กสทช.เริ่มนับหนึ่งทดลองทีวีดิจิตอลวันแรก (1 เม.ย.) พบปัญหาหลักคือการเรียงช่องยังไม่เป็นไปตามที่ กสทช.กำหนด รวมทั้งมีบางช่องที่พร้อมทดลองออกอากาศแต่มีปัญหาการส่งเข้าระบบโครงข่ายซึ่งคงต้องแก้ไขต่อไป
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (1 เม.ย.) ถือเป็นวันแรกของการทดลองทดสอบโครงข่ายการออกอากาศทีวีในระบบดิจิตอลของผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX) ซึ่งเบื้องต้นมีการดึงสัญญาณช่องรายการจากผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องรายการที่ชนะการประมูลที่เริ่มทยอยออกอากาศเป็นวันแรกแล้ว เช่น บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด, บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (หมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ), บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (เวิร์คพ้อยท์), บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ทีวีพลู) เป็นต้น แต่ในวันที่ 25 พ.ค. 2557 เป็นต้นไปผู้ประกอบการทุกรายที่ชนะการประมูลจะต้องออกอากาศในระบบทีวีดิจิตอลทั้งหมดเนื่องจาก กสทช.จะเริ่มนับอายุใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.นี้ ดังนั้นภายหลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว 30 วันผู้ประกอบการต้องออกอากาศตามข้อกำหนด
ทั้งนี้ การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในช่วงทดลองตั้งแต่ 1-24 เม.ย.จะสามารถครอบคลุมได้ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เชียงใหม่ และสงขลา ส่วนในเดือน พ.ค.ซึ่งเป็นช่วงการทดลองออกอากาศโดยการควบคุมคุณภาพสัญญาณจะ เพิ่มอีก 3 จังหวัด คือ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และระยอง ส่วนในเดือน มิ.ย.ซึ่งจะถือเป็นช่วงออกอากาศจริงตามข้อบังคับแล้วจะเพิ่มพื้นที่ครอบคลุมเป็น 11 จังหวัด โดยจะมีอีก 4 จังหวัด คือ จังหวัดสิงห์บุรี สุโขทัย ขอนแก่น และอุดรธานี
โดยประชาชนที่รับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินปัจจุบันจะสามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ เพียงซื้ออุปกรณ์แปลงสัญญาณ หรืออุปกรณ์เซตท็อปบอกซ์ ซึ่งปัจจุบัน กสทช.อนุญาตให้มีการนำเข้า และผลิตแล้ว 52 รุ่นโดยไม่ต้องเปลี่ยนทีวีเครื่องเก่าแต่อย่างใดแต่คุณภาพที่ได้รับอาจจะไม่คมชัดเท่าทีวีที่รองรับระบบดิจิตอลมากับเครื่อง ซึ่งปัจจุบัน กสทช.ผ่านการตรวจสอบแล้วจำนวน 76 รุ่น เช่น ยี่ห้อพานาโซนิค, โซนี่, โตชิบา, ซัมซุง, แอลจี, ชาร์ป และโปรวิชั่น
ส่วนประชาชนที่รับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินผ่านระบบดาวเทียม และเคเบิลทีวียี่ห้อต่างๆ สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ทันทีที่ผู้ให้บริการช่องรายการเริ่มแพร่ภาพออกอากาศตามประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) เพียงปิดกล่องทีวีดาวเทียม และเปิดใหม่เท่านั้น แต่สัญญาณที่ได้รับมาจะไม่สามารถรับชมในระบบความคมชัดสูง (HD) ได้
นอกจากนี้ ความคืบหน้าเรื่องการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชม โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช.จะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนในเดือน พ.ค. 2557 และจะเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.พิจารณา โดยคาดว่าจะสามารถแจกคูปองได้ช่วงเดือน มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ แผนการให้บริการโครงข่ายภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในปีแรกตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.จะครอบคลุม 50% ของ 22.9 ล้านครัวเรือน, ในปีที่ 2 ตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค.จะครอบคลุม 80% หรือราว 17.6 ล้านครัวเรือน และในปีที่ 3 ตั้งแต่ ก.พ.-มิ.ย. 2558 จะครอบคลุม 90% ของครัวเรือน และในปีที่ 4 จะสามารถครอบคลุมได้ไม่น้อยกว่า 95% ส่วนอีก 5% ที่เหลือจะไม่ได้รับคูปองและไม่มีทะเบียนราษฎร
อนึ่ง ช่วงการทดสอบออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจะคู่ขนานกับโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก เดิมที่ประชาชนรับชมอยู่ในปัจจุบัน และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินของประชาชนแต่อย่างใด เพราะประชาชนยังสามารถรับชมโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอสได้ในรูปแบบเดิมทุกประการ
ขณะเดียวกัน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า วันนี้ (1 เม.ย.) ถือเป็นวันแรกสำหรับการเริ่มทดลองออกอากาศทีวีในระบบดิจิตอล เบื้องต้นได้ทดลองดูจากทีวีดิจิตอลในตัว (Digital Build In) โดยติดเสาอากาศขนาดเล็ก หรือหนวดกุ้งไฮเทคที่เครื่องทีวี พบภาพ และเสียงคมชัดในระบบดิจิตอล สามารถรับฟรีทีวีเดิมได้ครบทุกช่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องไทยพีบีเอส และ อสมท รับภาพคมชัดสูง (ระบบ HD) นอกจากนี้ยังพบช่องทีวีใหม่ เช่น ช่อง SpringNews ช่อง VoiceTV ช่อง True4U ช่องแกรมมี่ ช่อง MCOT Kids&Family ช่องเวิร์คพ้อยท์ และช่อง PPTV (HD) ส่วนช่องอื่นๆ คาดว่ากำลังทยอยเข้ามา
ส่วนปัญหาหลักที่พบวันนี้คือการเรียงช่องยังไม่เป็นไปตามที่ กสทช.กำหนด รวมทั้งมีบางช่องที่พร้อมทดลองออกอากาศในวันนี้ แต่พบปัญหาการส่งเข้าระบบโครงข่ายซึ่งคงต้องแก้ไขต่อไป ด้านเคเบิลทีวีบางแห่งเริ่มรับชมได้แล้วแต่ยังเรียงช่องไม่ตรง ส่วนลูกค้าที่รับชมผ่านจานทรู วิชั่นส์ จะสามารถเริ่มดูได้วันที่ 17 เม.ย.นี้ กลุ่มลูกค้าพีเอสไอก็เริ่มทยอยรับชมผ่านกล่องได้แล้ว
“ภาพรวมการทดลองวันแรกยังพบปัญหาทางเทคนิค รวมทั้งประชาชนอาจจะยังรับชมได้น้อยเพราะขาดอุปกรณ์รับสัญญาณซึ่งต้องอดใจรอ คาดว่าหลังมอบใบอนุญาตวันที่ 25 เม.ย.นี้จะสามารถรับชมได้อย่างเป็นทางการในเดือน พ.ค.-มิ.ย. รวมถึงแผนการแจกคูปองจะเริ่มได้เช่นกัน เพราะต้องการให้สัญญาณดิจิตอลออกไปรอประชาชนก่อนถึงแจกคูปองผ่านไปรษณีย์”
Company Related Link :
กสทช.
CyberBiz Social