“อนุดิษฐ์” เปิดทางทีโอทีเดินหน้าโครงการมือถือ 3G เฟส 2 ด้วยการหาพาร์ตเนอร์แบบเดียวกับที่กลุ่มทรูเป็นพันธมิตรกับ กสท ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ ชี้เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเปิด 5 แนวทางสร้างรายได้ยั่งยืนให้ทีโอที ลั่นไม่ยอมให้ทีโอทีตายคามือเด็ดขาด
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ถึงแม้หน่วยงานในสังกัดอย่างบริษัท ทีโอที จะไม่มีรายได้จากสัญญาสัมปทานในปีหน้า แต่มั่นใจว่านโยบายที่วางไว้ให้จะสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและทำให้ทีโอทีอยู่รอดปลอดภัย
“ผมไม่ยอมให้ทีโอทีตายลงไปในช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลเด็ดขาด หากทีโอทีทำได้ตามแผนที่วางไว้มั่นใจว่าอยู่รอดแน่”
เป้าหมายของ รมว.ไอซีทีคือทำให้ทีโอทีเป็นบริษัทให้บริการโครงข่าย (เน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์) หรือการเป็นคอร์เน็ตเวิร์กให้บริการเอกชน มาเช่าใช้แล้วทีโอทีมีรายได้จากค่าเช่าในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ 1. การเป็นคอร์เน็ตเวิร์กให้ซีทีเอช ที่ให้บริการเพย์ทีวีกับสมาชิก รวมทั้งมีแผนให้บริการบรอดแบนด์ ซึ่งซีทีเอชจะมาช่วยเรื่องลาสไมล์ที่เชื่อมต่อไปถึงครัวเรือนของประชาชน เท่ากับเป็นการกระจายบรอดแบนด์ไปยังทุกพื้นที่ของประเทศ และเป็นการสนับสนุนโครงการสมาร์ทไทยแลนด์และบริการอีกอฟเวอร์เมนต์ด้วย
2. การเป็นสถานีทวนสัญญาณให้สถานีทีวีดิจิตอล 3. มุ่งเน้นลงทุนด้านอินเตอร์เนชันแนล เกตเวย์ รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้นี้ พม่าจะให้ไลเซนต์โอเปอเรเตอร์อย่างน้อย 4 รายที่จำเป็นต้องมีเกตเวย์ออกต่างประเทศ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจากับพม่าอีกทั้งพม่ายังมีแท่นขุดเจาะน้ำมันอีกกว่า 100 แท่นปัจจุบันใช้บรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งไทยกำลังศึกษาว่าจะมีความร่วมมือกันได้อย่างไรในการให้บริการผ่านระบบเคเบิลใยแก้ว
4. การให้บริการกอฟเวอร์เมนต์ คลาวด์ และ 5. ใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และโครงข่ายของทีโอทีที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างกรณีการจัดตั้งบริษัท ทาวเวอร์โค ภายใต้บริษัท เอซีที โมบายล์ ของทีโอที เพื่อให้บริการกับโอเปอเรเตอร์มือถือ โดยกำลังเจรจากับเอไอเอส เพื่อให้เอไอเอสโอนสิทธิในการบริหารจัดการและบำรุงรักษาเครือข่ายให้กับทีโอที ก่อนครบกำหนดสัมปทาน 2G กับทีโอทีในปี 2015 โดยเอไอเอสยังได้สิทธิใช้งานเครือข่าย 2G หรือ 2.5G จนหมดสัมปทานและบริษัท AWN ในเครือเอไอเอสที่ได้ใบอนุญาตความถี่ 2.1 GHz จาก กสทช. ก็สามารถติดตั้งอุปกรณ์ 3G และเช่าใช้เครือข่ายได้ทันที ซึ่งถือเป็นการเจรจาแบบวิน-วินทั้งทีโอทีและเอไอเอส
รมว.ไอซีทียืนยันว่า การที่ กสทช มีมติเห็นชอบ 3 ร่างกฎระเบียบที่กำกับดูแลการแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสดีของทีโอทีในการเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายเต็มรูปแบบภายใต้ระบบใหม่โดย 3 ร่างดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมการแบ่งปันเครือข่าย การโรมมิ่งเครือข่าย และบริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแบบเสมือน
แต่สิ่งที่ น.อ.อนุดิษฐ์ แสดงความเป็นกังวลมากสำหรับทีโอทีคือบริการโทรศัพท์มือถือ 3G ที่ยังอยู่ในสถานการณ์เลือดไหล หรือค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ ในขณะที่บริการอื่นๆสามารถเอาตัวรอดได้ ปัญหาที่เกิดกับ 3G ทีโอที คือ 1. ทีโอทีไม่ควรทำโครงการ 3G แบบเป็นเฟส แต่ควรลงทุนด้วยเงินจำนวนที่สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่มากพอตอบสนองความต้องการและแข่งขันได้ 2. การกำหนดให้ต้องใช้สถานีฐานร่วมหรือโคไซต์กับเอกชน ทำให้เกิดความล่าช้ามากในการติดตั้ง
“ถือว่าปัญหาใกล้จบแล้ว สถานีฐานเหลืออีก 100 กว่าไซต์เท่านั้น ส่วนเรื่องบริการก็บันเดิลเข้าไปกับบริการบรอดแบนด์ โทร.พื้นฐานในลักษณะควอดเพลย์ร่วมกับบริการอื่นๆ ที่ทำกำไร ซึ่งทำให้ตอนนี้ในภูมิภาคติดตั้งแทบไม่ทันแล้ว” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว และย้ำว่าบริการ 3G ทีโอทีต้องเน้นไปที่ลูกค้าหน่วยงานรัฐและองค์กรธุรกิจต่างๆ โดยหากมีลูกค้าเพียง 2 ล้านรายก็เชื่อว่าคุ้มทุนแล้ว
ปัญหาที่เกิดกับ 3G เฟสแรกคือการปรับลดงบประมาณจาก 2.9 หมื่นล้านบาทเป็น 1.59 หมื่นล้านบาท ทำให้ได้สถานีฐานเพียง 5,200 แห่ง เพื่อให้บริการทั่วประเทศและยังถูกบังคับให้ทำโคไซต์อีกกว่าพันแห่ง
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวอีกว่า สำหรับ 3G เฟส 2 นั้น ทีโอทีจะต้องระวังไม่ให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดอีกครั้ง โดยทีโอทีสามารถเลือกใช้วิธีการหาพาร์ตเนอร์เหมือนบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่เลือกเป็นพาร์ตเนอร์กับกลุ่มทรู ทำสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ ที่ได้รับการรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายจากกสทช.แล้ว
สำหรับข้อตกลงความร่วมมือระหว่างทรูและ กสท นั้นเกิดขึ้นจากการที่บริษัท BFKT บริษัทลูกของกลุ่มทรูนำความถี่ 850 MHz จากกสทมาใช้ร่วมกับอุปกรณ์โครงข่ายที่ BFKT สร้างมาให้ กสท เช่า และนำความจุของโครงข่ายที่กสทเช่ามาขายส่งบริการให้บริษัท เรียลมูฟ ของกลุ่มทรูเพื่อทำตลาดให้บริการ 3G อีกทอดหนึ่ง โดยที่ กสทช.มีมติตรวจสอบสัญญานี้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2555 ว่าการขอเช่าโครงข่ายของ BFKT เข้าข่ายละเมิดกฏหมายมาตรา 7 และ 67 ของกฎหมายโทรคมนาคมหรือไม่ เนื่องจากสัญญาเช่านั้นเกิดขึ้นโดยไม่มีใบอนุญาตจากกสทช โดยความคืบหน้าล่าสุดของกรณีนี้ คือ กสทช.ตัดสินให้สัญญานี้ไม่ผิดกฏหมาย โดยตีความให้ BFKT เป็นบริษัทโทรคมที่ให้บริการเช่าเครือข่าย 3G เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ให้บริการทั่วไป ผลการตีความนี้ทำให้ BFKT ไม่ถูกจัดเป็นโอเปอเรเตอร์ ทำให้ไม่เข้าข่ายที่ต้องใช้ใบอนุญาตในการดำเนินการใดๆ ส่งให้ทรูและกสทยังเป็นพันธมิตรกันได้ต่อไป
ส่วนวิธีการทำโครงการแบบเดิม ประเภทตั้งงบประมาณ เขียนทีโออาร์ และใช้วิธีการประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีออกชัน) นอกจากนี้จะใช้เวลานานและยังอาจเกิดการรั่วไหล ไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยกเว้นทีโอทีจะพิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีการแบบเดิมๆ สามารถดำเนินการสร้างโครงข่ายได้เร็วและมี MVNO ที่สามารถสร้างรายได้ให้คุ้มค่าเพียงพอกับที่สถาบันการเงินจะปล่อยกู้ให้ เพราะปัจจุบันแหล่งเงินภายในประเทศจะถูกจับจองจากโครงการ 2 ล้านล้านบาทและโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทไปแล้ว
“ในเมื่อมีหน่วยงานออกมารับประกันความถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ทีโอทีไม่สามารถดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกันได้ ซึ่งเชื่อว่าวิธีการหาพาร์ตเนอร์จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถให้บริการได้ในเวลาอันรวดเร็ว”
Company Relate Link :
ICT
TOT