กสทช.ลงพื้นที่ตรวจค่ามือถือ ปัญหาพรีเพดหลังมีผลบังคับใช้ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังจับมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดโครงการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายผ่าน SMS 191 ฟรี พร้อม MOU ไทยพีบีเอสทดลองทีวีดิจิตอล
***กสทช.ลงพื้นที่ตรวจค่ามือถือ ปัญหาพรีเพด
นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ด้านกฎหมาย พร้อมด้วยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคมได้ลงพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์เพื่อตรวจสอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (พรีเพด) หลังจากสำนักงาน กสทช. ได้แจ้งผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายต้องปฏิบัติตามข้อ 11 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ที่ห้ามกำหนดวันหมดอายุของบริการพรีเพด และคำสั่งทางปกครองของ กสทช. เรื่องผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการประเภทเสียงภายในประเทศ ที่กำหนดให้อัตราค่าบริการต้องไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที
ทั้งนี้ กสทช.ได้กำหนดให้วันที่ 18 ม.ค.เป็นวันเริ่มบังคับใช้อย่างเข้มงวดกับผู้ให้บริการทุกราย หากฝ่าฝืน กสทช.จะดำเนินการทางปกครองอย่างเคร่งครัดต่อไป ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจตามศูนย์บริการของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) และบริษัททรูมูฟ จำกัด พบว่า ผู้ให้บริการยังกำหนดวันหมดอายุของบริการแบบพรีเพดอยู่ หากครบกำหนดแล้วลูกค้ายังต้องเติมเงินเข้าระบบ โดยทางเอไอเอสและทรูมูฟขยายเวลาให้ 30 วัน ดีแทคมีบริการเงินแลกวันในอัตรา 2 บาทต่อ 1 วัน
“ส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการยังกำหนดวันหมดอายุอยู่ แต่ก็ได้ให้ความร่วมมือใช้วิธีการขยายเวลาออกไปให้ผู้บริโภคเมื่อระยะเวลาใกล้ครบกำหนด ถือว่าพอใจที่เอกชนมีความพยายาม”
ขณะที่นายฐากรกล่าวว่า หลังจากนี้จะสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อคำนวณค่าปรับจากกรณีที่เอกชนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองที่สำนักงานได้แจ้งไปก่อนหน้านี้ พร้อมกันนั้นจะส่งหนังสือแจ้งให้เอกชนชำระค่าปรับทางปกครองที่ทางสำนักงานได้ส่งหนังสือแจ้งไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าปรับจากการไม่ปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งของสำนักงาน กสทช. รวมถึงสำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทั้งจากปัญหาการกำหนดวันหมดอายุพรีเพดและการไม่ลงทะเบียนซิมการ์ด ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 ค่ายมือถือมีค่าปรับค้างจ่ายรวมแล้วประมาณ 70 ล้านบาทแล้ว
สำหรับค่าปรับทางปกครองที่ กสทช.จะเรียกเก็บจากเอกชนได้ เบื้องต้นกฎหมายระบุขั้นต่ำไว้ที่ 20,000 บาท แต่ไม่ได้กำหนดเพดานค่าปรับขั้นสูงไว้ ดังนั้นทางสำนักงานจะต้องพิจารณาค่าปรับที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น
***กสทช.จับมือ สนง.ตำรวจแห่งชาติ ส่ง SMS 191 ฟรี
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ร่วมกันเปิดโครงการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ผ่าน SMS หมายเลข 191 โดยไม่คิดค่าบริการ เพื่อเพิ่มช่องทางแจ้งเหตุร้ายให้แก่ประชาชน โดยมี ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มาเป็นประธานในงานดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อประชาชนประสบเหตุด่วนเหตุร้ายสามารถแจ้งเหตุ พร้อมระบุสถานที่เกิดให้ชัดเจน แล้วส่ง SMS ไปที่หมายเลข 191 ทันที เมื่อข้อมูลถูกส่งไปยังฐานข้อมูล SMS 191 เจ้าหน้าที่รับเหตุของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำการวิเคราะห์ และแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 หรือสถานีตำรวจที่อยู่ใกล้เคียงออกไปทำหน้าที่ระงับเหตุและให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
โดยผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารของผู้ประกอบการธุรกิจเครือข่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 บริษัทใหญ่ในประเทศไทย คือ 1. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส 2. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค 3. บริษัท ทรูมูฟ จำกัด 4. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย และ กสทช.ยังได้มอบทุนสนับสนุนโครงการจำนวน 500,000 บาท เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับระบบที่จะใช้รองรับการให้บริการประชาชน โดยกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ม.ค. 2556 นี้
***กสทช.เซ็น MOU ไทยพีบีเอส ทดลองทีวีดิจิตอล
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยในงานลงนามความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ระหว่างสำนักงาน กสทช. กับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่า ในการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ทดลองเปลี่ยนผ่านระบบสัญญาณการรับชมโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถรับชมโทรทัศน์ที่มีประสิทธิภาพอยากทั่วถึง และสร้างความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวกับทีวีดิจิตอลแก่ประชาชน
ทั้งนี้ จะเป็นในลักษณะที่ดำเนินการร่วมกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ผ่านการส่งสัญญาณในระบบ UHF ภายใต้ระยะเวลา 6 เดือน ในระบบเอชดี ครอบคลุมพื้นที่ทดลองในเขตกรุงเทพฯ โดย กสทช.จะนำผลการทดลองออกอากาศที่ได้มาปรับสัดส่วนช่องรายการหมวดช่องที่เป็นช่องความคมชัดคุณภาพสูง (เอชดี) ใหม่อีกครั้งในช่วงราวเดือนมีนาคมนี้
นอกจากนี้ ล่าสุดไทยพีบีเอสได้ทำการส่งมอบช่องสัญญาณโครงข่ายที่มีอยู่ทั้งหมดจำนวน 1 ช่องสัญญาณโครงข่ายคืนแก่ กสทช.ในฐานะเป็นผู้ประกอบการที่ถือครองช่องสัญญาณโครงข่ายสำหรับกิจการโทรทัศน์นอกเหนือจาก กสทช. ส่งผลให้ กสทช.มีช่องสัญญาณโครงข่ายในการจัดสรรสำหรับกิจการโทรทัศน์เพิ่มขึ้นจาก 5 ช่อง เป็น 6 ช่อง ซึ่ง กสทช.จะสามารถนำช่องสัญญาณโครงข่ายที่ได้รับมาเพื่อจัดสรรจำนวนช่องรายการเพิ่มเติมหรือปรับสัดส่วนช่องที่เป็นเอชดีเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี กสท.ได้มีมติแล้วว่าจะนำช่องสัญญาณโครงข่ายเพิ่มเติมมาจัดสรรเป็นช่องเอชดีแทนการเพิ่มจำนวนช่องจากที่มีอยู่ 48 ช่อง
ด้านนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในการทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอลของทางไทยพีเอสจะเป็นในลักษณะร่วมกับช่อง 5 โดยมีช่อง 5 เป็นเจ้าภาพในการถ่ายทอดสัญญาณภาพ และแจกกล่องรับสัญญาณทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอลจำนวน 1 พันกล่องแก่ประชาชนกลุ่มตัวอย่าง ครอบคลุมรัศมีการออกอากาศ 50 กิโลเมตร รอบสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ที่ย่านสนามเป้า
ทั้งนี้ กล่องที่ประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับไปจะสามารถรับชมได้เพียงแค่ 2 ช่อง ได้แก่ช่อง 5 และช่องไทยพีบีเอส ในระบบเอชดีเท่านั้น ซึ่งรูปแบบรายการที่ออกอากาศทั้งหมดยังคงรูปแบบเดียวกันกับที่ออกอากาศในระบบแอนะล็อกปัจจุบัน โดยการทดลองออกอากาศในครั้งนี้จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมนี้เป็นต้นไป
ขณะที่การทดลองออกอากาศในครั้งนี้ไทยพีบีเอสไม่มีค่าใช้จ่ายมาก ส่วนงบประมาณที่ไทยพีบีเอสเตรียมไว้สำหรับการลงทุนของทีวีดิจิตอลอยู่ที่กรอบ 1,200-1,500 ล้านบาทใน 3 ปี โดยแหล่งเงินทุนได้มาจากภาษีสรรพสามิตของสุรา และบุหรี่ที่จำนวน 2,000 ล้านบาทต่อปี ก่อนเข้าหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อความเป็นไปได้ในการขอปรับเพดานงบประมาณเงินสนันสนุนเพิ่มขึ้นจากที่ได้รับ 2 พันล้านบาทต่อปีต่อไป
Company Relate Link :
กสทช.