ทันทีที่เครือข่ายสังคมภาพถ่ายอย่างอินสตาแกรม (Instagram) เปิดให้โพสต์ภาพวิดีโอ ปรากฏว่าสาวกอินสตาแกรมพร้อมใจกันอัปโหลดวิดีโอมากกว่า 5 ล้านคลิปแล้วในเวลา 24 ชั่วโมงแรก โดยหากนำคลิปวิดีโอบนอินสตาแกรมช่วงที่มีการใช้งานมากที่สุดในสหรัฐฯมาเรียงต่อกัน จะพบว่ามีความยาวสูงสุดนับได้ 40 ชั่วโมงต่อนาที
แต่ท่ามกลางแรงสนับสนุนท่วมท้น กลับมีผู้ใช้บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาความสามารถนี้ พร้อมกับบอกว่าจะเลือกปิดความสามารถในการเล่นวิดีโออัตโนมัติ เพื่อให้สามารถชมภาพวิดีโอนั้นเป็นภาพนิ่งสไตล์อินสตาแกรมต่อไป
คำถามที่เกิดขึ้นตอนนี้คือคุณสมบัติวิดีโอนั้นจะทำให้อินสตาแกรมรุ่งจริงหรือไม่ในระยะยาว? หรือจะเป็นแค่พลุที่สว่างไสวชั่วคราวแล้วก็ดับไปเหมือนประวัติศาสตร์ของหลายบริการ
เฟซบุ๊ก (Facebook) นั้นเปิดตัวความสามารถใหม่ในเครือข่ายสังคมอินสตาแกรมที่งานประชุมสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมาที่สำนักงานใหญ่ใน Menlo Park ความสามารถใหม่จะทำให้ชาวอินสตาแกรมสามารถสร้างวิดีโอความยาว 3-15 วินาที โดยจะเลือกตกแต่งภาพด้วยการใส่ฟิลเตอร์ 1 ใน 13 ฟิลเตอร์ที่ระบบเตรียมให้ แล้วสามารถส่งต่อวิดีโอนั้นถึงเพื่อนหรือผู้ติดตามได้ตามต้องการ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่ชาวอินสตาแกรมจะสามารถตกแต่งภาพถ่ายแล้วส่งไปให้เพื่อนชมเป็นภาพนิ่ง โดยวิดีโอจะแสดงผลไว้ในรายการฟีดพร้อมกับภาพนิ่งทั่วไป
หากมองในแง่ความสำเร็จ ต้องยอมรับว่าอินสตาแกรมสามารถสร้างความอยากรู้อยากลองในกลุ่มผู้ใช้ทั่วโลกได้ในพริบตา จุดนี้สำนักข่าวซีเน็ตรายงานว่าผู้ใช้อินสตาแกรมจำนวนมากจากผู้ใช้ทั้งหมด 130 ล้านคนทั่วโลกพร้อมใจเข้าไปอัปโหลดวิดีโอสู่เครือข่ายในช่วง 8 ชั่วโมงแรกที่บริการเปิดตัว โดยหากนับรวมความยาวของวิดีโอทั้งหมด จะพบว่าต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีจึงจะสามารถชมวิดีโอครบหมดทั้งคลิป
รายงานระบุว่าในช่วงที่มีการใช้งานคุณสมบัติอัปโหลดวิดีโอบนอินสตาแกรมสูงที่สุดใน 24 ชั่วโมงแรก พบว่าผู้ใช้แห่ดาวน์โหลดวิดีโอความยาวมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อนาที โดยเป็นช่วงเวลาที่ทีม Miami Heat ดวลกับ San Antonio Spurs ในศึกชิงชนะเลิศ NBA Finals เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลจากประชาสัมพันธ์อินสตาแกรมสะท้อนว่าอินสตาแกรมสามารถนำความสามารถในการแชร์ข้อมูลผ่านวิดีโอสู่ผู้บริโภควงกว้างได้รวดเร็วเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์การเปิดคุณสมบัติวิดีโอบนแอปพลิเคชันอื่นที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม บริการแชร์วิดีโอของอินสตาแกรมไม่ได้เป็นที่ปลาบปลื้มของนักวิจารณ์ทุกคน โดย John Gruber บล็อกเกอร์ชื่อดังของสหรัฐฯกลับมองว่าการรองรับวิดีโอทำให้อินสตาแกรมด้อยค่าลง เพราะการแสดงผลวิดีโอบนอินสตาแกรมนั้นโหลดช้า แถมยังทำให้อินสตาแกรมขาดจุดยืนเรื่องความเรียบง่ายและการให้ความสำคัญกับภาพนิ่งไป
จุดนี้บล็อกเกอร์อเมริกันระบุว่า โชคดีที่อินสตาแกรมเปิดให้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าปิดการเล่นวิดีโออัตโนมัติหรือ 'Auto-Play Videos' ได้ ซึ่งเขาเองสมัครใจปิดความสามารถนี้ไป
แต่ไม่แน่ คนทั่วไปอาจไม่เลือกปิดความสามารถนี้ เพราะกลุ่มคนผู้เริ่มแชร์ภาพวิดีโอบนอินสตาแกรมล้วนเป็นกลุ่มผู้มีชื่อเสียงหรือเหล่าเซเลบฯอย่างจัสติน บีเบอร์, จิมมี แฟลลอน รวมถึงแบรนด์ดังหลายสาขาอย่างผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่าย Cisco, ผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า GE และแบรนด์แฟชันอย่าง Gap เช่นเดียวกับทีมกีฬาในลีคใหญ่อย่าง Yankees, Giants, Dodgers และ 49ers ซึ่งล้วนให้ความรู้สึกน่าติดตามสำหรับผู้ชื่นชอบ
ดังนั้น เกมนี้จึงยังต้องรอเวลาชี้ชะตาในอนาคต ว่าบริการวิดีโอบนอินสตาแกรมจะได้รับความนิยมต่อไปหรือจะค่อยๆเสื่อมความนิยมลง แต่สิ่งเดียวที่แน่นอนในขณะนี้คืออิทธิพลของสังคมการแชร์หรือส่งต่อวิดีโอที่นับวันจะขยายตัวไปทั่วคนทุกกลุ่ม ซึ่งทำให้อินสตาแกรมต้องปรับตัวเพื่อสู้กับทวิตเตอร์ (Twitter) ที่ส่งบริการ Vine ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ จนได้รับความสำเร็จงดงาม
ใครสนใจ สามารถทดลองชมภาพวิดีโอแปลกตาบนอินสตาแกรมได้ที่ http://instagram.com/