xs
xsm
sm
md
lg

กสท ยื้อความถี่ 1800 MHz กับบทบาทสงครามตัวแทน!!! (Cyber Talk)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไล่เรี่ยไม่กี่วันหลัง กลุ่มทรูของศุภชัย เจียรวนนท์ เปิดตัวบริการ 4G ที่พารากอน ใหญ่โตอลังการ พร้อมถ่ายทอดสดเข้าช่วงรายการข่าวของ TNN กระบอกเสียงในสังกัด ทำเอาวงการโทรคมนาคมคึกคัก พรั่งพรูด้วยคำถามตามมามากมายว่า ลำพัง 3G ทำให้ดีเสียก่อนเถอะ อย่างเพิ่งเอา 4G มาล่อเลย

บริษัท กสท โทรคมนาคม ของท่านกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่กสท หรือซีอีโอเหลา แถลงมติบอร์ดกสท เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ขอยื้อความถี่ 1800 MHz สุดฤทธิ์ หลังสัญญาทรูมูฟจะสิ้นสุดในเดือนก.ย.2556 โดยบอร์ดกสทพิจารณาแล้วมีมติให้เตรียมแผนงานเสนอไปยังกสทช. เพื่อขออนุญาตบริหารจัดการความถี่ 1800 MHz ต่อไปโดยอ้างอิงจากบทเฉพาะกาลตามมาตรา 82, 83 และ 84 ที่ว่าด้วยการรองรับการเปลี่ยนผ่านเนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ใช้งานค้างอยู่ ในระบบ 1800 MHz ราว 17 ล้านเลขหมาย ที่ใช้งานของทรูมูฟ และดีพีซี ซึ่งการขออนุญาตใช้งานความถี่ต่อไป ในครั้งนี้จะแบ่งเป็นความถี่จำนวน 12.5 MHz ของทรูมูฟ จะขอบริหารจัดการต่อถึงปี 2568

ส่วนความถี่จำนวน 12.5 MHz ของดีพีซี จะขอบริหารจัดการต่อถึงปี 2559 รวมถึงความถี่จำนวน 25 MHz ของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นหรือ ดีแทค ที่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน และจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2561 ซึ่ง กสท จะขอใช้งานต่อไปจนถึงปี 2568 เช่นเดียวกัน

พูดง่ายๆว่า หากกสทช.ต้องการนำความถี่ 1800 MHz มาจัดสรรประมูลใหม่เพื่อสามารถให้บริการ 4G และทำตามความต้องการของ 'ซีอีโอเหลา' ต้องรอจนถึงปี 2559 หรืออีกอย่างน้อย 3 ปี

ถามว่า 2 เหตุการณ์นี้มีอะไรเกี่ยวข้องกันหรือไม่ มองผิวเผินอาจไม่เกี่ยว แต่หากมองลึกลงไป มันคือสงครามตัวแทนที่ค่ายมือถือเล่นเกมผ่าน กสท เพื่อชิงความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่งในตลาด

ในยุค 3G และสารพัด G ในอนาคตอันใกล้ ผู้ให้บริการที่ถือครองความถี่จำนวนมากในมือ จะได้เปรียบกว่าคนอื่นในตลาด เพราะจะเกิดปรากฏการณ์บริโภคข้อมูลจำนวนมหาศาลของผู้บริโภค ไม่ว่าจากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือ อุปกรณ์พกพาไร้สายอื่นๆ ทำให้แต่ละโครงข่ายจะต้องมีแบนด์วิธปริมาณมหาศาล เพื่อรองรับการให้บริการ เหมือนกับมีถนนหลายๆเลน เพื่อรองรับปริมาณการสัญจรของรถยนต์บนท้องถนน

ใบอนุญาต 2.1 GHz ของกสทช.ที่ออกให้ 3 ค่ายมือถือ ด้วยจำนวนแบนด์วิธเท่ากันที่ 15 MHz เป็นใบอนุญาตที่ไม่ได้จำกัดเทคโนโลยี ใครจะนำไปให้บริการ 3G หรือ 4G ก็ได้ แต่ก็หมายถึงแบนด์วิธที่มี 15 MHz ก็จะต้องถูกแบ่งออกไป อย่างเช่น ใช้ 3G สัก 10 MHz แล้วใช้ 4G สัก 5 MHz ในย่านที่มีความต้องการใช้งานข้อมูลสูง

นาทีนี้ ถ้าใครคิดว่าเอไอเอส ได้ใบอนุญาต 3G ความถี่ 2.1 GHz จาก กสทช.แล้วทำให้ได้เปรียบมากที่สุด มากกว่าคู่แข่งในตลาด เพราะมีฐานลูกค้าจำนวนมากที่โหยหาการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง อาจจะคิดผิด

ศุภชัย เจียรวนนท์ เล่าให้ฟังชัดเจนว่าจะให้บริการ 3G บนความถี่ 850 MHz จากสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ที่ทำกับกสทของซีอีโอเหลา กับบริการ 4G ความถี่ 2.1 GHz ชนิดไร้รอยตะเข็บ หมายถึงถ้าพื้นที่ไหนมีความต้องการใช้งานสูง กลุ่มทรูก็พร้อมให้บริการ 4G ความถี่ 2.1 GHz ชนิดเต็มแม็กทั้ง 15 MHz เลย ในขณะที่ก็มีบริการ 3G ก็มีความถี่ 850 MHz ให้บริการพื้นฐานอยู่แล้ว

เมื่อทั้ง 3 ค่ายมี 3G เหมือนกันหมด ก็เท่ากับไม่มีอะไรแตกต่างที่จะมาขายผู้บริโภคได้ ยกเว้นแต่จะมี 4G อย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มทรูสามารถให้บริการ 3G ความถี่ 850 MHz เป็นบริการพื้นฐานสำหรับการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงได้อยู่แล้วในทุกพื้นที่ซึ่งครอบคลุมมากกว่าชาวบ้าน ในขณะที่ 4G ความถี่ 2.1 GHz สามารถให้บริการลักษณะพรีเมียมจับกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงได้ ช่วงชิงความได้เปรียบนานเท่าที่กสทช. ยังไม่นำความถี่ 1800 MHz มาจัดสรรเปิดประมูลใหม่ เพราะความถี่ 1800 MHz สามารถให้บริการ 4G ได้ดีที่สุด ซึ่งตามความตั้งใจของท่านพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กสทช.และประธานกทค.ต้องการเปิดประมูลในช่วงไตรมาส 3 หรือ ปลายปี 2557

แต่ติดที่กสทของซีอีโอเหลา ไม่ยอมส่งมอบความถี่หลังสัญญาสัมปทานของเอกชนสิ้นสุดลง โดยเลือกที่จะเล่นเกมยื้อเวลาออกไป ยืมมือกระทรวงไอซีที นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หวังอาศัยมติครม.มาบีบกสทช. ซึ่งคาดว่าท้ายสุดแล้ว การคืนความถี่ 1800 MHz คงต้องอาศัยคำพิพากษาศาลมาตัดสินว่าต้องดำเนินการอย่างไร

หมากเกมนี้ น่าจะลากยาวยื้อเวลาออกไปได้อีกนาน ถามว่า หากเป็นเช่นนั้น ใครได้เปรียบ ตอบได้ไม่ยาก คนที่มีความถี่ในมือจำนวนมากพร้อมให้บริการย่อมมีแต้มต่อมากที่สุด

ส่วนซีอีโอเหลา ตอนนี้อาจต้องถามหาจุดยืน หรือ ความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการสัญญาต่างๆ เพราะสัญญาหนึ่งที่ทำกับเอกชนเลือกที่จะปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่กับอีกสัญญาหนึ่งที่หมดอายุลงเลือกที่จะปฎิบัติประเภทใช้ช่องว่างรอยโหว่ของกฎหมายชิงความได้เปรียบ เหมือนจำลองพฤติกรรมบางค่ายมือถือที่นิยมใช้

เห็นง่ายๆ กรณีโครงข่ายซีดีเอ็มเอ กสท อ้างสัญญาที่ทำไว้ต้องรีบปิดโครงข่ายให้ได้ภายในวันที่ 26 เม.ย.ที่จะถึงนี้ จากเดิมที่ต้องปิดระบบตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากกสท มีลูกค้าในระบบซีดีเอ็มเอจำนวนมากถึง 160,000 ราย แบ่งเป็นลูกค้าส่วนกลางจำนวน 40,000 ราย และลูกค้าส่วนภูมิภาคจำนวน 120,000 ราย จึงขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 เดือน เพราะต้องใช้เวลาในการโอนย้ายลูกค้าทั้งหมดไปยังระบบ 3G My ของกสท พร้อมทั้งอ้างเหตุที่ต้องปิดระบบซีดีเอ็มเอเพราะสร้างความเสียหายในการดูแลลูกค้ากว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน และหากซีดีเอ็มเอยังอยู่กวนใจ จะสร้างความเสียหายสูงขึ้นเรื่อยๆ

ไม่สนแม้กระทั่งคำเตือนของรมว.ไอซีที อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่เห็นว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่เร็วเกินไปเนื่องจากระบบ 3G My เป็นการทำสัญญาระหว่างกสทที่ทำร่วมกับกลุ่มทรู บนความถี่ 850 MHz ซึ่งปัจจุบันยังคงมีปัญหาในเรื่องของข้อกฏหมายในสัญญาที่ต้องมีการตรวจสอบ และกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาจากหลายหน่วยงานอยู่

รวมทั้งกฤษฎีกากำลังอยู่ระหว่างตีความว่าการทำสัญญา 3G เข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) หรือไม่ ก่อนจะดำเนินการแก้ไขสัญญาต่อไป จากนั้นจะต้องส่งแผนและแนวทางการแก้ไขสัญญาเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงไอซีทีดังนั้นกสทควรที่จะรอกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นก่อน

'หากกฤษฎีกาชี้ว่าเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ร่วมทุนสัญญาก็เป็นอันโมฆะ โดย ป.ป.ช.จะต้องเข้ามาตรวจสอบ จากนั้นจึงส่งฟ้องศาลต่อไป ถ้าหาก กสท รีบดำเนินการย้ายลูกค้าจากซีดีเอ็มเอไปอยู่ 3G My ทั้งหมด เท่ากับลอยแพลูกค้าอยู่กลางอากาศ เนื่องจากปิดระบบเก่าไปแล้ว แถมระบบใหม่ก็ผิดกฏหมายอีก แล้วแบบนี้ลูกค้าจะไปอยู่ไหน' รมว.อนุดิษฐ์กล่าวเตือนในตอนนั้น ซึ่งซีอีโอเหลาไม่สนใจ

แต่ในขณะที่ กรณีหลังหมดสัญญาสัมปทานความถี่ 1800 MHz ที่ต้องคืนความถี่ให้กสทช.นำมาจัดสรรประมูลใหม่ แต่ซีอีโอเหลา กลับเลือกที่จะไม่ปฎิบัติตาม แต่เลือกที่จะยื้อเวลาออกไปให้นานที่สุด

หรือว่าซีอีโอเหลา เปลี่ยนไป๋ จริงๆ เหมือนที่คนร่ำลือ
กำลังโหลดความคิดเห็น