สมาร์ทโฟนในเมืองไทยดูเหมือนจะมีเพียงซัมซุงและไอโฟนเท่านั้น ที่มีส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาด จนเรียกได้ว่าทำให้แบรนด์อื่นๆ ที่มีอยู่กลายเป็นเพียงไม้ประดับ ซึ่งแม้แต่โนเกียเองที่เคยทำตลาดได้ดีในฐานะโทรศัพท์มือถือที่เข้าถึงได้ง่ายทุกเพศทุกวัยจนครองแชมป์อันดับหนึ่งหลายปีก่อน ยังแทบล้มทั้งยืนกับตลาดสมาร์ทโฟนเพราะยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุค 3G ได้อย่างเต็มที่นัก
สิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วนของสมาร์โฟน แบรนด์รองในตลาด นอกจากเรื่องการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ทันท่วงที ยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้ผลเสมอมาคือความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเกาะโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือ อัดแคมเปญโปรโมชันต่างๆ เพื่อสร้างยอดขายและการเติบโตต่อเนื่อง อาจหมดยุคสมัยที่ความทรนงในของแบรนด์เองว่าเป็นที่ยอมรับแล้ว และที่ผ่านมายังสามารถทำตลาดได้ดีจึงไม่จำเป็นต้องปรับตัวตามใคร ยังคงยืนหยัดอยู่ด้วยภาพความเป็นผู้นำของตัวเองแบบเดิมๆอีกต่อไปแล้ว เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจากโซเชียลมีเดียมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ทำให้แบรนด์ที่ไม่ปรับตัวที่จะรองรับความต้องการเหล่านี้ เริ่มสูญเสียรายได้และไร้ที่ยืนในตำแหน่งผู้นำในที่สุด
*** ขายโน้ตบุ๊กดีใช่ว่าสมาร์ทโฟนจะรุ่ง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่าง เอเซอร์แบรนด์คอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ ที่เริ่มหันมาจับตลาดสมาร์ทโฟน เพราะต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตในยุคดิจิตอลของผู้บริโภคได้แบบครบวงจร ถึงแม้การทำตลาดในเมืองไทยนั้นจะมีชอปที่ครอบคลุมอยู่ทั่วไปแล้ว แต่การนำเสนอสินค้าอย่างสมาร์ทโฟนผ่านช่องทางที่มีอยู่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คาดหวัง เพราะที่ผ่านมาแม้เอเซอร์จะมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพไม่แพ้แบรนด์อื่นๆ ในตลาด แต่ด้วยชื่อชั้นและการยอมรับในสินค้าสมาร์ทโฟนยังไม่ติดหูผู้บริโภค ทำให้ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ไล่เรียงมาตั้งแต่สมาร์ทโฟนระดับบนอย่าง Acer Liquid E S100 ที่ออกมาสร้างสีสันให้กับตลาดได้ตื่นเต้นกันเล็กน้อย หรือจะเป็น Acer liquid E Ferrari Special Edition สำหรับผู้ที่หลงใหลในซูเปอร์คาร์อย่างเฟอร์รารี ที่แม้จะไม่ได้ขับแต่จับสิ่งที่สื่อถึงก็พอใจแล้ว ตามมาด้วย Acer beTouch E120 สมาร์ทโฟนระดับราคากลางๆ และความเคลื่อนไหวล่าสุดกับ Acer Liquid C1 Intel Inside ที่สร้างความแปลกใหม่ด้วยการใส่ Intel Atom processor Z2420ยังไม่นับรวมอีกสารพัดรุ่นที่เอเซอร์นำเสนอกันออกมาอย่างเต็มที่ แต่ทั้งหมดก็กลายเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาเสริมตลาดเท่านั้น ไม่ได้เด่น ไม่ได้ดังอะไร ดังนั้นหากยังคงทำการตลาดแบบเดิมๆ ผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่นี้ก็คงต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปแบบน่าเสียดายเช่นกัน
***โอเปอเรเตอร์ทางออกสุดท้ายของมวยรอง
เอเซอร์หาทางออกด้วยการจับมือกับโอเปอเรเตอร์รายใหญ่อย่างเอไอเอส เปิดตัวสมาร์ทโฟนรองรับ 3Gด้วย Acer Liquid Z3 พร้อมแพกเกจโปรโมชันสุดคุ้ม ลดค่าบริการรายเดือน 50% จากแพก 3G iSmart 599 บาท เหลือเพียง 299 บาทนาน 10 เดือน รวมมูลค่า 3,000 บาท สำหรับลูกค้าเอไอเอส 3G รายเดือน และมอบค่าโทร.ฟรีมูลค่า 2,400 บาทก็ได้ผลเกินความคาดหมาย เพราะสามารถสร้างยอดขายจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมาได้ถึง 300,000 เครื่อง ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน ซึ่งหากเอเซอร์ขายเองคงไม่ได้เห็นตัวเลขในระดับนี้
ด้วยความสำเร็จดังกล่าวเอเซอร์จึงได้ต่อยอดแคมเปญใหม่ด้วยการนำสมาร์ทโฟน Acer Liquid Z3s สมาร์ทโฟนจอยักษ์หรือที่เอเซอร์เรียกว่าแฟบเล็ต Acer Liquid Z5 รุ่นใหม่ล่าสุด มาจัดแคมเปญอีกครั้งในปีนี้ AIS 3G Super Combo แจกทั้งส่วนลดค่าบริการรายเดือน 50% นาน 10 เดือน และโบนัสโทร.ฟรีสูงสุด 4,000 บาท เอาใจผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเครื่องแรก ตั้งเป้ายอดขายสมาร์ทโฟนของเอเซอร์แตะระดับ 1 ล้านเครื่องได้ในปีนี้
นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเกิดจากการที่เอเซอร์มองเห็นการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนในเมืองไทย โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญอย่างการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่จะทำให้เกิดการย้ายเครือข่ายใหม่อย่าง 3G ความถี่ 2100 MHzขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการเลือกใช้งานอุปกรณ์โมบิลิตี้ในปัจจุบันก่อให้เกิดความต้องการการใช้แฟบเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น
'แต่ใช่ว่าความต้องการดังกล่าวจะจำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟนราคาแพง เพียงแต่ต้องสามารถตอบสนองทุกความต้องการ ทั้งดีไซน์ รูปร่าง ฟีเจอร์ต่างๆ และที่สำคัญต้องมีความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ดังนั้นเอเซอร์จึงจับมือกับพันธมิตรอย่างเอไอเอสในการนำเสนอ สมาร์ทโฟนและ แฟบเล็ตที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับการใช้งานส่งไปยังตลาดกลุ่มนี้'
นอกเหนือจากเรื่องเครื่องแล้ว เอเซอร์ยังนำเสนอในส่วนของการให้บริการหลังการขายสำหรับลูกค้าที่เครื่องมีปัญหาและยังอยู่ในประกัน สามารถส่งซ่อมกับศูนย์บริการเอเซอร์ที่มีบริการอยู่ 14 สาขาได้ แต่หากไม่สามารถซ่อมเสร็จได้ภายใน 1 วัน เอเซอร์มีบริการ 'เครื่องใช้ระหว่างซ่อม' โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ อีกด้วย ทั้งนี้เอเซอร์ยังมีแผนที่จะนำเสนอ สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในเร็วๆ นี้ส่วนรูปแบบการทำตลาดจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องดูผลตอบรับจากแคมเปญล่าสุดก่อน
*** การตลาดแบบวิน-วิน ในยุคเครือข่ายใหม่
การจับมือกับโอเปอเรเตอร์ใช่ว่าจะเกิดผลดีกับเฉพาะเจ้าของแบรนด์เท่านั้น เพราะในส่วนของโอเปอเรเตอร์เองก็ได้รับผลดีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการจะดึงให้ลูกค้าโอนย้ายมาสู่เครือข่ายใหม่ที่นอกจากจะต้องมีความพร้อมของเสาสัญญาณแล้ว ตัวอุปกรณ์ที่รองรับก็ควรจะมีความหลากหลายที่จะสามารถตอบสนองความต้องการได้ อย่างเต็มที่อีกด้วย จึงจะถือเป็นการเชิญชวนให้ย้ายแบบสมบูรณ์มากขึ้น
วิเชียร เมฆตระการ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดยังคงรุนแรงทั้งการหาลูกค้าใหม่และการโอนย้ายลูกค้าเก่า เข้าสู่เครือข่ายใหม่ ดังนั้นเอไอเอสจึงต้องทำการตลาดในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรโมชันร่วมกับสมาร์ทโฟนหลากหลายแบรนด์ รวมไปถึงแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเอไอเอสตั้งเป้ามีลูกค้า 3G ในปี 2557 เพิ่มเป็น 30 ล้านรายจากปัจจุบันมีลูกค้า 3G ทั้งหมดรวม 15 ล้านราย และน่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำในเครือข่ายมือถือ 3G ได้ในกลางปีนี้
ด้านภูมิใจ กฤติยานนท์ ผู้อำนวยการส่วนงาน Smart Device เอไอเอส กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาเอไอเอสมียอดขายสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น 2 ล้านเครื่อง ส่วนปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 6 ล้านเครื่อง โดยจะเน้นนำเสนอใน 2 เรื่องคือ เครื่องดีราคาโดนใจ และแพกเกจโปรโมชันสุดคุ้ม ตอบโจทย์ครบทุกความต้องการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ของลูกค้าทุกกลุ่ม
ฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาดและการขาย เอไอเอส กล่าวว่า การที่โอเปอเรเตอร์ลงไปทำตลาดสมาร์ทโฟนเองนั้น เริ่มมาได้ประมาณ 2 ปี แล้ว แต่ยังเป็นกลุ่มเฉพาะอย่างเช่น แบล็กเบอรี่และไอโฟน แต่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีความเข้มข้นขึ้น เนื่องจากสมาร์ทโฟนมีราคาถูกลง และการที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายต้องการกระตุ้นการย้ายเข้าสู่เครือข่ายใหม่ จึงมีการจับมือกับแบรนด์อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
โดยที่ผ่านมาเอไอเอสได้จับมือกับแบรนด์สมาร์ทโฟนเพื่อร่วมกันจัดแคมเปญ Super Combo ที่ประสบความสำเร็จไปแล้วครั้งหนึ่ง และขณะนี้กำลังเข้าสู่แคมเปญ Super Combo 2 แล้ว ซึ่งยังคงเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์แล้วยังมีสิทธิพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร และลูกค้าแต่ละกลุ่มจะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ไม่เหมือนกัน อาทิ สิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานฟีเจอร์โฟน 2G หรือกลุ่มสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน
โดยการจับมือกับเจ้าของแบรนด์สมาร์ทโฟน มีผลดีคือจะช่วยทำให้เอไอเอสสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าเพื่อหาโปรโมชันที่สามารถ ตอบสนองได้อย่างตรงความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ตรงใจมากขึ้น และช่วยดึงให้ลูกค้าที่สนใจมือถือรุ่นต่างๆ แต่ยังเลือกไม่ได้ให้พบกับผลิตภัณฑ์ที่มีราคาที่เหมาะสม และถือเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่จะดึงลูกค้าใหม่ให้สามารถเข้ามาอยู่ในเครือข่าย ได้ง่ายขึ้น สำหรับไตรมาสแรกในปีนี้เอไอเอสจะทำเรื่องของช่องทางการขายสมาร์ทโฟนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยาย เอไอเอสเซ็นเตอร์ 3G เซ็นเตอร์ โดยตั้งเป้าที่จะมีไดเร็กต์เซลส์ไว้ประจำทั้งสิ้น 700 คน ซึ่งขณะนี้ได้แล้ว 500 คน รวมไปถึงการอัปเกรดเทเลวิซเป็นเทเลวิซพลัส เพื่อตอบสนองการใช้งานใหม่ๆ ของลูกค้า นอกจากนี้เอไอเอสยังได้ทำเทรนนิ่งให้กับลูกค้าสูงอายุหรือที่เรียกว่า วัยเก๋า เพื่อสอนการใช้สมาร์ทโฟนไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดี
***เอชทีซีจับคู่ดีแทค
เช่นเดียวกับเอชทีซี แบรนด์ที่เคยได้รับความนิยมในช่วงๆ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยปัญหาบางประการทำให้การตลาดค่อนข้างซบเซา และส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคไปพอสมควร เพราะแม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีและเทียบเท่ากับคู่แข่งทุกรายในตลาด ตลอดจนมีการนำเสนอรุ่นใหม่ๆ ออกมาสู่สายตาของลูกค้าอยู่บ้าง แต่ก็เรียกได้ว่ายังไม่สามารถสร้างความสนใจได้มากนัก
ดังนั้นทางออกหนึ่งที่จะสามารถกู้ชื่อเสียงกลับมาได้คือการจับมือกับโอเปอเรเตอร์ในการทำตลาดผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ และถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันให้แบรนด์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง โดยเลือกที่จะจับมือกับดีแทค ในการสร้างช่องทางจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสมาร์ทโฟนตระกูล HTC One Family โดยการจับมือครั้งนี้ มาพร้อมกับการเปิดตัว HTC One Max และ HTC One Mini ใหม่
ในส่วนของดีแทคการจับมือกับเอชทีซีถือเป็นการเสริมตลาดสมาร์ทโฟนในระดับราคา 1-2 หมื่นบาทให้มีความครบครันมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีสมาร์ทโฟนในระดับราคาดังกล่าวหลายแบรนด์เพื่อตอบสนองลูกค้าแล้วก็ตาม ประกอบกับสมาร์ทโฟนในระดับล่างก็มีไตรเน็ตโฟนของตัวเองรองรับอยู่แล้ว การจับมือกับพันธมิตรที่เหมาะสมถือเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความหลากหลายที่มากขึ้น และจะกลายเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ
ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด ดีแทค กล่าวว่า การเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของสมาร์ทโฟนตระกูล HTC One จะเป็นการเสริมสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ เพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ ของสมาร์ทโฟน บนระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ให้กับลูกค้า และถือเป็นการเปิดตัว HTC One Max และ HTC One Mini ใหม่อย่างเป็นทางการ ผ่านดีแทคซึ่งมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ จะช่วยผลักดันให้แบรนด์เอชทีซีสามารถขยายตลาด และก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนของไทยได้อย่างแน่นอน
หากไม่นับรวมการทำตลาดของซัมซุงและแอปเปิลที่มีลูกค้าเป็นจำนวนมากแล้ว การแทรกตัวเข้ามาในตลาดสมาร์ทโฟนในเมืองไทยนับว่าไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะแบรนด์รองที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเท่าใดนัก ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดคือการจับมือกับโอเปอเรเตอร์ที่มีลูกค้าเป็นจำนวนมากอยู่แล้วจึงถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่จะสร้างความเชื่อถือและดึงความน่าสนใจกลับมาได้อย่างรวดเร็ว