บอร์ด กสท.มีมติเลือก บริษัท กสท โทรคมนาคม จัดการประมูลแบบอีออกชันทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่องต.ค.นี้ พร้อมสั่งสำนักงาน กสทช.ดูโทษ “อาร์เอส” กรณีช่อง 8 แพร่ภาพรายการผิดศีลธรรม
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสท.วันนี้ (27 พ.ค.) มีมติพิจารณาเห็นชอบเลือกบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ.... จำนวน 24 ช่องประเภทบริการธุรกิจ และจัดหาอุปกรณ์ รวมถึงซอฟต์แวร์การประมูล หรือ ผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ซึ่งจะประมูลในช่วงเดือน ต.ค. 2556 นี้
โดยในเบื้องต้นบอร์ด กสท.ยังได้ให้สำนักงาน กสทช.ไปดำเนินการตรวจสอบว่า กสท มีความเกี่ยวข้องในการประมูลครั้งนี้หรือไม่ และมีผลได้ผลเสียต่อการประมูลด้วยหรือไม่ เพราะหากตรวจสอบและพบว่าเกี่ยวข้องก็จะโดนตัดสิทธิในการเลือกเป็นตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ทันที
“ส่วนกรณีที่ กสท เข้ามาขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทสิ่งอำนวยความสะดวกกับ กสท.นั้นถือว่าไม่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการประมูลประเภทธุรกิจจึงสามารถดำเนินการได้”
สาเหตุที่บอร์ด กสท.เลือก กสท ทำอีออกชันเนื่องจากมีประสบการณ์จัดการประมูลมามากกว่า 7-8 ปี และผ่านการประมูลมาถึง 80,000 ครั้ง และที่สำคัญที่สุดได้เป็นผู้จัดการประมูลศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีมูลค่าประมูล 20,000 ล้านบาท
สำหรับงบการประมูลในครั้งนี้บอร์ด กสท.คาดว่าจะไม่สูงถึงหลัก 10 ล้านบาท เนื่องจากการประมูลโดยทั่วไปใช้มูลค่าเพียง 20,000 บาทเท่านั้น แต่ครั้งนี้จะให้ซอฟต์แวร์และเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับสูงซึ่งจะมีราคาแพงกว่าเดิม พร้อมทั้งการประมูลในครั้งนี้จะมีการดำเนินการถ่ายทอดสดในโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบปกติ (ฟรีทีวี) เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสด้วย
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิดำเนินการจัดประกวดราคาแบบอีออกชันตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีออกชัน) พ.ศ. 2549 จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท บีส ไดเมนชั่น 2. บริษัท ไอซีเอ็น ซิสเต็มส์ 3. บริษัท กสท โทรคมนาคม 4. บริษัท ป็อบ เนทเวอร์ค 5. บริษัท พันธวณิช 6. บริษัท สวนกุหลาบ เซอรารี่ซิล 7. บริษัท นิวตรอน การประมูล 8. บริษัท ฟรีอินเตอร์เน็ท และ 9. บริษัท ทีโอที
ที่ประชุมยังมีมติตามที่คณะอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการ ที่ได้มีมติก่อนหน้านี้ว่า รายการปากโป้ง ซึ่งเป็นรายการทางสถานีทีวีดาวเทียมช่อง 8 โดยผู้รับใบอนุญาต บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มีการออกอากาศเข้าข่ายผิดมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยเนื้อหารายการขัดต่อศีลธรรม ซึ่งบอร์ด กสท.ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.ไปพิจารณากระบวนการลงโทษแล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุมบอร์ดอีกครั้ง โดยให้สำนักงาน กสทช.ไปทบทวนโทษทางปกครอง โดยมีโทษตั้งแต่ตักเตือน ปรับ และเพิกถอนใบอนุญาต
อนึ่ง รายการปากโป้งออกอากาศเมื่อเดือน ม.ค. 2556 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาสาระในรายการดังกล่าวได้มีการซักถามผู้ร่วมรายการที่เป็นเด็กออทิสติกที่โดนล่วงละเมิดทางเพศ และพิธีกรในรายการซักผู้เสียหาย โดยลงลึกในรายละเอียดของเหตุการณ์ โดยรายการดังกล่าวมีผู้ร้องเรียน และคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหา และผังรายการได้ตรวจสอบ และเชิญบริษัท อาร์เอส เข้ามาชี้แจงกรณีดังกล่าวแล้ว โดยคณะอนุกรรมการเนื้อหามีความเห็นว่า การสัมภาษณ์ขัดศีลธรรม ฉะนั้นจะต้องกำชับไปยังผู้อำนวยการสถานี และผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ให้ตระหนักถึงเนื้อหารายการที่ต้องไม่ขัดศีลธรรม และไม่ขัดกฎหมายด้วย
Company Relate Link :
กสทช.