สื่อต่างประเทศเชื่อว่ามีแนวโน้มสูงที่กูเกิล (Google) จะสามารถผลิตชิปอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองได้ด้วยความร่วมมือกับบริษัทบริต (Brit) ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตชิปเออาร์เอ็ม (ARM) อยู่ในมือ ซึ่งหากเป็นจริงจะเท่ากับกูเกิลกำลังเดินหน้ายกระดับการโต้ตอบหรืออินเตอร์แอ็กทีฟระหว่างซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์ให้ดีขึ้นอย่างจริงจัง
บริษัทที่แหล่งข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่ากำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อพัฒนาชิปของกูเกิลนั้นมีนามว่าบริต ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชิป ARM สัญชาติอังกฤษ รายงานวิเคราะห์เบื้องต้นว่าหากกูเกิลสามารถพัฒนาชิปอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองได้ กูเกิลก็จะสามารถจัดการการโต้ตอบระหว่างฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้บริการของกูเกิลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีตัวแทนบริษัทใดให้คำยืนยันว่าแผนการผลิตชิป ARM ของกูเกิลเป็นเรื่องจริง ทำให้รายงานนี้ยังเป็นข่าวลือที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยรายละเอียดที่แน่นอน
ก่อนหน้านี้ โฆษกกูเกิลยอมรับว่ากำลังอยู่ระหว่างการออกแบบอินฟราสตรักเจอร์พันธุ์ใหม่ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก โดยลิซ มาร์กแมน (Liz Markman) โฆษกกูเกิลให้ข้อมูลเพียงว่าเป็นการออกแบบที่ครอบคลุมทั้งส่วนของการออกแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงว่ากูเกิลกำลังเตรียมพร้อมเพื่อผลิตชิปของตัวเองหรือไม่อย่างไร
หากข่าวลือนี้เป็นความจริง ผู้ที่ถูกมองว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงคือเจ้าตลาดชิปอย่างอินเทล (Intel) เนื่องจากกูเกิลนั้นเป็นลูกค้ารายใหญ่อันดับ 5 ของอินเทลในธุรกิจชิป จุดนี้ข้อมูลจากนักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กระบุว่าอินเทลสามารถทำรายได้จากกูเกิลราว 4% ของรายได้รวมอินเทล
นอกจากนี้ ข่าวลือเรื่องกูเกิลกับชิป ARM จะยิ่งสะท้อนว่าอาณาจักรชิป ARM กำลังขยายตัวต่อเนื่อง ที่ผ่านมาชิป ARM สามารถครองพื้นที่หลักในตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้เพราะคุณสมบัติประหยัดไฟ ซึ่งทำให้เครื่องที่ติดตั้งชิป ARM มีอายุแบตเตอรี่ที่ยาวนาน แถมยังสามารถควบคุมความร้อนได้ดีกว่าชิปคอมพิวเตอร์ โดยหากกูเกิลร่วมวงพัฒนาชิป ARM จริง ตลาดของชิป ARM ก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นในขณะที่พายส่วนแบ่งตลาดของอินเทลนั้นลดลง