xs
xsm
sm
md
lg

3G แข่งเดือด!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปรียบมวย สังเวียน 3G 3 ค่ายมือถือแข่งเดือด เอไอเอสยกทัพหลวง 7 หมื่นล้านทุ่มลงเครือข่าย 3G 2.1 GHz ใช้เวลาแค่ 5 เดือนติดตั้ง 5 พันสถานีฐานคลุม กทม.และ 20 จังหวัด ด้านทรูมูฟ เอช ชู 4G ต่อยอดบริการสร้างความแตกต่าง ส่วนดีแทครีเฟรชแบรนด์ ผนึก 3 ความถี่ด้วยบริการ TriNet ทุ่ม 3.4 หมื่นล้านสู่บริบทใหม่ New DTAC ERA “Internet for All”



จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ปัจจุบันดีแทคให้บริการ 3G บนคลื่น 850 MHz ให้พื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบเปิดให้บริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz มากนัก เพียงแต่จะเป็นการนำโครงข่ายเข้ามาเสริมเพื่อให้บริการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ปัจจุบันดีแทคได้ติดตั้งสถานีฐาน 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ไปแล้วราว 1,100 สถานีฐาน และวางแผนไว้ว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 5,000 สถานีฐาน ขณะที่ในมุมของการครอบคลุมประชากร ปัจจุบันดีแทคติดตั้ง 3G บนคลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 5,200 สถานีฐาน ซึ่งครอบคลุมแล้ว 60-65% ส่วน 2.1 GHz ถ้าติดตั้งได้ตามแผนที่วางไว้ ภายในไตรมาส 3 จะครอบคลุม 30% และถึงสิ้นปีจะครอบคลุม 50% ของประชากร



สำหรับงบลงทุนโครงข่ายจนถึงปี 2558 วางไว้ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเฉพาะปีนี้ที่ 1.25 หมื่นล้านบาท ขณะที่งบในการทำตลาดรวมจะตกอยู่ไตรมาสละ 200 ล้านบาท ซึ่งวางเป้าหมายในการเพิ่มลูกค้าที่ใช้งาน 3G เป็น 10 ล้านราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.5 ล้านราย

ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการตลาด ดีแทค ให้ข้อมูลเสริมว่า ลูกค้า 3G 10 ล้านรายในปีนี้จะแบ่งสัดส่วนระหว่างลูกค้าในดีแทค 40% และลูกค้าในบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค (DTN) ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาต 2.1 GHz ประมาณ 60% โดยการย้ายลูกค้าจะใช้วิธีการย้ายผ่านเคลียริ่งเฮาส์ปกติ ไม่ได้ทำการย้ายล่วงหน้าภายในเครือข่ายแต่อย่างใดเพราะสัมปทานของดีแทคยังเหลืออยู่อีกหลายปี

นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่จะเปิดให้บริการ TriNet อย่างเป็นทางการ ดีแทคจะวางจำหน่ายโทรศัพท์ภายใต้แบรนด์ของตนเอง 3 รุ่น แบ่งเป็นฟีเจอร์โฟน 1 รุ่น และสมาร์ทโฟน 2 รุ่น ที่รองรับการใช้งาน TriNet เต็มรูปแบบ จากการรับจ้างผลิตของหัวเว่ย ภายใต้จุดประสงค์หลักคือให้คนไทยทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม

ในส่วนของแพกเกจให้บริการ 3G 2.1 GHz ของดีแทค จะมีการเพิ่มแพกเกจใหม่ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกจับคู่การใช้อินเทอร์เน็ตและ โทร.ได้ตามการใช้งานจริง โดยอยู่บนฐานของ 3 ตัวเลือกหลักในแต่ละมุม คือ การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็ว 3G ได้ 750 MB ที่ราคา 249 บาท 1.5 GB ที่ราคา 349 บาท และ 3 GB 449 บาท คู่กับ โทร.ฟรีทุกเครือข่าย 250 นาที 400 นาที และ 800 นาที ในระดับราคา 180 บาท 300 บาท และ 500 บาทตามลำดับ

“ก่อนหน้านี้ผู้บริโภคจะไม่ได้เห็นแพกเกจที่ โทร.น้อย ใช้เน็ตเยอะ หรือ โทร.เยอะ ใช้เน็ตน้อย แต่จากแพกเกจใหม่ของดีแทค ตามแนวคิด More Choice จะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้งานมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของการปรับลดราคา 15% อยากให้มองเทียบกับแพกเกจราคาปกติ ไม่ใช่ราคาโปรโมชันเฉพาะช่วงเวลา”

***ทรูมูฟเอชข่ม 4G รายแรก

ด้านทรูมูฟ เอช ที่มองว่าใบอนุญาต 2.1 GHz สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ (Neutral Technology) รวมถึงปัจจุบันทรูมูฟ เอช ได้ให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 850 MHz ได้ครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะนำเทคโนโลยีทางการสื่อสารไร้สายยุคล่าสุดอย่าง 4G LTE มาให้บริการ



ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า จะเลือกนำ 4G LTE มาให้บริการเฉพาะบริเวณที่มีปริมาณการใช้งานดาต้าหนาแน่น ทำให้เลือกพื้นที่ในการติดตั้งจำนวน 2,000 สถานีฐานไว้ 15 หัวเมืองในปีนี้เท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นก็จะทยอยติดตั้งสถานีฐาน 3G บนคลื่น 2.1 GHz เข้ามาเสริมกับการให้บริการ 3G คลื่น 850 MHz ในปัจจุบัน

ส่งผลให้วัตถุดิบที่ทรูมูฟ เอชมีอยู่ในมือประกอบไปด้วยการให้บริการ 3G 850 MHz จากบริษัท เรียลมูฟ ที่เป็นสัญญาโครงการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ 3G HSPA ระหว่าง กสท โทรคมนาคม กับกลุ่มทรู และใบอนุญาต 2.1 GHz จาก กสทช.ของบริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด มาให้บริการทั้ง 3G และ 4G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ในประเทศไทย

ในขณะที่แพกเกจการให้บริการ 3G นั้น ก่อนหน้านี้ทรูมูฟ เอช ได้มีการเปิดตัวแพกเกจใหม่ในกลุ่ม iTalk iNet iSmart และ iPlay ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแพกเกจดังกล่าวจะนำมาใช้กับการให้บริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz ด้วย และทางผู้บริหารก็ยืนยันเช่นกันว่าทำตามข้อกำหนดของ กสทช.เรียบร้อยแล้ว



แต่สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปของการให้บริการ 4G ของทรูมูฟ เอช คือการเปิดตัวราคาแพกเกจในช่วงแรกที่ประกอบไปด้วยระดับราคา 699 บาท 899 บาท และ 1,099 บาท ที่ให้ปริมาณการใช้งานความเร็วสูงสุดของ 4G ก่อนจะปรับความเร็วลดลงเหลือ 128 Kbps ที่ 2 GB 3 GB และ 4 GB ตามลำดับ เพราะในงานเปิดตัวได้มีการแสดงระยะเวลาที่ใช้ในการดาวน์โหลดไฟล์ขนาด 25 GB ด้วยความเร็วสูงสุดของ 4G ปรากฏว่าใช้เวลาเพียง 6.15 นาที ซึ่งถ้ามีการนำไปใช้งานจริงแบบผิดประเภทขึ้นมา ผู้บริโภครายนั้นคงเศร้าใจกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ระหว่างรอบบิลนั้นทันที

***3G 2100 ตัวจริง มาตรฐานโลก

ปิดท้ายที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) หลังจากที่บริษัทลูกอย่าง แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ได้ใบอนุญาตก็เริ่มเดินหน้าลงทุนติดตั้งสถานีฐานเพื่อให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ทันที

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ จากช่วงเวลา 4-5 เดือนหลังได้รับใบอนุญาตก็สามารถติดตั้งโครงข่ายได้กว่า 5,000 สถานีฐาน ครอบคลุม 20 จังหวัด และให้คำมั่นว่าหลังจากนี้จะมีการติดตั้งสถานีฐานเพิ่มเดือนละกว่า 800 สถานีฐาน เพื่อให้จนถึงสิ้นปีจะติดตั้งได้กว่า 11,000 สถานีฐานซึ่งจะครอบคลุม 77 จังหวัด หรือคิดเป็น 70% ของประชากร ก่อนขยายให้ครอบคลุม 90% ของประชากรในช่วงปี 2557



วิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ในช่วงเวลา 4-5 เดือนเอไอเอส สามารถให้บริการ 3G 2.1 GHz ได้ครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรแล้ว ดังนั้นจึงเร็วกว่าข้อกำหนดที่ กสทช.ตั้งไว้ว่าต้องครอบคลุม 50% ภายใน 2 ปีแรก และ 80% ภายใน 4 ปี



ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเปิดให้ลูกค้าที่สนใจลงทะเบียนขอรับการอัปเกรดจากเครือข่ายเดิมเป็นเครือข่ายใหม่ในช่วงต้นเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีมากกว่า 1.7 ล้านราย ซึ่งเอไอเอสก็ได้เร่งดำเนินการอัปเกรดให้แก่ลูกค้าได้กว่า 8 แสนเลขหมายในปัจจุบัน และได้เปิดให้ลูกค้าที่สนใจทยอยเข้าไปทำเรื่องอัปเกรดเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการได้ทันที หลังจากที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

มื่อผ่านเงื่อนไขลำดับแรกแล้ว สิ่งที่เอไอเอสเดินหน้าต่อไปคือการออกแพกเกจการใช้งานสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการ AIS 3G 2100 ใหม่ทั้งหมด โดยคิดคำนวณจากค่าบริการเดิมที่ใช้ในวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ซึ่ง กสทช.ได้เก็บข้อมูลเพื่อหาค่าเฉลี่ยของโปรโมชัน ในการคำนวณว่าโปรโมชันที่ออกใหม่บน 2.1 GHz จะต้องมีอัตราค่าบริการลดลง 15%




เพียงแต่เอไอเอส รวมถึงอีก 2 ค่ายที่เหลือเลือกใช้วิธีการเพิ่มปริมาณในการใช้งาน แต่ยังคงระดับราคาเท่าเดิมไว้ ซึ่งถ้าลองดูรายละเอียดเปรียบเทียบแล้วก็จะพบว่ามีมูลค่ามากกว่า 15% ตามที่ กสทช.กำหนดไว้ ในขณะที่ทาง กสทช.ก็ยังไม่มีการเปิดเผยถึงค่าเฉลี่ยที่เก็บข้อมูลไป ทำผู้บริโภคส่วนหนึ่งเกิดความสงสัยว่าได้มีการปรับลดราคาหรือไม่

Company Related Link :
DTAC
TruemoveH
AIS









กำลังโหลดความคิดเห็น