แซสมั่นใจปีนี้โตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 30% เตรียมบุกองค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีรายได้รวมกว่า 1,000 ล้าน เพิ่มฐานลูกค้า พร้อมเร่งดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ให้สถาบันการเงินรับมาตรการจัดเก็บภาษีของสหรัฐฯ
นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ทางแซสได้มีการปรับโครงสร้างขององค์กรเพื่อเร่งขยายบุคลากรให้สามารถรองรับการเติบโตของตลาด โดยคาดว่าภายในปีนี้จะต้องเพิ่มบุคลากรอีกราว 1 เท่าตัว เพื่อรับกับการทำตลาดการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร โทรคมนาคม รวมไปถึงองค์กรธุรกิจขนาดกลางและย่อม
“ตอนนี้สัดส่วนรายได้หลักของแซสจะมาจากสถาบันการเงินกว่า 60% รองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 25% ที่เหลือก็จะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิต อุตสหกรรมพลังงาน ซึ่งแทบจะไม่มีผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง เพราะแซสยังไม่ค่อยรุกเข้าไปในตลาดภาครัฐมากนัก”
โดยปัจจัยที่ทำให้แซสสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องคือส่วนหนึ่งมาจากมาตรการจัดเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกาที่ได้ออกกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act หรือ FATCA มาบังคับให้ธนาคารจำเป็นต้องรายงานข้อมูลและธุรกรรมทางการเงินของชาวอเมริกันเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี ทำให้ธนาคารหลายแห่งนำระบบของแซสไปใช้งาน
สำหรับผลประกอบการในปีที่ผ่านมา แซสสามารถทำสถิติรายได้สูงสุดต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมทั่วโลก 90,060 ล้านบาท (3.02 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เติบโตจากปีที่ผ่านมา 5.2% โดยรายได้หลักจะมาจาหกลุ่มธุรกิจคลาวด์ และการวิเคราะห์ข้อมูล
“เหตุผลหนึ่งที่ทำให้แซสสามารถรักษาผู้นำตลาดได้คือการที่บริษัทไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น จึงสามารถใช้เงินถึง 25% ในการวิจัยและพัฒนา R&D แต่ถ้าบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นจะใช้ราว 10% เท่านั้น เนื่องจากต้องให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงทำให้ดูแลพนักงานได้แตกต่างด้วย”
ขณะที่แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) เองก็ทำสถิติรายได้สูงสุด โดยเติบโตจากปีที่ผ่านมาถึง 33% ซึ่งถือว่ามากที่สุดใน 12 ปี รวมถึงยังมีรายได้สูงสุดอันดับ 1 ของแซสในภูมิภาคเอเชียใต้
“ในปีนี้คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งอาจจะสูงขึ้นไปถึง 50-70% ถ้าสามารถรุกเข้าไปในตลาดองค์กรธุรกิจขนาดกลางเพิ่มขึ้น โดยได้มีการเพิ่มพนักงานเข้ามาดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ 15 คน”
นอกจากนี้ยังได้ทุ่มเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทสำหรับการจัดโครงการ iStyle ที่เป็นโครงการที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในการผลิตบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปีสามารถผลิตบุคลากรได้กว่า 300 คน
“ผู้ใช้บริการ SAS ในประเทศไทยหลายรายต้องการนักวิเคราะห์ข้อมูลเข้าไปใช้ ซึ่งปัจจุบันต้องใช้บุคลากรจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นถ้าสามารถพัฒนาบุคลากรไทยขึ้นมาก็จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่พนักงานกว่า 1.6 พันล้านบาท”
Company Relate Link :
SAS