เผยโผ 3 ผู้สมัครกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที มีทั้งภาคเอกชนและทหาร ไร้เงาคนทีโอที ด้านประธานสรรหาฯ เตรียมเสนอชื่อพิจารณาคุณสมบัติวันจันทร์ที่ 19 ม.ค.นี้ก่อนจะเรียกมาแสดงวิสัยทัศน์ภายใน 1 เดือน ลั่นคนทำตำแหน่งนี้ต้องสามารถแก้ปัญหาทีโอทีให้ได้ พร้อมสนองนโยบายของรัฐบาล ขณะที่พนักงานทีโอทีเตรียมเฮ รอโบนัส หลังพบบริษัทอาจฟื้นจากขาดทุนกลายเป็นมีกำไรพันล้านจากผลงานบอร์ดปัจจุบัน
นายพิพัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ทีโอทีได้เปิดรับสมัครตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ระหว่างวันที่ 19 ธ.ค. 57-12 ม.ค. 58 ขณะนี้มีผู้สนใจสมัครในตำแหน่งดังกล่าวแล้วจำนวน 3 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นว่าผ่านเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ โดยคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ต้องสามารถเข้ามาแก้ปัญหาทีโอทีที่มีอยู่ปัจจุบันให้ได้ ที่สำคัญคือต้องสามารถทำงานตอบสนองความต้องการของรัฐบาลได้ มีวิสัยทัศน์ที่ต้องสามารถบริหารคนที่มีอยู่กว่า 16,000 คน บริหารโครงการที่มีมูลค่าสูงให้ได้เพราะเงินทุกบาทเป็นเงินที่รัฐบาลลงทุน
ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ จะประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครในวันจันทร์ที่ 19 ม.ค. นี้ จากนั้นภายใน 1 เดือนจะเรียกผู้เข้าสมัครมาแสดงวิสัยทัศน์ โดยคาดว่าหากผู้เข้าสมัครผ่านการคัดเลือก ทีโอทีจะสามารถมีกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม มีการรายงานจากทีโอทีถึงรายชื่อผู้สมัครทั้ง 3 คนว่า ประกอบด้วย นายศิริพงษ์ โลหะศิริกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โพรเกรส ซอฟท์แวร์ จำกัด นายสมพงษ์ สาระโกเศศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วีจีเอ็ม กรุ๊ป และพลตรี สุรพล ตาปนานนท์
ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการชุดนี้เข้ามาทำงานจากเดิมที่ทีโอทีคาดว่าจะขาดทุนประมาณ 8,700 ล้านบาท ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นกำไรกว่าพันล้าน ทำให้สามารถปรับขึ้นเงินเดือนและพิจารณาโบนัสได้ในการประชุมบอร์ดวันที่ 20 ม.ค.ที่จะถึงนี้ โดยนายพิพัฒน์อธิบายว่า กำไรที่คาดว่าจะมีนั้นเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยแรกการชะลอโครงการที่ไม่สำคัญออกไปก่อน เช่น การเช่ารถทีโอที ปัจจัยที่สองมาจากการลดต้นทุนของโครงการบางโครงการลง เช่น โครงการไฟเบอร์ออพติก ซึ่งแต่ก่อนเป็นโครงการที่มีต้นทุนแพงกว่าตลาดทั่วไป จึงต้องมาวิเคราะห์หาต้นทุนที่แท้จริง และปัจจัยสุดท้ายคือ การเร่งรัดตามหนี้จากบริษัทต่างๆ ที่แต่ก่อนอาจจะละเลยไปมาก
ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างใหม่ต้องบอกว่าทีโอทีไม่ได้ปรับโครงสร้างใหม่แต่เป็นการปรับเปลี่ยนหน้าตักการทำงานมากกว่าเพื่อให้ทีโอทีมีการทำงานลักษณะองค์กรธุรกิจมากกว่าการเป็นราชการ ดังนั้นพนักงานที่กระทบจริงๆ จากการเปลี่ยนหน้าตักการทำงานครั้งนี้มีน้อยมาก โดยอีกกว่า 80% ซึ่งเป็นพนักงานระดับภูมิภาคก็ยังคงทำงานเหมือนเดิม แต่ทั้งนี้ก็ยอมรับว่าพนักงานที่ต้องทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ตนเองไม่คุ้นชินก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ศึกษางานใหม่ ขณะที่งานเก่าที่คั่งค้างก็ต้องทำต่อเนื่อง ที่สำคัญคือทีโอทีมีการวางรายละเอียดของงานแต่ละงานไว้อย่างชัดเจนไม่ใช่ไม่มีอย่างที่เป็นข่าวหรือเป็นไปตามที่พนักงานทีโอทีบางส่วนกังวลแต่อย่างใด
สำหรับภารกิจหลักของกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีที่สำคัญคือต้องขับเคลื่อนองค์กรภายใต้การปรับโครงสร้างใหม่ ที่คณะกรรมการมีมติลดสายงานจากเดิม 13 สายงาน ให้เหลือ 7 สายงาน ประกอบไปด้วย 1. สายงานพัฒนาองค์กร 2. สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ 3. สายงานการเงินและบริหารทรัพย์สิน 4. สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ 5. สายงานปฏิบัติการ 6. สายงานขายและบริการภาครัฐและภาคเอกชน และ 7. สายงานขายและบริการลูกค้า โดยสายงานใหม่จะแบ่งให้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่มีอยู่ 13 คนแบ่งออกมารับผิดชอบครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจะให้รับผิดชอบโครงการถ่ายโอนเสาสถานีฐาน ทรัพย์สินของทีโอทีหลังจากที่คู่สัมปทานสิ้นสุดสัญญาในปี 58
นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่นั้น ต้องสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจโดยหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศใน 6 กลุ่มธุรกิจ ที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กำหนดให้ ซึ่งการรับสมัครกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีนั้น เนื่องจากนายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 27 ส.ค. 57 เนื่องจากผลประกอบการปี 57 ช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) มีรายได้ 32,400 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 33,700 ล้านบาท ขาดทุน 1,300 ล้านบาท ประมาณการรายได้ทั้งปี (ม.ค.-ธ.ค.) คาดว่าจะมีรายได้ 57,600 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 66,500 ล้านบาท ขาดทุน 8,900 ล้านบาท
Company Related Link :
TOT