xs
xsm
sm
md
lg

ฟิลม์กันรอยเร่งปรับตัวกันยอดร่วง(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดมือถือช่วงที่ผ่านมาไม่ได้คึกคักหรือหวือหวาในเรื่องยอดจำหน่ายเท่าใดนัก เหตุผลหลักๆ มาจากปัจจัยลบที่สะสมมาอย่างยาวนานซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีการกระตุ้นด้วยโปรโมชันที่ยั่วยวนจากโอเปอเรเตอร์เพื่อหวังให้ลูกค้าย้ายค่าย ด้วยการกระหน่ำลดราคาเครื่องลงครึ่งต่อครึ่ง แต่ก็เป็นเสมือนยาที่ใช้เพื่อรักษาอาการที่เป็นอยู่เท่านั้น ไม่ได้ทำให้ตลาดเติบโตได้มากนัก
คาดการณ์กันว่าตลาดมือถือในปีนี้จะอยู่ที่ 19 ล้านเครื่อง เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพียง 2% ที่มียอดขายอยู่ที่ 18.7 ล้านเครื่องเท่านั้น แม้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่าตลาดน่าจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง เพราะแบรนด์ต่างๆ ทะยอยปล่อยหมัดเด็ดกันออกมาอย่างต่อเนื่อง และด้วยสถานการณ์เริ่มนิ่งลงและมีทิศทางที่ดีมากขึ้น แต่ก็คาดว่าไม่น่าจะหลุดตัวเลยไปจากนี้มากนัก

โอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด ผู้จัดงาน Thailand Mobile Expo 2014 Showcase กล่าวว่า ยอดผู้เข้าชมงานเมื่อต้นเดือนต.ค.เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 6 แสนคน ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับการจัดงานกลางปี และสูงขึ้นจากที่ได้คาดเอาไว้ว่าจะเพิ่มเพียง 10% เท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่แบรนด์มือถือชั้นนำได้ทยอยเปิดตัวลงสู่ตลาดหลายต่อหลายรุ่น ถือเป็นสิ่งดึงดูดให้มีผู้คนสนใจเข้าชมงานเป็นจำนวนมาก

แต่สำหรับยอดเงินสะพัดภายในงานแม้จะมีตัวเลขไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าชมงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีตัวเลขยอดเงินเพิ่มขึ้นมา 10% โดยเทรนด์ที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตระดับกลาง - ล่าง จากเดิมที่เน้นเลือกซื้อสมาร์ทโฟนราคาประหยัดในระดับราคา 2,000 - 5,000 บาทได้ขยับมาเลือกซื้อสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตในช่วงระดับราคา 5,000 - 10,000 บาท ซึ่งให้ประสิทธิภาพคุ้มราคาและตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่า

*** ฟีเจอร์โฟนยอดหด สมาร์ทโฟนกลาง-บนรุ่ง

สุภสิทธิ์ รักกสิกร หัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยอดขายรวมใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ไอโมบายสามารถจำหน่ายโทรศัพท์มือถือได้แล้ว 4 ล้านเครื่องซึ่งเท่ากับจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อช่วงต้นปี ดังนั้นจึงได้ทำการปรับเป้าหมายยอดขายรวมใหม่เป็น 4.5 ล้านเครื่องในปีนี้ โดยสัดส่วนการขายได้เปลี่ยนมาเป็นสมาร์ทโฟนถึง 80% ส่วนที่เหลือเป็นฟีเจอร์โฟน 20% จากปีที่ผ่านมายอดขายสมาร์ทโฟนยังมีอยู่เพียง 60% เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าสมาร์ทโฟนระดับราคากลางๆ ประมาณ 4-5 พันบาท เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

'การแข่งขันในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไอโมบายมองว่าจะดุเดือดมากกว่าเดิม เนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาหลายแบรนด์ โดยเฉพาะแบรนด์ชั้นนำจากจีนที่เริ่มเข้ามาทำตลาดมากขึ้น และเปลี่ยนจากการนำเข้าจากผู้ประกอบการรายต่างๆ มาเป็นเจ้าของแบรนด์เข้ามาขายเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นใจกับลูกค้ามากขึ้น และยังพบว่าแบรนด์ที่เคยหายไปได้หวนกลับมาอีกครั้ง ดังนั้นทำให้แบรนด์เดิมที่มีอยู่ต้องปรับตัวกันเพิ่มขึ้น'

โดยในตลาดสมาร์ทโฟนนั้น ยังมีตลาดในส่วนของโอเปอเรเตอร์ที่มีการนำเครื่องเข้ามาจำหน่ายให้กับลูกค้าเอง และใช้โปรโมชันที่ดึงดูดใจเพื่อเป็นตัวกระตุ้นตลาด และมีหลายแบรนด์เช่นกันที่ได้จับมือกับโอเปอเรเตอร์เพื่อสร้างยอดขาย ยังไม่นับรวมการทุ่มการตลาดจากแบรนด์หน้าใหม่ด้วยโปรโมชันที่หลากหลาย หรือแม้แต่การซื้อ 1 แถม 1 จากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยตลาดมือถือในช่วงปลายปีนี้จะมีการแข่งขันที่ร้อนแรงกว่าช่วงก่อนหน้า

*** ฟิล์มกันรอยต้องอัปเกรด

ในส่วนของผู้ผลิตฟิล์มกันรอยเองก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน โดยอมรศักดิ์ แดงแสงทอง รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัท ดีพลัส อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายฟิล์มกันรอยแบรนด์ Focus กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4 ของ ปีนี้ตลาดฟิล์มกันรอยและอุปกรณ์เสริมจะมีการขยายตัวมากเป็นพิเศษเนื่องจาก ช่วงปลายปีเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมือถือและอุปกรณ์เสริมใหม่สูง ที่สุด
การเปลี่ยนผ่านของมือถือจากฟีเจอร์โฟนมาเป็นสมาร์ทโฟนที่ผ่านมา ทำให้ตลาดฟิล์มเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากมือถือจอใหญ่ขึ้น รอยขีดข่วนก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายทำให้ผู้บริโภคนิยมติดฟิล์มเพื่อป้องกันรอยขีดข่วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสมาร์ทโฟนจอใหญ่นี่เองทำให้โตแบบก้าวกระโดด แต่ในปีนี้หลังจากผ่านมา 3 ไตรมาส จำนวนเครื่องในตลาดเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ทำให้ยอดขายตกลง จึงต้องสรรหาฟิล์มรุ่นใหม่ๆ เข้ามาสร้างความต้องการ และตอบสนองลูกค้าให้หลากหลายขึ้น

'พฤติกรรมกลุ่มย่อยเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้คนที่ยังเลือกฟิล์มไม่เหมาะสมกับการใช้งานของตนเอง เริ่มมองหาฟิล์มเฉพาะด้านมากขึ้น อย่างเช่น ฟิล์มลดรอยนิ้วมือ ฟิล์มถนอมสายตา และฟิล์มกันกระแทก ซึ่งติดแล้วสวยงามและเข้ากับพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้เริ่มมีความนิยมการใช้ฟิล์มเฉพาะด้านออกมาเพิ่มขึ้น แตกต่างจากเดิมที่ผู้บริโภคยังนิยมเพียงฟิล์มเพื่อป้องกันรอยขีดข่วน และจะใช้แบบใสหรือแบบด้านเท่านั้น'

ทางด้านการพัฒนาสินค้าให้เข้ากับตลาดนั้น ดีพลัส มีทีมงานพัฒนาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งทางด้านการใช้งานการขาย โดยศึกษาจากเทรนด์ในตลาดโลกเข้าไปศึกษาดูงาน ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา อย่างเช่น ฟิล์มถนอมสายตาซึ่งก็มาจากกระแสในต่างประเทศ ส่วนเทคโนโลยีฟิล์มยังพึ่งพาญี่ปุ่นเป็นหลัก สูตรเนื้อฟิล์มจะเน้นความทนทานติดง่ายเพื่อให้ร้านหน้าตู้ไม่ต้องเสียเวลา สวยงาม เรียบสนิท เพราะพฤติกรรมที่แตกต่างของการใช้งานฟิล์มกันรอยของคนไทยกับต่างประเทศคือ คนไทยไม่ติดเองและนิยมใช้ยาวนานกว่าทำให้การเปลี่ยนฟิล์มนานกว่าตลาดอื่น

***ฟิล์มเฉพาะด้านแนวทางสร้างรายได้

ในขณะที่การเติบโตของตลาดมือถือในเมืองไทยไม่ได้กระเตื้องขึ้นมากนัก รายได้ที่เคยเติบโตตามไปด้วยของฟิล์มกันรอยจึงลดลงตามไปด้วย ดังนั้นการมาโหมโฆษณาให้ผู้บริโภคหันมาใช้งานฟิล์มแบบพิเศษเพื่อการใช้งาน ที่เหมาะสมเฉพาะด้านจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เป็นอีกวิธีที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือไปจากการต้องแข่งขันฟิล์มกันรอยแบบเดิม ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ด้วยการนำเสนอคุณภาพและบริการหลังการขาย ที่เมื่อมีปัญหาก็จะดูแลแก้ไขให้ เช่น มือถือบางรุ่นที่การผลิตบางล็อตจะมีปัญหาเรื่องเครื่องไม่เท่ากัน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนฟิล์มตามการผลิตของล็อตนั้นๆ

'เราพยายามเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ให้ความรู้กับกลุ่มที่ใช้สมาร์ทโฟนที่มีความรู้อยู่แล้ว ให้หันมาใช้ฟิล์มที่เหมาะกับการใช้งาน อาศัยการสื่อสารทางการตลาดเยอะมาก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องมีการอธิบายความต่างของฟิล์มแต่ละชนิด สื่อผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่จะบอกไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ รวมไปถึงสื่ออื่นๆ ที่เป็นคอนเทนต์เนื้อหาให้รู้ถึงประโยชน์ของฟิล์ม ว่าใช้เฉพาะด้านแล้วดีกว่าอย่างไร ซึ่งในปีนี้ใช้งบการตลาดประมาณ 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 25 ล้านบาท'

การสนับสนุนให้คนใช้ฟิล์มแพงขึ้น ก็จะทำให้ยอดขายของโฟกัสเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับจำนวนมือถือที่เพิ่มไม่มากนักในปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมาดีพลัสยังได้เข้าไปทำฟิล์มกันรอยให้กับมือถือแบรนด์ต่างๆ ในลักษณะของการรับจ้างผลิตหรือโออีเอ็มอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ชั้นนำที่กำลังรอคอยรุ่นใหม่กันอยู่หรือแม้แต่แบรนด์หน้าใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนาฟิล์มกันรอยแบบกระจกด้วยการผลิตเอง 100% เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า โดยปัจจุบันสัดส่วนการเลือกใช้งานฟิล์มกันรอยของผู้บริโภคชาวไทย แบ่งเป็นฟิล์มประเภทใส-ด้านทั่วไปประมาณ 65% และฟิล์มที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่นลดรอยนิ้วมือ กันกระแทก ถนอมสายตาประมาณ 35%

สำหรับรายได้ปีนี้ดีพลัสตั้งเป้าหมายว่าจะมียอดขายฟิล์มกันรอยโฟกัสได้ประมาณ 500 ล้านบาท และเป็นผู้นำในตลาดฟิล์มกันรอยโดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 55% โดยปัจจุบันมีโรงงาน 2 แห่งที่วงแหวนอุตสาหกรรมและสุขสวัสดิ์ ส่วนตลาดปีหน้านั้นสมาร์ทโฟนยังมีการเติบโตอยู่ และตลาดฟิล์มกันรอยก็จะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งในส่วนคู่แข่งฟิล์มนั้นโฟกัสจะเน้นในเรื่องของการผลิตเพื่อตอบสนองตลาดได้เร็วกว่า พัฒนาคุณภาพได้ดีกว่า และเข้าถึงใจผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะไปลงทุนในต่างประเทศอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา รวมไปถึงตลาดเออีซีด้วยเช่นกัน

***VOX สนใจตลาดฟิล์มสุขภาพ

ในส่วนผู้ทำตลาดอุปกรณ์เสริมอย่าง VOX ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มองว่า ตลาดฟิล์มสำหรับสุขภาพถือเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง จึงได้มีการคิดค้นฟิล์มกรองแสงสมาร์ทโฟนขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ Dr.Eyes Film by VOX ชูจุดเด่นด้วยการนำนาโนเทคโนโลยีจากอเมริกามาช่วยตัดแสงสีฟ้าได้สูงสุดถึง 98% รวมถึงปกป้องรังสี UV400 / UVA1 ได้ 100% พีระศักดิ์ ทองนรินทร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีแมซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แอนด์ดิจิตอลแอสเซสเซอรี่ ภายใต้แบรนด์ VOX กล่าวว่า การทำตลาดฟิล์มกรองแสงของ Dr.Eyes ไม่ได้เน้นไปเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ LED อีกด้วย โดยเบื้องต้นจะเน้นการขยายตลาดไปยังช่องทางที่แตกต่างอย่าง โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ ศูนย์สุขภาพ ร้านแว่นตา และร้านขายยาต่างๆทั่วประเทศ

สำหรับตลาดฟิล์มกันรอยและอุปกรณ์เสริมในปี 58 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ถี่มากขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ใช้เครื่องเดิมยังมีความจำเป็นในการซื้ออุปกรณ์เสริมและฟิล์มกันรอย เพื่อเปลี่ยนแทนของเก่าในลักษณะของสินค้าฟุ่มเฟือย คาดว่ามูลค่าตลาดรวมของฟิล์มกันรอยและอุปกรณ์เสริม มีเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket

Instagram
กำลังโหลดความคิดเห็น