การที่ไมโครซอฟท์ประกาศลอยแพระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็กซ์พี (Windows XP) ในวันที่ 8 เมษายน 2014 พร้อมกันทั่วโลก โดยยกเลิกการซัปพอร์ตทั้งออนไลน์และโทรศัพท์ พร้อมเตือนผู้ใช้ที่ไม่อัปเดตระบบปฏิบัติการระวังเรื่องความปลอดภัย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือผู้ใช้มากกว่า 5.7 ล้านรายในประเทศไทยที่ยังเป็นสาวก XP กลับมองต่างมุม เมินการซัปพอร์ตและยืนยันว่าพร้อมใช้งานต่อแม้ไมโครซอฟท์จะไม่ดูแล
ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามสำคัญที่ชาว XP ต้องตอบให้ได้ว่า ควรจะเปลี่ยนระบบปฏิบัติการตามที่ไมโครซอฟท์แนะนำ หรือสามารถใช้งาน XP ต่อไปโดยไม่ต้องสิ้นเปลือง
ชื่อระบบปฏิบัติการวินโดวส์ XP นั้นย่อมาจากคำว่า ‘Experience’ อันหมายถึง ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ เริ่มเปิดให้ใช้มานานกว่า 11 ปีและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามมาอย่างยาวนาน มากกว่าที่ระบบใดของไมโครซอฟท์จะสามารถทำได้นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าไมโครซอฟท์จะพยายามออกนโยบายกำหนดระยะเวลาการซัปพอร์ตผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรมนับตั้งแต่ปี 2002 แล้วก็ตาม แต่ความนิยมของระบบวินโดวส์ XP ก็ยังกลายเป็นหนามยอกอกที่นิยมใช้กันไม่เลิกให้ไมโครซอฟท์มาจวบจนปัจจุบัน
***คอมพ์ XP ไทย 5 ล้านเครื่อง เสี่ยงจริงไหม?
ปัจจุบันมีผู้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ XP ในไทยมากกว่า 5.7 ล้านเครื่อง โดยรวมทั้งเครื่องส่วนบุคคลและเครื่องที่ใช้อยู่ในองค์กรทั้งหมด แน่นอนว่าหากแปลเปลี่ยนเป็นเงินที่ต้องใช้สำหรับการปรับปรุงระบบปฏิบัติการอย่างที่ไมโครซอฟท์ต้องการ จะทำให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่กระเป๋าไมโครซอฟท์ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท (คำนวณจากราคาไลเซนส์วินโดวส์ 7 ราว 3,790 บาท คูณกับจำนวนเครื่อง 5.7 ล้านเครื่อง) ซึ่งไม่นับรวมราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่หากเครื่องรุ่นนั้นเก่าเกินกว่าที่จะลงระบบปฏิบัติการใหม่ได้
สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือระบบวินโดวส์ XP ได้ถูกยกเลิกการซัปพอร์ตนับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2010 ไปแล้ว สำหรับเวอร์ชันที่ต่ำกว่าวินโดวส์ XP SP3 (Service Pack 3) ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่อัปเกรดเป็น SP3 ในไทยจะมีอยู่เพียงไม่กี่เครื่องเท่านั้น เนื่องจากขั้นตอนการลงไม่สามารถอัปเดตจากระบบวินโดวส์ XP เองได้ ต้องใช้การดาวน์เกรดลงจากระบบวินโดวส์ Vista หรือลงระบบวินโดวส์ XP SP3 ใหม่เท่านั้น เท่ากับว่าวินโดวส์ XP ที่ใช้กันอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการซัปพอร์ตมาแล้วกว่า 2 ปี
แม้จะไม่ซัปพอร์ตมานาน 2 ปี แต่ไมโครซอฟท์ชี้แจงไว้บนหน้าเว็บไซต์ชัดเจนว่า ‘Windows จะยังคงใช้งานต่อได้ แม้ว่าคุณจะมี Windows XP รุ่นที่ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือ Windows Vista ที่ไม่มี Service Pack ใดๆ Windows จะยังคงสามารถเริ่มต้นและทำงานได้ตามปกติ’ อย่างไรก็ตาม การใช้งานนั้นมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยซ่อนอยู่ ทำให้บ่อยครั้งที่ไมโครซอฟท์ออกมากระทุ้ง โดยอ้างเรื่องความปลอดภัยสำหรับระบบที่ไม่ได้รับการอัปเดตในอนาคตว่าอาจจะตกอยู่ในความเสี่ยง และอาจจะส่งผลต่อธุรกิจที่ต้องดำเนินต่อไปในอนาคต
คำถามที่เกิดขึ้นคือ คอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ XP ในไทยมากกว่า 5.7 ล้านเครื่องมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจริงหรือไม่ แน่นอนว่าความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมองในความเป็นจริงแล้ว ความนิยมของระบบปฏิบัติการใหม่ควรจะหอมหวนสำหรับผู้ไม่หวังดีหรือแฮกเกอร์มากกว่ารุ่นเก่า ทำให้การฟันธงว่าระบบเก่าที่ตกรุ่นจะยังคงหอมหวนสำหรับแฮกเกอร์อย่างที่ไมโครซอฟท์กล่าวอ้าง อาจจะไม่จริงเสมอไป
แถมทางออกสำหรับการป้องกันผู้ไม่หวังดีเจาะเข้าระบบ โปรแกรมแอนติไวรัสที่มีขายอยู่ในปัจจุบันน่าจะเป็นตัวเลือกที่ผู้บริโภคเลือกใช้มากกว่าระบบความปลอดภัยที่วินโดวส์ XP จัดมาให้ ทั้งหมดนี้ทำให้การเลิกซัปพอร์ตของไมโครซอฟท์เป็นคำพูดลอยลมที่ไม่น่าจะมีผลอะไรกับผู้ใช้
***ประวิงเวลาอยู่กับ XP อย่างไร
สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องยอมรับคืออุปกรณ์ทุกชนิดมีอายุการใช้งานที่ชัดเจน การใช้ระบบปฏิบัติการหรืออุปกรณ์เก่าบางอย่างอาจจะไม่รองรับโปรแกรมรุ่นใหม่ การยืนยันใช้ระบบปฏิบัติการเก่าเพื่อคงสภาพการใช้งานจะสามารถยืดระยะเวลาได้ตราบเท่าที่อุปกรณ์นั้นยังสามารถใช้งานได้เท่านั้น และเมื่อต้องซื้อเครื่องใหม่ระบบปฏิบัติการก็จะต้องเป็นรุ่นใหม่ที่ซัปพอร์ตกัน เหล่านี้เป็นกฎตายตัวตามวงจรชีวิตของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาช้านาน
จุดสำคัญที่ต้องรู้หากต้องการอยู่กับวินโดวส์ XP ต่อไป คือผู้ใช้ควรทำการสำรองข้อมูล (Backup) เป็นระยะ และจัดหาโปรแกรมแอนติไวรัสเพื่อลดช่องโหว่ที่อาจจะโดนโจมตีจากผู้ไม่หวังดี ขณะเดียวกันก็ควรจำกัดอุปกรณ์ที่นำมาต่อพ่วงที่อาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเช่น แฟลชไดรฟ์ รวมถึงการหมั่นปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องด้วยตนเอง เช่นการล้างข้อมูลที่ไม่จำเป็น (Disk Cleanup) การจัดเรียงข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์ (Defragment)
ผู้สมัครใจใช้ XP ต่อไปควรยอมรับให้ได้ว่า ความสามารถของเครื่องอาจจะไม่พัฒนาขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ และไม่สามารถติดตั้งโปรแกรมใหม่ได้ในอนาคต แม้ว่าจะนำเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่มาลงระบบ XP ก็ตาม (หากหาไดรเวอร์ได้) เพียงเท่านี้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ลงวินโดวส์ XP ก็สามารถใช้งานต่อไปได้อีกหลายปีหรือจนกว่าเครื่องจะเสียหายกันไปข้างหนึ่ง
แต่หากใครต้องการเปลี่ยนมาใช้ระบบปฏิบัติการใหม่ นอกจากจะต้องตรวจสอบภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้ว อาจจะต้องตรวจสอบอุปกรณ์ต่อพ่วงทั้งหมดที่มีอยู่เช่นพรินเตอร์ สแกนเนอร์ กล้องเว็บแคม ฯลฯ ว่าพร้อมรองรับและสามารถหาไดรเวอร์มาลงเพื่อให้เครื่องสามารถใช้งานร่วมกันได้หรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆไม่ได้
แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของระบบปฏิบัติการ โปรแกรมใหม่ และอุปกรณ์ที่รองรับอาจจะสูงเป็นเงาตามตัว ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการอัปเดตเหล่านี้ กลายเป็นปัจจัยหลักของการตัดสินใจ
สำหรับองค์กรที่ยังคงเลือกใช้ระบบวินโดวส์ XP อยู่ด้วยสาเหตุของระบบซอฟต์แวร์ภายในที่รองรับเพียงแค่วินโดวส์ XP เท่านั้น การดูแลระบบเน็ตเวิร์กและด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนเพิ่ม เนื่องจากการทำงานปัจจุบันมีการนำอุปกรณ์ชนิดอื่นเข้าร่วมเน็ตเวิร์กอยู่บ่อยครั้ง การสร้างระบบป้องกันที่ดีก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการโจมตีจากผู้ไม่หวังดีได้ แต่กระนั้นการสำรองข้อมูลเพื่อปกป้องข้อมูลที่สำคัญหรือแม้กระทั่งการแบ็กอัพระบบไว้ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินลงทุนเพิ่มเติมมากมายนัก
***สุดท้าย XP ก็จะต้องหายไปจากตลาด
จากตัวเลขสัดส่วนระบบปฏิบัติการที่เข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตตลอดเดือน กันยายน 2556 โดย ทรูฮิตส์ พบว่ามีการใช้ Windows 7 อยู่ 40.7% รองลงมาคือ Windows XP 26.52% ตามมาด้วย iOS 16.58% ระบบ Windows 8 3.5% ระบบ Linux 2.32% ระบบ Windows Vista 0.6% และท้ายที่สุดระบบ Windows 2000 ที่สัดส่วน 0.01% จะเห็นได้ว่าความนิยมของการใช้งาน Windows XP ยังคงมีในสังคมนักท่องเน็ตชาวไทยอยู่มากพอควร สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่พร้อมจะลาจากวินโดวส์ XP ยังมีอยู่อย่างชัดเจน
แต่กระนั้นเมื่อเวลาที่อุปกรณ์ (ฮาร์ดแวร์) ทุกอย่างไม่สามารถรองรับวินโดวส์ XP ได้ ด้วยข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจาก XP ซึ่งจะไม่ได้รับการอัปเดตอีกต่อไปแล้ว ก็จะขยายขอบเขตที่จำกัดมากขึ้น ความต้องการใช้งานก็จะลดลงตามประสิทธิภาพที่ XP ให้ได้ ไม่ช้าไม่นานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ XP ก็จะหายไปจากตลาดอย่างถาวรดังที่เคยเกิดขึ้นกับวินโดวส์ 98 นั่นเอง ดังนั้นช่วงเวลาที่สามารถผ่อนผันได้นี้ควรเตรียมการระบบที่จะต้องใช้สำหรับอนาคต ทั้งในมุมของธุรกิจและเครื่องส่วนบุคคลก่อนที่วินโดวส์ XP จะสิ้นลมหายใจ
*** รู้หรือไม่ ***
- วินโดวส์ XP ถูกเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2001 สถิติเดือนมกราคม 2006 ระบุว่าไมโครซอฟท์สามารถจำหน่ายสิทธิ์ใช้งานวินโดวส์ XP มากถึง 400 ล้านไลเซนส์
- นโยบายสนับสนุนวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ถูกกำหนดว่าจะกินระยะเวลา 10 ปี (การสนับสนุนหลัก 5 ปี และการสนับสนุนเสริม 5 ปี) มีเพียงวินโดวส์ XP เท่านั้นที่ไมโครซอฟท์ถูกกดดันให้ขยายการสนับสนุนมากกว่าปกติ
- บ็อบ มูเกลีย (Bob Muglia) รองประธานกลุ่ม Windows Server Group เคยกล่าวเมื่อปี 2004 ว่าไมโครซอฟท์ตั้งเป้าออกผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการตัวหลักทุก 3-4 ปี โดยระหว่างที่เว้นว่างไปนั้นจะออกชุดอัปเดตออกมาคั่นกลางทุก 2 ปี จุดนี้วินโดวส์ XP คือระบบปฏิบัติการเดียวที่ไมโครซอฟท์ตัดสินใจออกเซอร์วิสแพ็ค (Service Pack) สำหรับวินโดวส์ XP ถึง 5 ครั้ง ได้แก่ SP1 ในช่วงกันยายน 2002, SP2 ช่วงสิงหาคม 2004 ,SP 2b ในเดือนสิงหาคม 2006, SP 2c เดือนสิงหาคม 2007 และครั้งสุดท้ายคือ SP3 เดือนเมษายน 2008
- ไมโครชอฟท์ถูกวิจารณ์ว่า การปล่อยให้วินโดวส์ XP มีวงจรชีวิตที่นานเกินไป ทำให้เกิดผลเสียเรื่องผู้ใช้คุ้นชินจนไม่อยากเปลี่ยนระบบปฏิบัติการ
- เหตุผลที่ทำให้ผู้ใช้วินโดวส์จำนวนไม่น้อยตัดสินใจเปลี่ยนระบบปฏิบัติการจาก XP มาเป็น Windows 7 และ Windows 8 คือความแพร่หลายของตลาดอุปกรณ์โมบายในยุคปัจจุบัน ซึ่ง Windows 8 ถูกพัฒนามาเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้ด้วย ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ร่วมกับหน้าจอสัมผัสได้ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้จะมีโอกาสคุ้นชินกับการทำงานทั้ง 2 รูปแบบ
Company Related Link :
ไมโครซอฟท์