อินเทล หวังไลน์ซีพียูใหม่ที่ครอบคลุมทั้งคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ออลอินวัน แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน แยกตามความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ จะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการซื้อซ้ำเร็วขึ้น แม้มีปัจจัยกระทบจากเศรษฐกิจ
นายสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มีการสำรวจจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ถึงการเติบโตของประเทศจากการนำเศรษฐกิจดิจิตอลมาเป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย เป็นกำลังหลัก
ดังนั้น อินเทลจึงมองว่า จากการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประชากร 80% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายในปี 2015 และเป็น 99% ในปี 2020 จะช่วยให้เกิดปริมาณการใช้งานดีไวซ์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ปัจจุบัน อุปกรณ์ราคาถูกหาได้ไม่ยาก แต่อุปกรณ์ราคาถูกแล้วค่อนข้างดี หรือรับได้หาได้ค่อนข้างยาก อินเทลจึงใช้พื้นฐานความต้องการนี้มาออกแบบเป็นอะตอม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ด้วยการออกหน่วยประมวลผลสำหรับสมาร์ทโฟนในระดับราคาต่ำกว่า 3,000 บาท เข้าสู่ท้องตลาด”
ทั้งนี้ อินเทล แบ่งซีพียู ออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ หน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูง คือ ในตระกูล Core i3 i5 และ i7 ถัดมาในส่วนของอุปกรณ์พกพาก็จะมีส่วนของ Atom x3 x5 และ x7 ที่จับตลาดในกลุ่มแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ล่าสุด ได้มีการเสริม Core M เข้ามาเพื่อรับกับกลุ่มที่เป็นอุปกรณ์โมบิลิตีที่ต้องการประสิทธิภาพสูงขึ้นมา
“แน่นอนว่าตอนนี้รายได้หลักของอินเทลยังมาจากซีพี ยูในตระกูล Core i เป็นหลัก แต่ส่วนที่เสริมเข้ามาเพื่อแสดงให้เห็นว่า อินเทลมีเทคโนโลยีที่พร้อม ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตว่าจะนำไปใช้งานหรือไม่ และคาดหวังว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะทำให้ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าซ้ำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น”
โดยล่าสุด ทางอินเทลได้มีการเปิดตัวหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ในคอมพิวเตอร์ อย่าง อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชัน 5 และในอุปกรณ์โมบายล์อย่าง อินเทล อะตอม x ซีรีส์ (โค้ดเนม โซเฟีย และเชอร์รี่เทรล) ที่รองรับการใช้งานแบบ 64บิท รองรับการเชื่อมต่อ 3G และ 4G
จุดเด่นหลักของ Intel Core i Gen 5 คือ การใช้พลังงานต่ำเพียง 15 วัตต์ ทั้งหมด 10 รุ่น และใช้พลังงาน 28 วัตต์ 4 รุ่น เพื่อให้มีทั้งรุ่นที่รองรับทั้งอุปกรณ์โน้ตบุ๊ก ออลอินวัน อัลตร้าบุ๊ก โครมบุ๊ก แบบครบถ้วน ส่วน Intel Atom X จะเป็นชิปที่รองรับการทำงานแอปพลิเคชัน การเชื่อมต่อ การจัดการพลังงานในชิปเดียว ที่สำคัญคือ ในรุ่น x5 และ x7 จะใช้สถาปัตยกรรมแบบ 14 นาโนเมตร
นอกจากนี้ ยังมีการนำ อินเทล คอมพิวท์ สติ๊ก คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว ที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรทัศน์ด้วยพอร์ต HDMI เพื่อใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์ได้ทันที รวมถึงการนำไปใช้ในด้านการศึกษา การวางระบบเครื่องลูกข่าย การใช้งานกับตู้จำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่ (Kiosk) รวมไปถึงอุปกรณ์ Wearable ที่นำชิปอินเทลไปใช้มาแสดงด้วย
“ตลาด อินเทล สติ๊ก และไลน์สินค้าที่ใกล้เคียงกันมีโอกาสเติบโตได้หลายหมื่นตัวต่อปี เพราะถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้บริโภคนำมาใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการใช้งานเบื้องต้นอยู่แล้ว”
Company Relate Link :
Intel
CyberBiz Social