ประสบการณ์ 5 ปีของกูเกิลและแอนดรอยด์ได้ปรับเปลี่ยนหน้าตาและความสามารถของแอนดรอยด์ไปมาก จากระบบที่เน้นในทางโปรแกรมเมอร์หน้าตาเนิร์ดๆ เอาใจนักเขียนโปรแกรมและชอบปรับแต่งเพราะเป็นระบบเปิด (Open Platform) จนเปลี่ยนมาเป็นระบบปฏิบัติการที่เน้นบริการและเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของ ผู้ใช้โดยเฉพาะความสามารถในการโยนไฟล์ได้แบบแฟลช์ไดร์ฟรวมถึงความเสถียรและความลื่นไหลที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันกูเกิลนำแอนดรอยด์เดินทางมาถึงรุ่นย่อยที่ 19 กับ KitKat (คิทแคท) พร้อม 3 จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แอนดรอยด์เปลี่ยนไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
**KitKat จะรองรับสมาร์ทโฟนรุ่นเก่า**
ต้องบอกว่า ช่วงแอนดรอยด์ 2.3 Gingerbread (ประมาณ 3 ปีที่แล้ว) เป็นช่วงเฟื่องฟูของระบบปฏิบัติการนี้มาก แน่นอนมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนเป็นเจ้าของแอนดรอยด์ 2.3 จำนวนมาก ก่อนกูเกิลจะปรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่หมดอีกครั้งในแอนดรอยด์ 3.0-4.0 และปรับสเปกที่รองรับให้สูงขึ้นมากจนผู้ใช้ปรับตัวตามไม่ทัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้ใช้เหล่านั้นยอมหยุดระบบไว้ที่แอนดรอยด์ 2.3และผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีนที่ต้องการทำตลาดแอนดรอยด์ระดับล่าง (ราคาไม่เกิน 4 พันบาท) ก็ยังสนับสนุนเลือกใช้แอนดรอยด์ 2.3 อยู่จนถึงปัจจุบันเพราะฮาร์ดแวร์ระดับล่างไม่รองรับกับแอนดรอยด์รุ่นใหม่ๆ
ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อกูเกิลต้องพัฒนาแอนดรอยด์เวอร์ชันต่อไปเพราะชุดคำสั่งแอปพลิเคชันมีการปรับเปลี่ยนไปตามโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ในแอนดรอยด์จนเป็นเหตุให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันมีปัญหากับการเขียนโปรแกรม เพื่อจะให้รองรับทั้งแอนดรอยด์รุ่นเก่ากับรุ่นใหม่พร้อมกัน
กูเกิลจึงเลือกแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยแอนดรอยด์ KitKat 4.4 ที่ถูกพัฒนาบนชื่อโครงการ Svelteโดยเน้นปรับปรุงระบบปฏิบัติการให้บริโภคหน่วยความจำน้อยลงและระบบปฏิบัติการ สามารถจัดสรรหน่วยความจำได้เองพร้อมลดการใช้แรมของแอปพลิเคชันที่มาพร้อมกับระบบ (Google Experience)
ผลที่ได้ก็คือแอนดรอยด์ KitKat จะสามารถติดตั้งบนสมาร์ทโฟนที่มีแรมเพียง 512 เมกะไบต์บนซีพียูแบบดูอัลคอร์ที่หน้าจอความละเอียด 960x480 พิกเซลได้อย่างราบลื่น เช่น Samsung Galaxy S Advanced หรือ Sony Xperia ZR
ที่มีข่าวว่าจะได้รับอัปเกรดเป็นแอนดรอยด์ 4.4 KitKat ในอนาคตซึ่งถือเป็นการช่วยยืดอายุวงจรชีวิตของสมาร์ทโฟนหนึ่งรุ่นให้นานขึ้น แบบเดียวกับที่แอปเปิลใช้กับไอโอเอสดีไวซ์
**รันไทม์ตัวใหม่ เร็วขึ้น 50%**
ในแอนดรอยด์ 4.4 KitKat บน LG Nexus 5 กูเกิลเริ่มเปิดให้ผู้ใช้และนักพัฒนาแอปพลิเคชันได้ทดลองใช้รันไทม์ (กระบวนการแปลงโค้ดเป็นแอปพลิเคชัน) ใหม่ในชื่อ ART (Android Runtime) จากเดิมที่กูเกิลเลือกใช้รันไทม์ Dalvik มาตั้งแต่แอนดรอยด์รุ่นแรกจนถึงรุ่น 4.4 ซึ่งกูเกิลมองว่า Dalvik ล้าหลังและทำงานช้าเพราะต้องแปลงโค้ดทุกครั้งเมื่อกดเรียกใช้งานแอปพลิเคชัน และ Dalvikคือปัญหาที่ทำให้แอนดรอยด์ไม่มีความลื่นไหลเหมือนคู่แข่ง
แตกต่างจาก ART ที่จะแปลงโค้ดเหล่านั้นไว้เรียบร้อยแล้วตอนติดตั้งพร้อมอยู่ในสถานะ Ready-to-run คือเมื่อกดเปิดแอปพลิเคชันระบบสามารถรันได้เลยโดยไม่ต้องแปลงโค้ดใดๆ อีก และผลดีอีกเรื่องก็คือ ART จะช่วยประหยัดแบตเตอรีเพราะซีพียูไม่ต้องคอยเฝ้าถอดรหัสโค้ดตลอดเวลา
แต่ทั้งนี้ปัจจุบัน ART ยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา และกูเกิลเปิดให้ทดสอบใช้งานเฉพาะสมาร์ทโฟน Nexus 5 ของกูเกิลเท่านั้น ซึ่ง Dave Burke หัวหน้าทีมวิศวกรรมแอนดรอยด์ได้เกริ่นไว้กับเว็บไซต์ readwrite.com ว่า ART จะเสร็จสมบูรณ์ในแอนดรอยด์เวอร์ชันต่อไปพร้อมความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นถึง 50% จาก Dalvik หรือพูดให้เห็นภาพก็คือ 'ในอนาคตแอนดรอยด์จะมีความลื่นไหลเทียบเท่าไอโอเอสดีไวซ์ของแอปเปิล' นั่นเอง
**ระบบนิเวศน์ที่ดีขึ้น**
ในแอนดรอยด์ 4.4 KitKat ทีมกูเกิลและทีมแอนดรอยด์เริ่มทำงานสอดประสานกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการสร้างระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่สมบูรณ์แบบให้กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เป็นครั้งแรก หลังจากพยายามสร้าง Google Now ขึ้นมาตอนแอนดรอยด์ 4.1 Jelly Bean โดยใช้ความสามารถของ Google Search ในการค้นหาสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ ทั้งฟังจากเสียงพูดของผู้ใช้เองและพิมพ์ผ่านคีย์บอร์ดเข้าไป
แต่ใน KitKat กูเกิลและทีมแอนดรอยด์ปรับระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยการรวมแอปพลิเคชันและระบบของทีมกูเกิล เช่น GMail, YouTube และ Google Search ฝังเข้าไปรวมกับแกนระบบแอนดรอยด์เลย ทำผู้ใช้สามารถพูดหรือพิมพ์ตอบโต้กับสมาร์ทโฟนและระบบจะนำฐานข้อมูลจากกูเกิลมาแสดงให้ผู้ใช้ทราบจนถึงระบบ Caller ID ที่เมื่อมีสายองค์กรที่มาพร้อมเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ โทร.เข้ามา
แกนระบบของแอนดรอยด์ที่เชื่อมต่อกับบริการกูเกิลจะทำการค้นหาและแสดงชื่อ องค์กรที่ตรงกับเบอร์ที่โทร.เข้ามาให้ทราบ หรือแม้แต่ระบบคลาวด์จากกูเกิลที่ทำงานเชื่อมต่อกับ KitKat ตลอดเวลาทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานบน Google Drive แล้วไปเปิดใช้งานผ่าน QuickOffice บน KitKat ได้หรือแม้แต่ความสามารถของ Google Nowที่สามารถจัดการชีวิตประจำวันของผู้ใช้เข้ากับบริการของกูเกิลได้สมบูรณ์แบบ
นี่คือ 3 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของแอนดรอยด์ซึ่งกูเกิลมองว่าคืออนาคตของแอนดรอยด์ยุค ใหม่ที่สามารถทิ้งภาพลักษณ์เก่าๆ ได้อย่างหมดสิ้น และกูเกิลเริ่มใช้กับสมาร์ทโฟนกูเกิล Nexus 5 ที่ LG ผลิตเป็นรุ่นแรก แน่นอนทีมงานได้ทดสอบ Nexus 5 อย่างละเอียดถึงสองอาทิตย์เต็มและพบว่า Nexus 5 ที่ทำงานบนแอนดรอยด์ 4.4 KitKat ทำงานได้ลื่นไหลกว่าทุกรุ่นที่เคยสัมผัสมายิ่งเปลี่ยนรันไทม์เป็น ART ยิ่งพบความลื่นไหลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ต่อจากนี้ก็เหลือเพียงแต่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจะนำ KitKat ไปสานฝันต่อให้กูเกิลได้เป็นไปตามใจหวังหรือไม่ ก็คงต้องรอติดตามชมต่อไป แต่โดยภาพรวมแล้วถือว่าการมาของ แอนดรอยด์ 4.4 KitKat น่าจะสร้างจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของแอนดรอยด์โฟนได้อย่างแน่นอน
เพราะนี่คือ 'ว่าที่แอนดรอยด์โอเอสที่ดีที่สุดเท่าที่กูเกิลเคยพัฒนามา'
รู้ไว้ใช่ว่า:
1.ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เป็นระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของบริษัทแอนดรอยด์ที่ภายหลังกู เกิลได้ซื้อไป มีพื้นฐานและโครงสร้างมาจากลีนุกซ์ซึ่งเป็นระบบเปิด (Open Platform) โดยแอปพลิเคชันภายในทั้งหมดรวมถึงในกูเกิลเพลย์สโตร์ถูกเขียนด้วยภาษาจาวา
2.สมาร์ทโฟนตระกูล Nexus ทั้งหมดเป็นของกูเกิลที่จ้างผู้ผลิตสมาร์ทโฟนผลิต โดยจุดเด่นอยู่ที่การเป็นแอนดรอย์ดิบๆ ไร้การปรับแต่ง UI (Pure Android) และมักได้รับการอัปเดตระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่จากกูเกิลก่อนเจ้าอื่นเสมอ
อีกทั้งสมาร์ทโฟนตระกูล Nexus ยังถือเป็นสมาร์ทโฟนต้นแบบที่มักวางจำหน่ายพร้อมโอเอสรุ่นใหม่เพื่อให้ผู้ ผลิตแต่ละเจ้าได้เห็นถึงรูปแบบการทำงานของโอเอสร่วมกับฮาร์ดแวร์ที่กูเกิล ได้กำหนดเป็นสเปกพื้นฐานมาแล้ว
Company Related Link :
Android Kitkat