xs
xsm
sm
md
lg

ปิดซื้อซองประมูลทีวีดิจิตอลชิงเดือด 33 ราย 49 ซอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กสทช.” ปิดซื้อซองประมูล “ทีวีดิจิตอล” เผยตลอด 3 วัน (10-12 ก.ย.) เอกชนแห่ซื้อซอง 33 ราย ขายซองไป 49 ซอง รวมมูลค่าเหยียบ 52 ล้านบาท โดยประเภททั่วไป SD แห่ซื้อมากสุด ตามด้วยช่องข่าว-ประเภททั่วไป HD ส่วนช่องเด็กขายซองได้น้อยสุด “ไตรรัตน์” ระบุกรณีช่อง 7 ถือว่าผิดกฎ แนะไปเคลียร์กันเอง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) ภารกิจยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ภายหลัง กสทช.เปิดให้จำหน่ายเอกสารการประมูลขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จำนวน 24 ช่อง (ซองประมูล) ตั้งแต่วันที่ 10-12 ก.ย. 2556 นั้น โดยตลอดระยะเวลา 3 วันของการจำหน่ายซองประมูลมีจำนวนผู้ประกอบการเอกชนที่สนใจเข้ามาซื้อซองรวมจำนวน 33 ราย ขายซองประมูลไปได้ 49 ซอง ตกซองละ 1,070,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ดังนั้นรวมมูลค่าการจำหน่ายซองอยู่ที่ 52,430,000 บาท โดยประเภทช่องที่มีการซื้อซองมากที่สุด คือ ประเภททั่วไป SD 17 ซอง, ประเภทข่าวสารและสาระ 12 ซอง, ประเภททั่วไป HD 12 ซอง และ ประเภทช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 8 ซอง

ทั้งนี้ การจำหน่ายเอกสารประมูลดังกล่าวนั้นเริ่มเปิดหน่ายมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในวันแรกมีผู้ประกอบการเอกชนที่สนใจเข้าซื้อซอง 8 ราย 11 ซอง ได้แก่ 1. บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 โดยได้ยื่นซื้อซองประมูลทีวีดิจิตอลประเภททั่วไป (วาไรตี้) ความคมชัดสูง (HD) 2. บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น ในเครือ ช่อง7 ยื่นซื้อซองประเภททั่วไป (วาไรตี้) ความคมชัดมาตรฐาน(SD) 3. บริษัท โรสมีเดียแอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ยื่นซื้อซองประมูลช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว 4. บริษัท ทัช ทีวี ในเครือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น กลุ่มอินทัช ยื่นซื้อซองประเภททั่วไป SD 5. บริษัท โพสต์ ทีวี ในเครือบริษัท โพสต์ พลับลิชชิ่ง เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ยื่นซื้อซองประเภทข่าวสารและสาระ 6. บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี ในเครือจีเอ็มจีเอ็มแกรมมี่ ยื่นซื้อซองประเภททั่วไป HD 7. บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี ในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ยื่นซื้อซองประเภททั่วไป SD และ 8. บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย หรือกลุ่มสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เดินทางมายื่นซื้อซองประมูลทั้งหมด 4 ซองได้แก่ประเภททั่วไป SD, ประเภททั่วไป HD, ประเภทข่าวสารและสาระ และประเภทช่องเด็กเยาวชน และครอบครัว

ส่วนในวันที่ 2 วันที่ 11 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการจำหน่ายซองประมูลกลับคึกคักกว่าในวันแรกโดยมีผู้ประกอบการแห่เข้ามาซื้อซองประมูลมากถึง 16 ราย 23 ซอง ประกอบไปด้วย 1. บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ซึ่งเข้ามาซื้อ 2 ซองได้แก่ประเภทข่าวสารและสาระ และประเภททั่วไป SD 2. บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (เครือ บริษัท เวิร์คพ้อยท์ จำกัด (มหาชน) ซื้อ 2 ซองคือประเภททั่วไป SD และประเภททั่วไป HD 3. บริษัท สปริงส์นิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ซื้อซองประเภทข่าวสารและสาระ 4. บริษัท ไทยทีวี จำกัด (เครือนิตยสารทีวีพูล) ซื้อ 3 ซอง คือ ประเภทช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ,ประเภทข่าวสารและสาระ และประเภททั่วไป SD 5. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซื้อ 3 ซอง ได้แก่ประเภทเด็ก เยาวชน และครอบครัว ,ซองประเภททั่วไป SD และประเภททั่วไป HD 6.บริษัท บางกอกมีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (กลุ่มปราสาททองโอสถ : บางกอกแอร์เวย์ส) ซื้อ 2 ซอง คือ ช่องประเภททั่วไป SD และประเภททั่วไป HD

7. บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด กลุ่มบริษัท จัสมิน จำกัด (มหาชน) ซื้อซองช่องประเภททั่วไป SD 8. บริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด ซื้อซองช่องข่าว 9.บริษัท โมโน ทีวี จำกัด ซื้อซองช่องประเภททั่วไป HD 10. บริษัท เนชั่น คิดส์ จำกัด ซื้อซองช่องเด็ก 11.บริษัท เอ็นบีซี เน๊กซ์ วิชั่น จำกัด ซื้อซองช่องข่าว 12. บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ซื้อซองช่องประเภททั่วไป HD 13. บริษัท ไอ-สปอร์ต มีเดีย จำกัด (สยามกีฬา) ซื้อซองช่องข่าว 14. บริษัท 3เอ.มาร์เก๊ตติ้ง จำกัด ซื้อซองช่องข่าว และ 15. บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด บริษัทในเครือหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซื้อซองข่าวสารและสาระ และ 16. บริษัท ทัช ทีวี จำกัด ซื้อซองช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว

ขณะที่ในวันสุดท้ายของการเปิดจำหน่ายการซื้อซองประมูลนั้น มีผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาซื้อซองเพิ่มอีกจำนวน 10 ราย จำนวนซองประมูลที่ขายไปอีก 15 ซอง โดยในช่วงเช้ารายแรกที่เข้ามาซื้อ คือ บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด ได้เข้ามาซื้อ 3 ซอง ได้แก่ ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว, ประเภททั่วไป SD และประเภททั่วไป HD 2. บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทรู โดยเข้ามาซื้อซองประเภทช่องข่าวสารและสาระเพิ่มอีก1ซอง 3. บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด ซื้อซองประเภททั่วไป SD และ 4.บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ซื้อ 2 ซองคือประเภททั่วไป SD และประเภททั่วไป HD

และในช่วงบ่ายมีบริษัทที่ 5 คือ บริษัท จันทร์ 25 จำกัด ซึ่งมีนางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ เป็นเจ้าของบริษัท โดยเข้ามาซื้อ 1 ซองประเภททั่วไป HD 6. บริษัท ทริปเปิ้ล วี บรอดคลาส (ไทยรัฐทีวี) ซื้อซอง 3 ซอง ได้แก่ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ,ประเภททั่วไป SD และประเภททั่วไป HD 7. บริษัท พีเอ็มกรุ๊ป จำกัด ซื้อซองประเภททั่่วไป HD 8. บริษัท โฟนวันเอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซื้อประเภททั่วไป SD และช่องทั่วไป HD 9. บริษัท แอ๊คทีฟโพสต์ จำกัด ซื้อช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 10. บริษัท เอ็นทีซี จำกัด ซื้อซองประเภททั่วไป SD

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนต่อไปหลังจากการจำหน่ายเอกสารการประมูลแล้วทางสำนักงาน กสทช.จะดำเนินการจัดประชุมชี้แจงหลังจำหน่ายเอกสารการประมูลในวันที่ 15 ต.ค. 2556 จากนั้นในวันที่ 28-29 ต.ค. กสทช.จะเปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามายื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อไป และโดยหลังจากนั้นภายใน 45 วันจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการประมูล โดยทาง กสทช.ประมาณการณ์เอาไว้ว่าจะสามารถเริ่มเปิดได้ประมูลในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2556 นี้

นอกจากนี้ นายไตรรัตน์กล่าวถึงกรณีที่บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) และบริษัท จันทร์ 25 จำกัด เข้ามาซื้อซองประเภททั่วไป HD ประเภทเดียวกันถึง 2 ซอง ทั้งที่นางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ในฐานะเป็นเจ้าของบริษัท จันทร์ 25 และยังคงมีการถือหุ้นช่อง 7 อยู่ 21% นั้นซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎการประมูลโดยตรงอยู่แล้ว ทั้งนี้คงต้องรอให้ทั้งสองบริษัทไปตกลงกันเองต่อไป

“สำหรับกรณีผิดกฎการประมูลนั้นมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1. บริษัทเดียวกันห้ามซื้อซองประมูลประเภทเดียวกัน 2. ห้ามถือหุ้นไขว้เกิน 10% 3. ห้ามผู้ประกอบการรายเดียวเข้าประมูลประเภท HD และประเภทข่าวสารและสาระ”

ขณะเดียวกัน ในวันขายซองประมูลวันสุดท้าย นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นหนังสือ ถึง กสทช. โดยมีนายไตรรัตน์ วิริยะกุล รองเลขาธิการ กสทช. ต่อกรณีการประชุมใหญ่สามัญภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของสหพันธ์สหภาพแรงงานโลกภาคอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน และการบันเทิงสากล หรือยูนิเม (UNI MEI) ที่มีการประชุมร่วมกับผู้แทนสหภาพแรงงานจากสาขาสื่อมวลชน และผู้แทนสหภาพแรงงานจากสาขาสื่อสารมวลชน รวม 18 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการประชุมดังกล่าวแสดงความกังวลกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ทีวีดิจิตอลในประเทศไทย ที่กำลังจะมีการประมูลทีวีดิจิตอลภายใต้การดำเนินงานของ กสทช.เนื่องจากการดำเนินการขาดความเท่าเทียม ทั้งในส่วนของทีวีสาธารณะ และทีวีภาคธุรกิจ ทำให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์ต้องเน้นไปที่การลงทุนกับเทคโนโลยี

อีกทั้งช่องสาธารณะมีการร่างกฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดการผูกขาด เจาะจงให้กับผู้ดำเนินการจำนวนหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งในต่างประเทศหลายๆ ประเทศใช้วิธีเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้เสนอเนื้อหาและผังรายการ โดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล

อย่างไรก็ดี อสมท เองก็ซื้อซองประมูล และมีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมประมูลเนื่องจาก กสทช.เลือกวิธีการเปลี่ยนผ่านอนาล็อคสู่ดิจิตอลเป็นการประมูล และกสทช.ให้ความสำคัญในเรื่องของใบอนุญาตที่มีราคาแพงมากกว่าสิทธิประโยชน์ของผู้ให้บริการ ในขณะที่ต่างประเทศทั่วโลกไม่ใช้การประมูลแต่ใช้การบิวตี้คอนเทสต์ ประกวดคุณสมบัติแทน

“เราไม่มีความตั้งใจที่จะล้มการประมูล แต่หาก กสทช.ยังมีจุดยืนที่จะประมูลก็จะนำไปสู่การขอความเป็นธรรมในชั้นศาล ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะยื่นฟ้อง”

Company Relate Link :
กสทช.






กำลังโหลดความคิดเห็น