ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เวอร์ชันใหม่ “วินโดวส์ 10” ถูกเปิดตัวพร้อมให้ซื้อและอัปเกรดอย่างเป็นทางการแล้วในวันพุธที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีคุณสมบัติใหม่มากมาย แต่นักสังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยออกมาแนะนำให้ผู้ใช้อย่าเพิ่งอัปเกรดในขณะนี้ โดยเปิดเผยข้อบกพร่องที่อาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือนกว่าจะแก้ปัญหาได้
เสียงวิจารณ์เหล่านี้ระบุว่า วินโดวส์ 10 ดูเหมือนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังพัฒนาไม่เสร็จดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือส่วนตั้งค่าหรือ Settings และ Control Panel นั้นให้คุณสมบัติคล้ายกัน จุดนี้ไมโครซอฟท์เผยว่ามีแผนจะรวม 2 ฟังก์ชันนี้เข้าด้วยกัน แต่ก็ยังไม่มีการรวมกันในขณะนี้ ทำให้ดูแปลกมากเมื่อทั้ง 2 ฟังก์ชันเปิดให้บริการพร้อมกันบนวินโดวส์ 10
ขณะเดียวกัน ความไม่ลื่นไหลยังปรากฏในส่วนเมนู แม้ว่าพื้นหลังและรูปแบบการจัดเรียงเมนูจะเปลี่ยนไปตามแอปพลิเคชันที่เปิดใช้งานสลับกัน แต่การทดสอบพบว่าการเปลี่ยนสลับยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
วินโดวส์ 10 ยังมีปัญหาในเชิงความเสถียรของระบบ โดยผู้ใช้บางส่วนพบปัญหาการทำงานในส่วนควบคุมหรือ Action Center เช่น ไอคอนควบคุมระดับเสียง และส่วนแจ้งเตือนหรือ notification ของบางแอปพลิเคชันกลับไม่สามารถทำงานได้
อีกจุดที่สำคัญคือข้อกังวลเรื่องความเข้ากันได้หรือ compatibility ของวินโดวส์ 10 กับเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานกับ Windows 7 หรือ Windows 8 ได้ดี อาจไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสามารถทำงานกับระบบปฎิบัติการใหม่ได้ 100% จุดนี้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมหรือเครื่องมือตรวจสอบความเข้ากันได้เพื่อให้มั่นใจว่าฮาร์ดแวร์พร้อมต่อการอัปเกรดแล้ว หรือยังต้องรอให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์นั้นพัฒนาไดร์ฟเวอร์ที่รองรับระบบปฏิบัติการใหม่เสียก่อน
ปัญหาการเข้ากันได้นี้ไม่จำกัดเฉพาะบนฮาร์ดแวร์ แต่แอปพลิเคชันบางค่ายอาจไม่ทำงานบนวินโดวส์ 10 ตัวอย่างเช่นโปรแกรมแต่งภาพ “โฟโต้ช็อป (Adobe Photoshop)” ผู้ใช้โปรแกรมเวอร์ชันเก่าจะต้องชลอการอัปเกรดไปก่อนเนื่องจากการเปิดไฟล์งานเก่าจะต้องทำบนแอปพลิเคชันเวอร์ชันดั้งเดิม
นอกจากนี้ ผู้ใช้วินโดวส์เวอร์ชันเก่าอย่าง Windows 7 จะพบว่าบางคุณสมบัติหายไปในวินโดวส์เวอร์ชันใหม่ โดยโปรแกรมจิ๋วบนหน้าจอหรือ “วิดเจ็ต (widget)” และโปรแกรมเล่นมัลติมีเดีย “วินโดวส์มีเดียเซ็นเตอร์ (Windows Media Center)” จะไม่มีแล้วในวินโดวส์ 10
หากไม่มีการตั้งค่าเพิ่มเติม (default ของระบบ) ไมโครซอฟท์จะไม่เปิดให้ผู้ใช้เวอร์ชันโฮม (Windows 10 Home) เลือกเวลาและการติดตั้งอัปเดทด้วยตัวเอง จุดนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าผู้ใช้บางส่วนอาจได้รับผลกระทบจากการบังคับอัปเดทวินโดวส์อัตโนมัติทั้งในแง่พื้นที่หน่วยความจำที่เสียไป หรือพบกับปัญหาการใช้งานแอปพลิเคชันทั้งที่เวอร์ชันเก่าสามารถทำงานได้ดีอยู่แล้ว
ทั้งหมดทั้งมวล หากผู้ใช้มองว่าไม่ใช่ปัญหา ก็สามารถก้าวกระโดดไปสู่วินโดวส์ 10 ได้เลย.