แน่นอนว่าการประกาศเข้ามาทำตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของลูกพี่ใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างเอไอเอส ย่อมทำให้ถูกจับตามองอย่างแน่นอนว่า จะสามารถเข้ามาเบียดผู้เล่นรายเดิม และกลายเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้หรือไม่
ด้วยเป้าหมายการขึ้นเป็น 1 ใน 3 ผู้นำตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตภายใน 5 ปี ของสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ทำให้เอไอเอสต้องมีการสร้างจุดต่างในการให้บริการ ส่งผลมาถึงผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ที่นอกจากจะเป็นการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสายไฟเบอร์ออปติก หรือสายเคเบิลใยแก้วแล้ว ยังถือเป็นทางผ่านในการเข้าสู่บริการโทรศัพท์แบบฟิกซ์ไลน์ และธุรกิจไอพีทีวี
แม้ว่าบริการ “AIS Fibre” อาจดูซ้ำรอยกับผู้ให้บริการรายอื่นในตลาดที่เคยเดินทิศทางนี้ อย่างกลุ่มทรูที่ปัจจุบันก็มีการให้บริการในรูปแบบดังกล่าวอยู่แล้ว จากการผสานการให้บริการอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ และทรูวิชั่นส์ เข้าด้วยกันภายใต้รูปแบบบริการแบบคอนเวอร์เจนซ์ ซึ่งแน่นอนว่า เอไอเอสก็ต้องนำจุดแข็งหลักของบริษัทอย่างการให้บริการโทรศัพท์มือถือมาบันเดิลเข้ากับบริการใหม่เพื่อสร้างแต้มต่อให้บริการนี้แน่นอน
***ย้อนอดีตบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต
ถ้ามองกลับไปในส่วนของเทคโนโลยีการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จะย้อนกลับไปราว 15 ปีที่ผ่านมา ที่เริ่มมีการนำบริการ ADSL เข้ามาให้บริการในประเทศไทย ด้วยความเร็วเริ่มต้นราว 256 Kbps - 512 Kbps ซึ่งเป็นการก้าวข้ามอินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ในความเร็ว 56 Kbps ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้งานอินเทอร์เน็ต
สิ่งที่ทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ ADSL เติบโตเป็นอย่างมากในประเทศไทย เนื่องมาจากผู้ให้บริการสามารถใช้สายโทรศัพท์เดิม มาต่อเข้ากับโมเด็มที่เป็นเราเตอร์ภายในบ้านเพื่อให้บริการได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนเดินสายใหม่ และสร้างความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ จนปัจจุบันสัดส่วนผู้ใช้งาน ADSL ในประเทศไทยสูงถึงราว 80%-90%
วินเซนต์ ดูดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอลลิปส์ โปรเจคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าเราเตอร์โมเด็มจากฝรั่งเศส ที่ปัจจุบันร่วมกับกลุ่มทรูในการให้บริการเคเบิลโมเด็ม ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตประมาณ 26 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตประมาณ 40% โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านบรอดแบนด์ ประมาณ 6 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนราว 30% และด้วยนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติก็จะทำให้ปริมาณเหล่านี้เติบโตขึ้นอีกในอนาคต
โดยสัดส่วนการใช้บริการบรอดแบนด์ในปัจจุบันจะใช้บริการของทรูราว 2.4 ล้านราย ถัดมาเป็น 3BB หรือบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รายละประมาณ 1.8 ล้านราย ส่วนในปีนี้คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บรอดแบนด์เพิ่มประมาณ 7 แสนราย และเริ่มมีลูกค้าเปลี่ยนจากเทคโนโลยี ADSL เดิม มาเป็นเทคโนโลยีใหม่อย่างเคเบิล และไฟเบอร์ราว 3 แสนราย
“ด้วยเทคโนโลยีของ ADSL ที่แม้ว่าจะพัฒนาเพิ่มมาเป็น VDSL แล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีเก่า ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องความเร็วในการรับส่งข้อมูล ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี และสายสัญญาณที่ใช้เป็นโทรศัพท์ ทำให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 15 Mbps”
วินเซนต์ ดูดา ให้ข้อมูลต่ออีกว่า ในอนาคตเชื่อว่าผู้บริโภคเดิมที่เคยใช้งาน ADSL ก็จะขยับมาเปลี่ยนเป็นใช้งานเคเบิลบรอดแบนด์ หรือไฟเบอร์บรอดแบนด์แทนอย่างแน่นอน เพราะด้วยคอนเทนต์ และปริมาณการเชื่อมต่อในแต่ละครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการความเร็วในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นไปด้วย
“จากเดิมในแต่ละครัวเรือนเมื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตไวไฟ อย่างมากก็จะมีการเชื่อมต่อเข้ามา 3-4 เครื่อง แต่ปัจจุบันถ้าลองนับทั้งสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต พีซี ยังไม่รวมกับบริการไอพีทีวีอีก ก็ทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเดิมที่เคยใช้ไม่พอแล้ว และเชื่อว่ามาตรฐานในปัจจุบันความเร็วควรเพิ่มไปอยู่ที่ 20 Mbps”
โดยในปัจจุบัน ทาง เอลลิปส์ ได้ทำสัญญากับกลุ่มทรูในการนำเคเบิลโมเด็มภายใต้แบรนด์ “เทคนิคคัลเลอร์” เข้ามาให้บริการแก่ลูกค้าที่ติดตั้ง และกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาร่วมกับทาง 3BB ซึ่งรายได้หลักของเอลลิปส์ในปัจจุบันกว่า 80% ก็มาจากการจำหน่ายเคเบิลโมเด็มดังกล่าว ส่วนทิศทางของบริษัทในอนาคตก็เตรียมพร้อมที่จะนำไฟเบอร์โมเด็มเข้ามาจำหน่ายในอนาคตต่อไป
ด้วยข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าการที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีใหม่อย่างเคเบิล และไฟเบอร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ผู้ให้บริการแต่ละรายก็จะเลือกเทคโนโลยีที่ลงทุนแล้วสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายผ่านโครงข่ายหลักที่เป็นเทคโนโลยีเดียวกันคือ ไฟเบอร์ออปติก
อย่างกลุ่มทรู ถ้ามองว่าทำไมถึงเลือกให้ความสำคัญต่อการลงทุนบรอดแบนด์ไฟเบอร์ผ่านสายเคเบิล เพราะกลุ่มทรูมีการให้บริการทรูวิชั่นส์ ที่เป็นการให้บริการเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิกอยู่แล้ว การลงทุนในเทคโนโลยี Docsis 3.0 จึงเหมือนเป็นการนำสายเคเบิลเดิมที่มีมาใช้งานได้ทันที รวมถึงถ้าต้องการขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มก็สามารถให้บริการได้ทั้งอินเทอร์เน็ต และเคเบิลทีวีในเวลาเดียวกัน
ในขณะที่ 3BB ทีโอที และเอไอเอส ไม่จำเป็นต้องยึดติดต่อการให้บริการผ่านสายเคเบิล จึงเน้นที่จะลงทุนบนไฟเบอร์ ออปติก เป็นหลัก ส่งผลให้ปัจจุบันเริ่มมีการแนะนำบริการ FTTx มากยิ่งขึ้น พร้อมไปกับผู้บริโภคเองก็มีความรู้ และความเข้าใจในเทคโนโลยีดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
ด้วยจุดเด่นของไฟเบอร์บรอดแบนด์ คือ เน้นไปที่ความเร็วในการให้บริการสูงสุดที่ 1 Gbps เร็วกว่าการให้บริการบนเคเบิลที่ปัจจุบันมีให้บริการสูงสุดที่ 100 Mbps แม้ว่าตัวเทคโนโลยี Docsis 3 จะสามารถทำความเร็วได้สูงกว่า 200 Mbps ก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ จากสภาพแวดล้อม และระยะทางในการให้บริการจากจุดกระจายสัญญาณ
แต่ก็ใช่ว่าไฟเบอร์ จะมีแต่ข้อดีเพียงอย่างเดียว เพราะสายไฟเบอร์ออปติกก็มีข้อจำกัดที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของตัวสายที่ไม่สามารถหักงอได้ รวมกับต้นทุนในการลงทุนสายไฟเบอร์ที่สูงกว่า ทำให้การขยายพื้นที่ให้บริการจะทำได้ช้ากว่าเคเบิล จึงต้องเน้นขยายไปในพื้นที่ที่มีการใช้งานสูงก่อนเป็นหลัก
อีกประการหนึ่งคือ กรณีที่มีการเชื่อมต่อไฟเบอร์ออปติกเข้าไปตามอาคาร หรือสำนักงาน จะมีข้อจำกัดในเรื่องของสายเดิมที่มีการเชื่อมโยงไว้ในอาคาร ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านไฟเบอร์ออปติกได้ จึงต้องมีการนำสายเคเบิล หรือสายโทรศัพท์มาเชื่อมต่อแยกเข้าไปในแต่ละห้องอีกที ทำให้เห็นได้ว่าอย่างเอไอเอส ก็จะมีแพกเกจพิเศษสำหรับลูกค้าที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ แยกออกมา
***ถ้าต้องติดควรเลือกอะไร
คำถามที่ตามมาหลังจากรู้จักถึงตัวเทคโนโลยีแล้ว เชื่อว่าผู้ใช้งาน ADSL ในปัจจุบันจะเริ่มมีความคิดที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้งานเคเบิล หรือไฟเบอร์มากยิ่งขึ้น เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดหลักในปัจจุบันคือ ในพื้นที่ที่ใช้งานยังไม่มีผู้ให้บริการรายใดนำบริการดังกล่าวมาถึง ดังนั้น จึงทำได้เพียงแค่รอ หรือเลือกใช้ผู้ให้บริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน
แต่ถ้ามองถึงความคุ้มค่าแล้ว ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การที่ทรูเริ่มทำแคมเปญอย่าง สุขคูณ 2 หรือ สุขคูณ 3 เข้ามา ถือเป็นการผูกมัดให้ลูกค้าใช้งานบริการภายในกลุ่มทรู เช่นเดียวกันเมื่อเอไอเอสเข้ามาให้บริการในจุดนี้ ก็จะมีบริการที่พ่วงระหว่างการใช้มือถือ กับเน็ตไฟเบอร์เข้าด้วยกันแน่นอน ดังนั้น จึงกลายเป็นว่า ถ้าจะใช้ให้คุ้มที่สุดก็เลือกผู้ให้บริการที่ใช้อยู่เดิม
เพราะแต่ละรายก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ทรูมีบริการทรูวิชั่นส์ พร้อมกับโบนัสพิเศษให้แก่ทรูมูฟ เอช 3BB ถ้าสมัครเน็ตไฟเบอร์ ก็จะให้บริการดูหนังผ่านอินเทอร์เน็ตฟรี
แต่ที่ถือว่ามาแรงในตอนนี้คงหนีไม่พ้น AIS Fibre ที่แถม AIS Playbox ให้แก่ลูกค้าด้วย
ศรัณย์ ผโลประการ (ซ้ายสุด) ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ เอไอเอส ให้ข้อมูลเสริมว่า การที่ผู้บริโภคใช้บริการ AIS Fibre นอกจากจะได้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้โทรศัพท์ฟิกซ์ไลน์ ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตทำให้เสียงมีความคมชัด (HD Voice) สูงขึ้น พร้อมกับสามารถใช้บริการไอพีทีวีจากกล่อง AIS Playbox ได้ด้วย
โดยที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในการให้บริการคอนเทนต์อยู่แล้ว อย่างการให้บริการแอปพลิเคชัน AIS Live TV ที่ร่วมกับทาง CTH ในการนำภาพยนต์ และกีฬามาให้บริการบนสมาร์ทโฟน ก็จะถูกนำไปใช้ใน AIS Playbox เช่นเดียวกัน ที่สำคัญคือ AIS Playbox ยังรองรับการให้บริการภาพยนตร์ระดับ 4K รุ่นแรกในท้องตลาด รับต่อเทคโนโลยีทางการแสดงผลภาพที่เริ่มมีการจำหน่ายจอระดับ 4K แล้ว
ดังนั้น เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วเมื่อมีการขยายพื้นที่การใช้งานไฟเบอร์บรอดแบนด์ที่ครอบคลุม รวมกับความเร็วในการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น จนเป็นยุคของดิจิตอลที่สามารถรับคอนเทนต์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด เทคโนโลยี Docsis ที่มีในปัจจุบันก็จะหมดความจำเป็นในอนาคต
*** ก้าวข้ามเทคโนโลยี เมื่อ Fibre มาแทนที่ Docsis
แม้ว่าบริการไฟเบอร์บรอดแบนด์จะเริ่มมีการให้บริการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานออกมาอย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้ให้บริการแต่ละรายจำเป็นต้องเลือกใช้ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งในการนำบริการเหล่านี้ไปสู่ลูกค้า เนื่องมาจากเวนเดอร์แต่ละรายก็จะใช้เทคโนโลยีไม่เหมือนกัน และที่สำคัญคือ ถ้าใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันนิดเดียวก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
ไม่เหมือนกับเคเบิลบรอดแบนด์ที่ปัจจุบันใช้งานกันอยู่บนมาตรฐานของ Docsis 3.0 ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจาก Docsis 1.0 และ Docsis 2.0 ซึ่งแน่นอนว่า ถูกพัฒนามาบนมาตรฐานแบบเปิดทำให้สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่หลากหลายได้ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง