ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียและแปซิฟิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (Connect Asia-Pacific Summit 2013) และงานITU Telecom World 2013 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีผู้ประกอบการเอกชนทั้งไทยและต่างชาติตบเท้าเข้าร่วมงานกว่า 33 ประเทศ 48 บูท โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณจัดงานครั้งนี้กว่า 200 ล้านบาท
คำถามที่น่าสนใจคือคนไทยจะได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกด้านไอซีทีในครั้งนี้
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที ) ระบุว่าการได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Connect Asia-Pacific Summit และงาน ITU Telecom World 2013 ในครั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมไอซีทีของไทย และตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นที่ประชาคมโลกมีต่อประเทศไทย รวมถึงความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีของโลกในอนาคต และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิตอล
อีกทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าองค์กรใดหรือประเทศใด จำเป็นต้องใช้ไอซีทีทั้งสิ้น รวมทั้งเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกดิจิตอล การที่ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนและเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ระดับโลกด้านไอซีที ทั้ง 2งานจะช่วยตอกย้ำจุดยืน และความมุ่งมั่นของประเทศที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของธุรกิจไอซีทีในภูมิภาคนี้
ขณะเดียวกันงานดังกล่าวยังช่วยให้เกิดความร่วมมือทั้งด้านนโยบาย และวิสัยทัศน์เพื่อนำไปพัฒนาประเทศและต่อยอดธุรกิจไอซีทีในประเทศไทย รวมทั้งเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องภัยพิบัติ ที่ทำให้ระบบการสื่อสาร การแจ้งเตือนภัยทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพดีขึ้น ตลอดจนสามารถใช้ระบบเตือนภัยด้วยเทคโนโลยีร่วมกันในภูมิภาคอีกด้วย
'การจัดงานทั้ง 2 งานคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดภายในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ราว 3,000 ล้านบาท จากการใช้จ่ายในประเทศประมาณ 2,600 ล้านบาท เกิดการสร้างงานในประเทศ เช่น การจ้างผู้จัดบูท บริการขนส่ง บริการด้านความปลอดภัย เป็นมูลค่าอีกประมาณ 400 ล้านบาท อีกทั้งจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจไมซ์ หรือการประชุมและแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านมูลค่า และจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยคาดว่าในปี 2557 ธุรกิจไมซ์จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 96,000 ล้านบาท และมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามาประมาณ 987,000 คน'
*** ตื่นตัวกับแนวโน้มเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้น
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพงาน Connect Asia-Pacific Summit และงาน ITU Telecom World 2013 เป็นครั้งแรกนั้นเชื่อว่าจะทำให้คนไทยตื่นตัวกับการได้รับรู้เรื่อง เทคโนโลยีทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในขณะนี้ และในอนาคต โดยเฉพาะเทคโนโลยี 4G และทีวีดิจิตอล รวมไปถึงการเตรียมตัวรองรับการก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่วิสัยทัศน์ Asia Pacific 2020 : Smartly Digital หรือทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีในอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2563 ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ประเทศไทย และนานาประเทศได้ตกลงร่วมกัน
ที่สำคัญกสทช.มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโทรคมนาคมและสารสนเทศอย่างทั่วถึงครอบคลุมบริการโทรคมนาคม ทางเสียงและข้อมูล ในมิติเชิงพื้นที่ และเชิงสังคม รวมถึงการยกระดับคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่อประชาชนผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมความเร็วสูงได้อย่างครบวงจรมากขึ้น
*** เป็นเวทีที่จะนำผู้เล่นทั่วโลกมาเจรจาหารือกัน
นายจอน เฟรดริค บัคซอส ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป ซึ่งทั้งเทเลนอร์ และดีแทค ร่วมแสดงแนวคิด ‘Internet for All’ ในงาน ITU Telecom World 2013 กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจัดเวทีการประชุมระดับโลกของ ITUในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อประเทศไทยเนื่องจากเป็นเวทีที่จะนำเอาผู้เล่นในตลาดโลกหลายๆราย มาเจรจาทางด้านธุรกิจ และสำรวจตลาดทั่วโลก พร้อมทั้งยังนำเอาผู้วางกลยุทธ์เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันภายในงาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยและประเทศไทยได้รับทราบถึงข้อมูลดังกล่าว
'ในงานนี้ ITUและสมาคม GSMA ยังจะเข้ามาหาคำตอบเช่นเดียวกันว่าตลาดโทรคมนาคมทั่วโลกจะไปในทิศทางใดใน อนาคตทำให้ประเทศไทยได้รับรู้ และเตรียมพร้อมในการรองรับได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย'
***เปิดมุมมองใหม่ให้นานาประเทศรู้จักไทย
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ประธานบอร์ด บริษัท ทีโอที กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกทั้ง 2 งานถือเป็นการยกภาพลักษณ์ประเทศไทยต่อสายตาประเทศต่างๆทั่วโลก และยังเป็นการประชาสัมพันธ์กับประเทศต่างๆที่เข้าร่วมงานให้รู้จักประเทศไทย ในมุมมองใหม่ๆมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบถึงแนวโน้มเทคโนโลยีสาร สนเทศและการสื่อสารในประเทศต่างๆทั่วโลกด้วยจากการแสดงเทคโนโลยี และการประชุมรวมไปถึงงานเสวนาต่างๆ ซึ่งถือเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงอันใกล้นี้
นอกจากนี้การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom World 2013 ยังช่วยทำให้บริษัทผู้ผลิตชั้นนำของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาแสดงความก้าวหน้า และนวัตกรรมต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการประชุมทางวิชาการ โดยมีผู้นำประเทศหรือผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานกำกับดูแลจากผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมทั่วโลกเข้าร่วมงาน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของ ทีโอที และของประเทศไทยในการแสดงศักยภาพความพร้อมของประเทศในด้านสื่อสารโทรคมนาคม สร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและส่งเสริมโอกาสในการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงเป็นการเปิดรับ และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมจากนานาประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตามก็ได้แต่หวังว่าการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกทั้ง2 งานคือ Connect Asia-Pacific Summit และงาน ITU Telecom World 2013 ครั้งนี้ ประเทศไทย และคนไทยจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยก็อาจจะมีโอกาสหารือทางธุรกิจภายในงาน แต่สิ่งที่เห็นว่าน่าจะได้ประโยชน์ที่สุดคงหนีไม่พ้นการโปรโมทประเทศไทยไปในตัวนั่นเอง ถึงประชาชนทั่วไปอาจจะมีโอกาสเข้าไปชมเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารของนานาประเทศได้เป็นจำนวนน้อยก็ตาม เพราะงานดังกล่าวไม่ได้เปิดให้เข้าชมฟรี รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ก็อาจไม่แพร่กระจายจนสร้างการรับรู้ในวงกว้างก็ตาม
Company Related Link :
ITU Telecom World 2013