ในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้ก้าวเข้าสู่โลกของไอซีทีนั้น ที่ผ่านมาจะมีเพียงการสนับสนุนให้คนหันมาพัฒนาในด้านซอฟต์แวร์เพื่อนำไปต่อยอดการทำธุรกิจเท่านั้น ยังไม่ได้กระจายไปถึงคนรากหญ้าในระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้จริง
แม้จะมีโอกาสได้เห็นความทันสมัยด้านการสื่อสารที่สร้างความตื่นตัวใหักับสังคมอย่างเทคโนโลยี 3G หรือฟรีไวไฟ แต่หากมองในมุมที่ลึกลงไปการใช้งานในปัจจุบันของประชากรท้องถิ่นยุคก่อนเจนเนอเรชั่น Y แล้ว เทคโนโลยีที่กล่าวมาดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้การดำรงชีวิตดีขึ้นสักเท่าไรนัก
สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ในสังกัดกระทรวงไอซีที กำลังเป็นหมากสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนที่อยู่ลึกในระดับหมู่บ้าน มีโอกาสได้ใช้เทคโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และกลายเป็นประชากรไซเบอร์ที่มีโอกาสได้ใช้งานไอซีทีเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง ด้วยการผลักดันให้เกิดบริการระบบ e-Service ที่จับต้องได้
EGA ไม่ได้เล่นบทออกหน้าในการขับเคลื่อน แต่ปิดทองหลังพระด้วยการเชื่อมโยงระบบไอทีให้กับหน่วยภาครัฐทั้งหมด ผ่าน Government Information Network (GIN) ซึ่งเป็นเครือข่ายสื่อสารข้อมูลและเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐให้สามารถทำงานประสานกัน โดยขณะนี้ได้วางระบบเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 1,500 หน่วยงาน ส่วนใหญ่เป็นระดับกรมขึ้นไป และการเชื่อมโยงดังกล่าวจะขยายลงสู่หน่วยงานระดับล่าง โดยตั้งเป้าในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 หน่วยงาน
เช่นเดียวกับการพัฒนาให้การทำงานต่างๆ ขึ้นระบบคลาวด์คอมพิวติ้งภาครัฐ หรือ G-Cloud ที่ไทยเป็นประเทศแรกๆในกลุ่มอาเซียนที่ดำเนินการรูปแบบนี้กับหน่วยงานภาครัฐ โดยผลักดันให้ขึ้นมาใช้งานบนเทคโนโลยีใหม่นี้เกือบ 200 หน่วยงาน รวมกว่า 140 ระบบ และจะมีการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์พื้นฐานของภาครัฐในการใช้บริการผ่านเว็บไซต์ ที่เรียกว่า Software as a Service (SaaS) มีบริการเสริมในด้านต่างๆ บนคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับภาครัฐ โดยคาดว่าในปีนี้ G-Cloud จะมีบทบาทเด่นอย่างมาก และคาดว่าหน่วยงานรัฐจะใช้งาน G-Cloud กว่า 500 ระบบ
นอกจากนี้ยังมีการสร้าง Government Application Center (GAC) ซึ่งจะเป็นแหล่งที่รวมแอปพลิเคชันของภาครัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา EGA ได้ทำการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการวางโครงสร้างสถาปัตยกรรมของระบบแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ และจะมีแอปภาครัฐเข้าร่วมประมาณ 100 แอป และเกิดแอปใหม่ๆไม่น้อยกว่า 100 แอปรวมไปถึงการพัฒนาแอปเพื่อใช้บริการงานภาครัฐผ่านแท็บเล็ตจะมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานรัฐจะต้องให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องเหล่านี้เอาไว้ใช้งานและบริการประชาชนมากขึ้น
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ EGA กล่าวว่า หลังระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีมีความแข็งแกร่ง ในปีนี้จะเป็นการต่อยอดและสร้างโครงข่ายออกไปภายใต้นโยบายสมาร์ทไทยแลนด์ ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ อาทิ การขยับขยายจากเครือข่าย GIN ไปสู่ระบบ Super GIN ที่จะผลักดันให้หน่วยงานรัฐจำนวนมากปรับเปลี่ยนระบบการจัดซื้อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาใช้ระบบนี้แทน รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาครัฐเดิมเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
'จากเดิมที่โครงข่าย GIN จะเชื่อมโยงจังหวัดและอำเภอเท่านั้น แต่ในปีนี้ด้วย Super GIN จะขยายเครือข่ายออกไปให้เต็มทุกพื้นที่ในประเทศไทย ทำให้หน่วยงานรัฐใช้บริการข้อมูลพื้นฐานของภาครัฐแบบเชื่อมถึงกันได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้การตัดสินใจและการให้บริการแก่ประชาชนได้ดีขึ้น'
เช่นเดียวกับการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งที่เดิมแม้จะมีหน่วยงานรัฐสนใจและเข้ามาใช้งานกันมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้งานขึ้นพื้นฐาน หรือ Infrastructure as a Service หรือนำระบบงานมาใช้ทรัพยากรของ EGA เท่านั้น ยังไม่ได้ก้าวไปสู่ Software as a Service ที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐในองค์กร และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้งานบริการโดยตรงจากแอปพลิเคชันขององค์กรอย่างเต็มตัว ดังนั้นในปีนี้ EGA จะเพิ่มสัดส่วนของ SaaS มาให้บริการมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้บริการภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และจะต่อยอดไปสู่ Government Application Center รูปแบบการให้บริการจากรัฐบาลแบบใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพกับประชาชนในปีต่อไป
ทางด้านความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ (Cyber Security) นั้น EGA ได้เริ่มพัฒนาระบบ Government Security Monitoring ขึ้น เพื่อสร้างความไว้วางใจในการใช้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐทั้งหมด รวมถึงการสร้างมาตรฐานระบบความมั่นคงปลอดภัยในระบบ G-Cloud ซึ่ง EGA และหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม CSA Thailand Chapter ขึ้นมา โดยในปี 56 กลุ่มนี้จะมีการผลักดันมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยบนคลาวด์ คอมพิวติ้ง ของไทยขึ้นมาให้เป็นมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังมี Government Monitoring ที่จะคอยสอดส่องว่าการทำงานของแต่ละหน่วยงานนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยหรือไม่ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้งานของพนักงานในองค์กรด้วย
ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับในส่วนของประชาชนที่จะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีอย่างแท้จริงนั้น EGA ได้ทำการผลักดันมาตรฐาน Th e-GIF ด้วยการนำข้อมูลพื้นฐานจากหน่วยงานหลักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลบัตรประชาชนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ข้อมูลเกษตรกร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอื่นๆ เข้ามาปูเป็นฐานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และก้าวไปสู่การสร้าง e-Service for Government ที่จะมีหน่วยงานหลักอย่าง สาธารณสุข มหาดไทย ศึกษา และเกษตร เป็นหน่วยงานนำร่อง
โครงการนี้จะค่อยๆ เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศไทย เพราะจะทำให้ข้อมูลของภาครัฐที่อยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงเข้าหากัน มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลร่วมกัน ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริการ และประชาชนได้นำข้อมูลไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์ได้เต็มที่ โดยขณะนี้ได้มีการเปิดตัวการบูรณาการข้อมูลทางด้านเกษตรไปแล้ว
EGA ยังได้มีการพัฒนาระบบ Mail Go Thai หรือระบบอีเมล์สำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่เริ่มได้รับความนิยมใช้งานจากหน่วยงานรัฐต่างๆ มากขึ้น ขณะนี้มีกว่า 200,000 อีเมล์แล้ว และระบบเมล์นี้กำลังมีการต่อยอดให้สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายไวไฟฟรีที่กระทรวงไอซีทีกำลังดำเนินการอยู่ได้ โดยจะทำให้บุคลากรภาครัฐสามารถล็อกอินเข้าอีเมล์ได้ทุกที่ที่มีฟรีไวไฟ โดยใช้พาสเวิร์ดและชื่อเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีการวางระบบ Citizen Centric หรือการใช้ระบบบัตรประจำตัวประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำงานระบบไอที Smartcard Application หรือแอปพลิเคชั่นที่ต้องนำบัตรประชาชนมาใช้ในการเชื่อมต่อข้อมูลของภาครัฐ เพื่อรับบริการในด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการเชื่อมโยงบัตรสมาร์ทการ์ดกับบริษัท ไปรษณีย์ไทยในการใช้ข้อมูลดังกล่าวนี้ให้บริการไปรษณีย์ อาทิ ส่งเบี้ยต่างๆ อย่างเบี้ย อสม. เบี้ยผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยโดยไม่ต้องเดินทางไปรับเอง
ระบบเกษตรกรอัจฉริยะ EGA จะเข้าไปเชื่อมโยงข้อมูลทางการเกษตรร่วมกับเครือข่าย G-Cloud บูรณาการข้อมูลทางการเกษตรที่ถูกต้อง โดยให้บริการข้อมูลทางการเกษตรผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ (Kiosk) ตามแหล่งชุมชนของแต่ละตำบล และการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เพื่อส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมถึงการส่งเสริมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับการเพาะปลูก
Smart Box ซึ่งในปีนี้ระบบนี้จะเกิดขึ้นและได้ลงในพื้นที่จริงๆ โดยจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลภาครัฐได้โดยตรงจากกล่องนี้ Smart Box ทำให้จอทีวีสามารถ ให้ทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สามารถอ่านข้อมูลสมาร์ทการ์ดได้ โดยเมื่อเสียบบัตรสมาร์ทการ์ดเข้ากับ Smart Box ประชาชนจะได้รู้สิทธิของตัวเองขั้นพื้นฐานว่ารัฐสนับสนุนตนเองในเรื่องใดบ้าง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ในจังหวัดนำร่องก่อนที่จะขยายการใช้งานไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต
Smart Province หรือ จังหวัดอัจฉริยะต้นแบบจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบไอซีที เชื่อมโยงกับ เครือข่าย GIN ที่ขณะนี้กำลังทดลองที่จังหวัดนครนายก และจะขยายไปถึงเครือข่ายทุกอบต.เพื่อให้บริการคลาวด์และนำทุกหน่วยงานมาบูรณาการร่วมกัน
หากทุกโครงการของ EGA สำเร็จเป็นรูปธรรมและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง จะช่วยให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลอย่างทั่วถึงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดความเลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยีและก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานต่างๆ ที่จะพัฒนาข้อมูลของตนเองว่าพร้อมที่จะเชื่อมโยงด้วยมากน้อยแค่ไหน
เพราะหากปล่อยให้ EGA ออกโรงอยู่ฝ่ายเดียว คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร และ สมาร์ทไทยแลนด์ ประชากรไซเบอร์ ก็คงเป็นแค่การขายฝันลมๆแล้งๆ เรียกชื่อให้ดูเท่ๆ แค่นั้น