น้อยคนที่จะรู้จักถึงที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์แต่ละแบรนด์ว่าเป็นมาอย่างไร และหลายสิ่งหลายอย่างเป็นการพัฒนาที่ต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิม อย่างบราเดอร์ที่สร้างชื่อจากจักรเย็บผ้าที่แม่บ้านคุ้นเคย มาเป็นเครื่องพิมพ์ดีด มาเป็นพรินเตอร์ โดยอาศัยหลักการทำงานของอุปกรณ์ภายในที่เหมือนกันแต่สามารถสร้างสินค้าที่แตกต่างกันออกไป และยังมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่องไม่ได้แยกแบรนด์
บราเธอร์ถือกำเนิด ในปี 1928 เมื่อพี่น้องตระกูล Yasui ผลิตจักรเย็บผ้าเพื่อใช้ในการเย็บหมวกฟางจำหน่ายในญี่ปุ่นเป็นรายแรก ภายใต้เครื่องหมายการค้า 'BROTHER' โดยมีโรงงานที่ Mizuho Ward Nag เมือง Nagoya เป็นฐานการผลิตสินค้าส่วนใหญ่ของบราเดอร์สำหรับขายภายในญี่ปุ่น ซึ่งยังคงใช้งานจนถึงทุกวันนี้ หลังธุรกิจจักรเย็บผ้าประสบความสำเร็จ จึงได้มีการก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด บราเดอร์เซลส์ ขึ้นเพื่อทำการบุกเบิกช่องทางการจำหน่ายในญี่ปุ่น และได้มีการพัฒนาจักรเย็บผ้าให้เป็นอุตสาหกรรมการส่งออกด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาการผลิตจนต่อยอดไปสู่เครื่องถักนิตติ้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งบริษัท Brother International Corporation เพื่อการส่งออกโดยมีตลาดสำคัญอยู่ที่นิวยอร์คและไอร์แลนด์
***ก้าวสู่เครื่องพิมพ์ดีดก่อนบุกพรินเตอร์
การเริ่มส่งออกทำให้บราเดอร์พัฒนาสินค้าเป็นเครื่องพิมพ์ดีด และเข้าสู่ตลาดอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ ทำให้บราเดอร์มีชื่อเสียงในตลาดอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ต่อมาในปี 1961 สำนักงานใหญ่ของบราเดอร์ที่ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนชื่อจาก Nippon Sewing Machine manufacturing Company มาใช้ชื่อ Brother Industries Ltd. และในปี 1964 บราเดอร์ได้สนับสนุนเครื่องพิมพ์ดีด จำนวน 300 เครื่องให้แก่สื่อมวลชนในการรายงานผลการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ซึ่งช่วยให้บราเดอร์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
บราเดอร์ได้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดในภาษาต่าง ๆ ถึง 20 ภาษา โดยส่งออกไปยัง 110 ประเทศทั่วโลก ควบคู่ไปกับการผลิตจักรเย็บผ้านั้นเครื่องพิมพ์ดีดก็กลายเป็นสินค้าสำคัญของบราเดอร์ในการทำธุรกิจส่งออกเช่นกัน หลังจากประสบความสำเร็จในผลิตภัณฑ์เหล่านั้น บราเดอร์ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีส่วนช่วยโดยในปี 1971 บราเดอร์เป็นผู้ผลิตรายแรกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าความเร็วสูงแบบ dot-matrix
ในปี 1980 ได้พัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้ารุ่น EM-1 สำหรับใช้ในสำนักงานด้วยการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยจานอักขระ (Daisy wheel) โดยมีมอเตอร์ไฟฟ้าดึงเป็นแนวตรง จากนั้นจึงวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบการพิมพ์ฉลาก ด้วยการใช้เทคโนโลยีการส่งผ่านโดยอาศัยความร้อน(Thermal) ในการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลและโปรแกรมการประมวลผลข้อความภาษาญี่ปุ่น ในปี 1987 บราเดอร์ได้รุกเข้าสู่ตลาดเครื่องโทรสาร ซึ่งทำให้บราเดอร์เข้าสู่ธุรกิจข้อมูลและอุปกรณ์การสื่อสารและอย่างเต็มตัว
ในปี 1995 บราเดอร์ได้ทำตลาด Laser Digital Multi-Function Center โดยได้มีการรวมเอาเครื่องถ่ายเอกสาร โทรสารและเครื่องพิมพ์เข้าไว้ในเครื่องเดียวกัน ช่วงนี้บราเดอร์ได้เปิดตัว Color Inkjet Digital Multi-Function Center นับได้ว่าบราเดอร์ได้ขยายเข้าสู่ตลาดอุปกรณ์การสื่อสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
***จักรเย็บผ้า-พรินเตอร์ ทำตลาดร่วมกัน
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ บราเดอร์ไม่ได้ทิ้งหรือแยกบริษัทเพื่อทำตลาดในแต่ละชนิด แต่ได้รวมทุกอย่างอยู่ในองค์กรเดียว โดยปัจจุบันบราเดอร์ได้มีการจัดแบ่งธุรกิจด้วยการมุ่งเน้นใน 3 กลุ่ม คือ 1.Printing & Solutions (P & S) ประกอบไปด้วย เครื่องพิมพ์, เครื่องมัลติฟังก์ชั่น, โทรสาร, เครื่องพิมพ์ฉลาก P-Touch 2.Personal & Home (P & H) จักรเย็บผ้า 3.Machinery & Solution (M & S) จักรเย็บผ้าอุตสาหกรรม, เครื่องกลึง/ตัดโลหะ
โดยที่กลุ่ม Printing & Solutionsดูแลผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์ โดยจะทำการพัฒนาและออกแบบอุปกรณ์สำนักงานที่เหมาะสมกับการใช้ภายในสำนักงานขนาดเล็ก หรือการใช้งานภายในบ้านให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและการใช้งานในแต่ละแผนกของบริษัท ถูกออกแบบและปรับปรุงให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประสิทธิผลและความสะดวกสบายในการใช้งาน
กลุ่มPersonal & Home มีหน้าที่ผลิตจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ในการเย็บปักถักร้อย ให้ผู้ใช้รู้สึกสนุกและง่ายในการใช้งาน เพื่อรองรับจินตนาการสร้างสรรค์งานด้วยตัวเอง
กลุ่ม Machinery & Solution บราเดอร์ได้นำเสนอทางเลือกให้แก่ลูกค้าตามความต้องการและเหนือความต้องการในอุตสาหกรรมจักรเย็บผ้าและเครื่องกลึง
สำหรับตลาดในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบราเดอร์ได้มีการจำหน่ายแทบจะครบทุกไลน์การผลิต โดยในปีนี้ เครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่นแบบอิงก์เจ็ต และเลเซอร์, กลุ่มสแกนเนอร์ และกลุ่มจักรเย็บผ้า จะมีการนำรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดมากขึ้น ต่อยอดจากในปีที่ผ่านมาที่ได้ทำการสื่อสารการตลาดอย่างต่อเนื่องพร้อมอัดแคมเปญส่งเสริมการขาย ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไปแล้ว
ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) กล่าวว่าบราเดอร์ได้เตรียมผลิตภัณฑ์ใหม่และแคมเปญการตลาดไว้สำหรับทุกผลิตภัณท์ บราเดอร์มีสัดส่วนเครื่องพิมพ์เลเซอร์อยู่ที่ 70% และสัดส่วนของเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตอยู่ที่ 30% โดยตลาดรวมปีที่ผ่านมาสำหรับเครื่องพิมพ์ซิงเกิลเลเซอร์อยู่ที่ประมาณ 320,000 เครื่อง และตลาดเลเซอร์มัลติฟังก์ชันอยู่ที่ 156,000 เครื่อง
'ตลาดรวมในปีนี้คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 6% ทั้งเครื่องพิมพ์เลเซอร์และอิงก์เจ็ต สำหรับเทคโนโลยีใหม่ในปีนี้บราเคอร์จะนำเสนอเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์แนวนอนที่จะทำให้การพิมพ์รวดเร็วขึ้น มีดีไซน์ที่ทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้เครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ๆ ของบราเดอร์เป็นไวร์เลสทั้งหมด'
นอกจากนี้ในปี 56 บราเดอร์ได้เตรียมตั้งเป้าที่จะขยายตลาดไปยังต่างจังหวัดในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและจะปรับปรุงมาตรฐานการบริการให้สูงขึ้นเพื่อความพึงพอใจของลูกค้า โดยปัจจุบันบราเดอร์มีศูนย์บริการและโชว์รูมทั่วประเทศ รวม 155 ศูนย์ 76 จังหวัด
ทางด้านกิจกรรมทางการตลาดนั้น บราเดอร์จะยังเน้นจัดกิจกรรมกับลูกค้าในส่วนตลาดองค์กรด้วย Below The line Activity ส่วนในกลุ่มคอนซูมเมอร์จะเน้นสร้างการรับรู้และยอมรับในแบรนด์ด้วยกลยุทธ์ Music Marketing เหมือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างและเสริมเป็น Value added ให้แก่ลูกค้าของบราเดอร์ตลอดปี ทั้งนี้ปัจจุบันเทรนด์การพิมพ์ของลูกค้าองค์กรจะเน้นการเช่าเครื่องเป็นหลัก ซึ่งบราเดอร์ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับ และสามารถให้บริการกับทุกกลุ่มธุรกิจได้ตามต้องการ ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานได้ตามใจ เพื่อเพิ่มสัดส่วนของการเช่าเครื่องที่ปัจจุบันยังมีไม่มากคือประมาณ10 %
นอกจากนี้บราเดอร์ ยังมีกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าด้วยการนำเสนอฟรีซอฟต์แวร์บริหารจัดการเครื่องพิมพ์ภายในองค์กรหรือBROTHER BRAdmin ที่ช่วยลดต้นทุนโดยควบคุมและกำหนดการพิมพ์ได้ตามลักษณะการทำงานของแต่ละแผนกแบบเทเล่อร์เมด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจตั้งแต่ระดับกลางถึงใหญ่ สามารถใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องพิมพ์บราเดอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ร่วมกับเครื่องพิมพ์แบรนด์อื่นได้อีกด้วย ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุมต้นทุนการพิมพ์ผ่านระบบสั่งการเพื่อความเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละแผนกได้อย่างลงตัว อาทิ ระบบควบคุมการสั่งพิมพ์สีที่เลือกพิมพ์ได้เฉพาะแผนก หรือแม้กระทั่งการควบคุมการพิมพ์ระหว่างสาขาทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ
ส่วนจักรเย็บผ้า บราเดอร์ได้เปิดตัวจักรเย็บผ้าโฉมใหม่ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบกระแสนิยมด้าน DIY ที่กำลังขยายตัวอย่างมากในเมืองไทย รวมไปถึงยังได้มีการจัดกิจกรรมในการสร้างแบรนด์ อิมเมจ และมีกิจกรรม CSR ต่อเนื่อง
***โซเซียลมีเดีย ช่องทางใหม่เสริมทัพ
โซเชียลมีเดียเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บราเดอร์ใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ โดยที่ผ่านมาได้มีการสื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งแบ่งเป็นเฟซบุ๊กของกลุ่มเครื่องพิมพ์และเฟซบุ๊กของกลุ่มจักรเย็บผ้า โดยมีสมาชิกรวมกว่า 35,000 คน และที่ผ่านมาได้มีการสร้างกิจกรรมร่วมกับสมาชิกมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องกิจกรรมความบันเทิง ตลอดจนการเข้าร่วมโครงการต่างๆ นอกจากนี้ยังได้มีการดึงสมาชิกจากโลก ออนไลน์สู่ออฟไลน์เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นและขยายวงกว้างยิ่งขึ้น โดยในปี 56 บราเดอร์ตั้งเป้าที่จะขยายจำนวนสมาชิกผ่านเฟซบุ๊กให้ได้ 60,000 คน
บราเดอร์น่าจะเป็นเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ยังคงรักษาผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นกำเนิดของบริษัทและยังทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แบรนด์อื่นได้มีการแยกการทำตลาดสินค้าที่แตกต่างกันออกจากกันไปเกือบหมดแล้ว นอกจากนี้การจัดกิจกรรม CSR ที่แม้จะเลือกทำกับจักรเย็บผ้าแบบชัดเจนและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดได้รับรู้ในแบรนด์มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมต่อผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของบราเดอร์ได้อย่างแน่นอน
Company Related Link :
Brother