และยังสามารถดูได้จากอุปกรณ์ 5 เครื่องต่อ 1 บัญชีผู้ใช้ ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการชมภาพยนตร์มากขึ้น และที่สำคัญการชำระเงินของฮุค สามารถเลือกชำระรวมบิลค่าโทรศัพท์เลขหมายเอไอเอส หรือชำระผ่านบัตรเครดิตได้อย่างสะดวก ซึ่งล่าสุดก็ได้มีแคมเปญร่วมกับเอไอเอสในการให้บริการชมภาพยนตร์ออนดีมานด์ผ่านมือถือด้วยแอปพลิเคชัน ฮุค โดยสามารถทดลองใช้ฟรี 30 วันหากใช้บริการเอไอเอส
“ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การเข้ามาทำตลาดในปีแรกจึงเป็นเพียงการสร้างการรับรู้เพื่อให้ทราบและเข้าใจในบริการที่ฮุคมีทั้งหมด ตลอดจนทดลองใช้บริการเพื่อให้เกิดความเคยชิน และกลายเป็นความต้องการใช้งานในอนาคตต่อไป ซึ่งงบการตลาดในปีแรกมีการตั้งไว้ที่ 50 ล้านบาท เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด โดยเชื่อว่าตลาดออนดีมานด์จะสามารถเติบโตได้ และมองอีกมุมจะเป็นการช่วยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ได้อีกทางหนึ่ง จากการที่ผู้บริโภคมีทางเลือกที่เหมาะสมในราคาที่สมเหตุสมผลนั่นเอง” อนุรัตน์ กล่าวเสริม
สุดท้ายรายล่าสุดที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยก็คือ iflix ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มของ Catcha Group ที่มีบริการออนไลน์ในไทยอย่าง One2Car และ Ensogo ด้วยการชูจุดแข็งด้านการจับมือกับค่ายสตูดิโอดังกว่า 35 แห่ง โดยมีภาพยนตร์และซีรี่ส์ดังให้รับชมกว่า 10,000 เรื่อง รองรับการใช้งาน 1 บัญชีต่อ 5 อุปกรณ์ ด้วยราคาเหมาจ่ายไม่มีแอบแฝงเพียงแค่ 100 บาทต่อเดือน โดยสามารถชำระค่าบริการด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น
iflixอาจมีข้อจำกัดที่ความคมชัดของภาพยนตร์ยังไม่เทียบเท่า HD และที่สำคัญไม่สามารถชมแบบออฟไลน์ได้ ทำให้เมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียรอาจจะเกิดปัญหาระหว่างรับชม แต่กระนั้น iflix ก็ได้รับความนิยมในแถบเอเชียด้วยความรวดเร็วของการนำซีรี่ส์ดังเข้าโปรแกรมได้อย่างรวดเร็ว
*** ตลาดหอมหวน กำลังซื้อมีจริงหากทำได้
ข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ระบุในรายงานพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยว่า สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานสูงสุด ตลอดเวลา และมือถือกลายเป็นปัจจัยที่5 ในสังคมไทย โดยเฉลี่ยการใช้งานทั้งสมาร์ทโฟน พีซี แล็บท้อปและแท็บเล็ต มีการใช้งานต่อวันนานกว่า 5 ชั่วโมง และการดูโทรทัศน์ ภาพยนตร์และฟังวิทยุออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ก็มีสัดส่วนสูงถึง 42.3% มากกว่าการดูผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสัดส่วน 38.9% โดยสัดส่วนการซื้อบริการด้านความบันเทิงมีมากถึง 12% ซึ่งกว่า 45.3% เลือกซื้อบริการด้านความบันเทิงด้วยราคาไม่เกิน 1,000 บาท บนความถี่ 2.9 ครั้งในรอบ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ซึ่งชัดเจนว่าศักยภาพในการซื้อมีจริงในตลาด
และหากมองภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปี 2557 ทั้งไทยและเทศซึ่งมีมูลค่าทั้งอุตสาหกรรมรวมกว่า 4,200 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด74% ภาพยนตร์ไทย 25% และภาพยนตร์อื่นๆ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อีกประมาณ 1 % สะท้อนให้เห็นขนาดของตลาดที่ใหญ่พอตัว โดยมีการคาดการณ์จากวงการภาพยนตร์ว่าในปี 2558 มูลค่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะมีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และที่สำคัญมูลค่าของการดูในระบบเพย์ทีวีมีสัดส่วนอยู่เพียงแค่ 10% เท่านั้น นับว่าประเทศไทยยังมีโอกาสของตลาดที่น่าลงทุนเป็นอย่างมาก
*** ข้อจำกัดสูงลิ่ว
ความท้ายทายใหม่ของวงการภาพยนตร์ที่จะเริ่มสอดแทรกเข้ามาอยู่ในสมาร์ทโฟน ซึ่งมีผู้ใช้งานทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 250 ล้านเครื่องนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากแต่ความเร็วของระบบเครือข่ายต่างหากที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าการชมภาพยนตร์บนอุปกรณ์สมาร์ทจะเดินทางต่อไปได้หรือไม่อย่างไร ขณะที่ประเทศไทยแม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ยุค 3G มาได้หลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความเร็วในการสื่อสารให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ด้วยข้อจำกัดด้านปริมาณความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย หรือแม้กระทั่งการกำหนดราคาที่เพดานความเร็วสูงสุด (FUP) โดยเมื่อใช้ความเร็วตามปริมาณข้อมูลที่กำหนดระดับความเร็วก็จะลดลง เหล่านี้น่าจะเป็นกำแพงกั้นชั้นดีที่ทำให้บริการคอนเทนต์ขนาดใหญ่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
และด้วยข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของการสร้างระบบวิดีโอออนดีมานด์ นั่นหมายถึงสถานที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้บริการเนื้อหานั้นล้วนอยู่ในต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ซึ่งผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศรู้ดีอยู่แล้วว่าการดึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศนั้นมีความเร็วน้อยกว่าในประเทศอย่างแน่นอน และท้ายที่สุดเมื่อมีการเรียกใช้บริการคอนเทนต์ขนาดใหญ่จำนวนมากจากผู้ใช้บริการทั้งประเทศก็จะกลายเป็นข้อมูลก้อนใหญ่ที่กระจุกตัวอยู่ที่โหนดการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ และทำให้ไม่สามารถใช้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่ผู้ให้บริการตั้งใจ และส่งผลให้ผู้ใช้บริการเบื่อหน่ายกับความเร็วของสัญญาณที่จะกระทบต่อคุณภาพความคมชัดของภาพยนตร์ และท้ายที่สุดก็จะหันหลังกลับไปละเมิดลิขสิทธิ์เช่นเดิม
ทั้งนี้ทั้งนั้นการแข่งขันอย่างจริงจังของทั้ง 3 ค่าย ต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันโดยฮุค มีจุดเด่นในการดึงภาพยนตร์ใหม่เข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากค่ายหนังเป็นผู้ร่วมขันลงทุน อีกทั้งรองรับการใช้งานทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ช่วยให้รองรับการใช้งานได้ในพื้นที่ที่สัญญาณไม่ครอบคลุม ขณะที่ iflix มีจุดเด่นที่ซีรี่ส์ใหม่เข้าสู่ระบบเร็วกว่าด้วยราคาที่ถูกกว่า และ Hollywood HD ก็มีจุดเด่นที่มีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ที่ไทยช่วยให้การใช้งานมีความเสถียรมากกว่า แต่ใครจะสามารถตอบโจทย์สังคมไทยได้มากกว่ากันคงต้องรอดูต่อไป