ทีเอ็มบีเปิดตัวโมบายล์แอปพลิเคชันสำหรับทำธุรกรรมทางการเงิน ‘ทีเอ็มบี ทัช’ ชูจุดเด่นแสดงรายการทุกบัญชี โอนเงินสูงสุด 5 แสนต่อครั้ง เปลี่ยนระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการระบุตัวเครื่อง พร้อมรหัสผ่าน 2 ชุด แทนการส่ง OTP เข้าเครื่อง พร้อมใส่ตัวสแกนมัลแวร์ป้องกันเพิ่ม หวังสิ้นปีลูกค้าใช้งาน 2 แสนราย
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบี กล่าวถึงพฤติกรรมการใช้งานโมบายล์อินเทอร์เน็ตของลูกค้าที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ธนาคารต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จึงได้มีการเปิดตัว “ทีเอ็มบี ทัช” ที่เป็นโมบายล์แอปพลิเคชัน เช็กยอด โอนเงิน ชำระค่าบริการผ่านสมาร์ทโฟน ทั้ง iOS และแอนดรอยด์ ผ่านการเชื่อมต่อด้วย 3G 4G และ Wi-Fi
“ในประเทศไทยอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งในปี 2013 อยู่ที่ 7.2 ล้านราย และเพิ่มขึ้นเป็น 8.9 ล้านรายในปีที่ผ่านมา ถือเป็นอัตราการเติบโตกว่า 25% ในขณะที่การใช้งานโมบายล์แบงกิ้ง จากปี 2013 ที่มีลูกค้าใช้งานราว 1.1 ล้านคน กลับเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ด้วยอัตราการเติบโตกว่า 300%”
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ทีเอ็มบีต้องการสร้างโมบายล์แอปพลิเคชันที่จะเข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเชื่อว่าจะกลายเป็นหัวใจหลักในการให้บริการต่อไปของทีเอ็มบี โดยปัจจุบันทีเอ็มบีมีลูกค้าใช้งานอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งประมาณ 2.5 แสนราย ในขณะที่ตัวโมบายล์แอปฯ หลังจากส่งขึ้นในแอปสโตร์ และเพลย์สโตร์ มีการดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วกว่า 8 หมื่นครั้งก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
จุดเด่นของ ทีเอ็มบี ทัช คือ เป็นแพลตฟอร์มแรกที่มีอินเตอร์เฟซการใช้งานเหมือนอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โดยจะแสดงรายละเอียดบัญชีทั้งหมดของลูกค้า พร้อมกับสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของบัญชี หรือผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท โดยสามารถดูรายละเอียดธุรกรรมย้อนหลังได้ 6 เดือน หรือ 6 รอบบิล
รวมกับระบบการโอนเงินรูปแบบใหม่ สูงสุด 5 แสนบาท ในการโอนเงินต่างธนาคาร ในขณะที่แอปพลิเคชันของธนาคารรายอื่นโอนได้สูงสุดไม่เกินครั้งละ 50,000 บาท โดยใช้วิธีการแตกธุรกรรมย่อยออกตามจำนวนเงินที่ต้องการโอน ตามข้อตกลงของธนาคารที่สูงสุด 50,000 บาท ร่วมกับการใช้รหัสยืนยัน 8 หลักทั้งตัวเลข และตัวอักษร
นายธีรศักดิ์ วงศ์ปิยะ เจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมและกลยุทธ์ดิจิตอล ทีเอ็มบี กล่าวเสริมว่า ทางทีเอ็มบีใช้ระยะเวลาในการพัฒนาทีเอ็มบี ทัช ราว 18 เดือน จากงบประมาณราว 150 ล้านบาท เพื่อออกแบบแพลตฟอร์มให้คล้ายคลึงต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เพราะมองว่าลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ต้องการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกค้าใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วย
ในส่วนของระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อมีการติดตั้งแอปพลิเคชันไว้บนสมาร์ทโฟน จะต้องมีการลงทะเบียนที่ธนาคารเพื่อส่งข้อความสั้น (SMS) มายืนยันตัวเครื่องที่ใช้งาน เมื่อต้องการใช้งานก็จะมีรหัสผ่าน 2 ชั้น คือ รหัส 6 หลัก สำหรับเข้าใช้งาน และรหัส 8 หลัก สำหรับการทำธุรกรรม อย่างไรก็ตาม ถ้าทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งก็จะใช้รหัสผ่านครั้งเดียว (One Time Password : OTP) เหมือนเดิม
“ที่ทีเอ็มบียกเลิกการใช้ OTP ในโมบายล์แอปฯ เพราะมองว่าไม่ถือเป็นการรักษาความปลอดภัยที่ถูกต้อง เพราะเมื่อมีการทำธุรกรรมบนโทรศัพท์ ซึ่งโทรศัพท์อยู่ในมืออยู่แล้ว ถ้ามีการส่ง OTP เข้ามาในมือถืออีกก็ทำหน้าที่เพียงแค่ให้ผู้ใช้สลับหน้าจอไปดูรหัสและกลับมากรอก ทำให้ยุ่งยากเสียเวลามากขึ้น และไม่ได้ทำให้เกิดการรักษาความปลอดภัยแบบเต็มรูปแบบ”
ด้วยพฤติกรรมการพกพาสมาร์ทดีไวซ์ของผู้บริโภค ทีเอ็มบีเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนโทรศัพท์ หรือแท็บเล็ต ได้สูงสุด 5 เครื่อง เพื่อสลับใช้งานในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างแบตเตอรี่หมด และถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าไปในตัว
ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของการใช้งานบนสมาร์ทโฟน คือ ทางทีเอ็มบีได้มีการฝังฟังก์ชันการตรวจจับมัลแวร์เข้ามาไว้ภายในแอปฯ ทำให้เมื่อมีการเรียกใช้งานแอปฯ ตัวสแกนมัลแวร์จะทำงานเพื่อตรวจหาข้อผิดพลาดในสมาร์ทโฟนทันที ถ้าพบรูปแบบการส่งข้อมูลที่ผิดปกติก็จะจำกัดการใช้งานเหลือแค่การดูรายละเอียดบัญชี และเช็กยอดเงินเท่านั้น ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้
สำหรับตัวแอปพลิเคชัน ทีเอ็มบี ทัชมีการวางแผนไว้ว่าจะมีการอัปเดตทุกๆ 2 เดือน และเฟสในการพัฒนาต่อไปจะอยู่ที่การเพิ่มรายละเอียดของเงินกองทุนรวม รวมไปถึงข้อมูลประกันชีวิตต่างๆ เข้ามาไว้ภายในแอปฯ ต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มีการดึง อาเล็ก ธีรเดช เมธาวรายุทธ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้แก่ทีเอ็มบี ทัชโดยเฉพาะ พร้อมกับการเผยแพร่โฆษณา “นิ้วฟ้า” ผ่านทางโทรทัศน์ และช่องทางออนไลน์ เพื่อเชิญชวนให้ลูกค้าหันมาใช้งานแอปพลิเคชันแทนการทำธุรกรรมผ่านหน้าสาขา
Company Relate Link :
TMB
CyberBiz Social