xs
xsm
sm
md
lg

2556 ปีทอง อีคอมเมิร์ซไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด
ใครๆ ก็ซื้อหาสินค้า หรือบริการในโลกอินเทอร์เน็ตได้ ขอเพียงแค่คุณมีอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อผ่านทั้งบรอดแบนด์แบบมีสาย และไร้สาย รวมถึง 3G ทำให้การค้าออนไลน์ปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตได้เร็ว และพร้อมก่อเกิดเทรนด์ใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง

อนาคตที่สดใสของอีคอมเมิร์ซไทย จากมุมมองของนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด ในเครือราคุเท็น นายปฐม เวชสุภาพร ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) และนายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อุ๊กบี จำกัด ที่เห็นตรงกันว่า ในปี2556 จะเป็นปีที่ห้ามกระพริบตาของอีคอมเมิร์ซไทย หลังระบบโครงสร้างพื้นฐานช่วยสนับสนุนด้านการซื้อสินค้าออนไลน์มีมากขึ้น จากงานประชุมประจำปีของสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย
บัตรเดบิต ซื้อสินค้าออนไลน์ได้แลัว !
***ถึงเวลาแล้วของบัตรเดบิต

นายภาวุธ กล่าวว่า เมื่อธนาคารเริ่มหันมาเปิดโอกาสให้บัตรเดบิต ซึ่งเป็นบัตรที่สามารถใช้จ่ายแทนเงินสดได้เลยโดยการตัดบัญชี สามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ได้เช่นเดียวกับบัตรเครดิต จุดนี้ย่อมทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเกิดความคึกคัก นั่นเป็นเพราะว่า ผู้ถือบัตรเดบิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่อายุน้อย หรือฐานเงินเดือนไม่ถึงระดับที่จะทำบัตรเครดิตได้

"ปัจจุบันธนาคารเริ่มเปิดให้ใช้บัตรเดบิตทำธุรกรรมออนไลน์ได้แล้ว โดยมีผู้ถือบัตรเดบิตมีจำนวนมากถึง 35 ล้านใบ ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงบัตรเครดิตแล้วคนจะกังวล แต่จะตรงกันข้ามกันถ้าเป็นบัตรเดบิต ดังนั้นถ้าจะให้ดี เว็บไซต์หน้าร้านอีคอมเมิร์ซจะต้องสามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และเดบิตได้ในเวลาเดียวกัน"
โซเชียลมีเดียกำลังครองโลก
***โซเชียลมีเดียสยายปีก

สำหรับโซเชียลมีเดียเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น จากการมาของไฮไฟว์ ก่อนที่จะเป็นเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ปัจจุบันโซเชียลมีเดีย ได้ถูกพัฒนาจากการพูดคุยเฉพาะในหมู่เพื่อน จนมีการเพิ่มรูปแบบการสื่อสารกันระหว่างแบรนด์กับลูกค้า

นายณัฐวุฒิ มองว่า ทุกวันนี้คนนิยมเข้าเฟซบุ๊กดูว่ามีข้อความหรือแจ้งเตือนอะไรส่งถึงบ้าง มากกว่าที่จะเข้าอีเมล ดังนั้นถ้าต้องการทำตลาดในโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊กถือเป็นตัวทดลองที่ดีในการปล่อยคอนเทนต์ หรือแผนการตลาดใหม่ๆ เพื่อรอฟังเสียงตอบรับจากผู้บริโภคว่า คอนเทนต์ดังกล่าวโดนใจผู้บริโภค หรือมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ถ้าไม่ถูกใจ ก็สามารถปรับแผนการตลาดใหม่ได้

ขณะที่ในส่วนของทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ก็สามารถใช้ควบคู่กันไปในการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาโปรโมทเพื่อรอฟังผลตอบรับจากผู้บริโภคที่สามารถโต้ตอบกับผู้ขายได้แบบทันที ก่อนจะเสนอช่องทางการติดต่ออื่นๆ อย่างระบบแชทผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Whatsapp หรือ Line ต่อไป

ด้านายภาวุธ ให้ความเห็นถึงการเปิดร้านบนเฟซบุ๊กว่า ถ้าเป็นร้านขนาดเล็ก สามารถทำได้ แต่ถ้าคิดจะขยายสเกลร้านใหญ่ขึ้น เฟซบุ๊กยังตอบโจทย์ตรงนี้ไม่ได้ เนื่องจากเฟซบุ๊กไม่มีเครื่องมือสำหรับการทำหน้าร้านขายของ ท้ายที่สุดก็ต้องมีหน้าเว็บร้านเป็นของตัวเองอยู่ดี
3G มา การซื้อคล่องตัว
***E-Commerce to go mobile

ปี 2556 จะเป็นปีที่ 3G ในคลื่นความถี่ 2.1GHz จะได้ฤกษ์ยลโฉมออกมา รวมไปถึงอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตจะยิ่งมีตัวเลือกให้เลือกมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการซื้อสินค้าออนไลน์เปลี่ยนจากหน้าพีซีเป็นหน้าจอสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตแทน

นายณัฐวุฒิ เสริมว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อาจจำเป็นต้องกระโดดจากเว็บไซต์ ไปสู่รูปแบบของแอปพลิเคชัน แต่ถ้าไม่ต้องการเป็นแอปพลิเคชัน ก็ควรที่จะพัฒนาหน้าเว็บให้ออกมาอยู่ในรูปแบบโมบายล์ เวอร์ชัน สำหรับสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตแทน
ปี 56 ปีทองธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ?
***กลยุทธ์ลด-แลก-แจก-แถม ยังใช้ได้ !

แม้ว่าจะเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็ตาม แต่ว่าการออกโปรโมชัน ถือเป็นการทำตลาดที่สามารถกระตุ้นลูกค้าให้เข้ามาจับจ่าย ยินยอมควักเงินออกไปง่ายขึ้น ซึ่งในปีก่อนๆ อีคอมเมิร์ซยังไม่มีโปรโมชันเรียกลูกค้า แต่ปี 2556 เชื่อว่ามีแน่ ส่วนวิธีการโปรโมทโปรโมชัน แค่เรียกใช้บริการของโซเชียลมีเดีย อีเมล หรือเสิร์ชเอนจิน ก็ทำได้แล้ว

***ระบบขนส่ง ห้ามมองข้าม

นอกเหนือจากการซื้อสินค้าที่สะดวกแล้ว บริการด้านการขนส่งเป็นอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ถึงแม้ว่าการซื้อขายจะสะดวก แต่ถ้าการขนส่งไม่ได้คุณภาพ ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะเบือนหน้าหนีเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการควรหาระบบขนส่งที่มีความมั่นใจได้ หรือถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่สามารถควบคุมระบบขนส่งด้วนตนเองได้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ปัจจุบันเริ่มมีผู้ให้บริการด้านการขนส่งหน้าใหม่ๆ ทั้งไทยและเทศ ซึ่งบางแห่งมีระบบคลังสินค้า (Warehouse) ทำให้การกระจายสินค้าถึงมืออย่างรวดเร็ว จุดนี้สินค้าหรือบริการที่เป็นคอนเทนต์จะได้เปรียบ เพราะไม่ต้องมีระบบขนส่งสินค้า เช่น การปล่อยให้ดาวน์โหลดเพลง ภาพยนต์ นิตยสาร หนังสือ

***สินค้าหน้าเดิมยังขายดีอยู่

นายปฐม มองว่า สินค้าที่ยังขายได้ง่าย และยังขายได้ดีต่อไป ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะยังคงเป็นสินค้าเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ของใช้ภายในบ้าน และสินค้าจำพวกความสวยความงาม

"ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย คนยังอยากสวย อยากหล่อ เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติธรรมชาติมาก ทำให้สินค้าประเภทนี้ยังขายได้ดีอยู่เสมอ"
เมืองนอกมี Black Friday, Cyber Monday แล้วเมืองไทยล่ะ จะมีไหม ?
***ความร่วมมือในอนาคต ?

สิ่งสำคัญที่สุดทั้ง 3 ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ มองเหมือนกันว่า สมาคมอีคอมเมิร์ซไทย ควรมีความร่วมมือในเรื่องของการวางแผนลดราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นการซื้อให้แพร่สะพัด และขยายฐานลูกค้าจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์

"อเมริกามีการจัดงานอย่าง Cyber Monday, Black Friday ในประเทศไทยควรจะมีแบบนี้บ้าง อาจเป็นตรุษจีนเดย์ สงกรานต์เดย์ เพื่อที่จะดึงกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นออฟไลน์เข้ามาซื้อ ซึ่งจุดนี้อาจเป็นการสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าออฟไลน์ ให้แปรเปลี่ยนมาเป็นการซื้อออนไลน์ได้ ถ้าในประเทศไทยทำได้จริง จะเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก"

ทั้งนี้หากพูดถึงการมาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ มองว่า จะทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่ขึ้น ซึ่งทางสมาคมอีคอมเมิร์ซ จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถในการผลักดันตัวเอง ไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ท้าทายมากสำหรับสมาคม

โดยกลยุทธ์ที่ใช้ จะเน้นให้ความรู้ และใช้เครือข่ายที่มีของพี่เบิ้มอย่างตลาดดอทคอม ผ่านเครือข่ายของราคุเท็น รวมไปถึงผู้ประกอบการที่สามารถแข่งขันนอกประเทศได้แล้ว อย่างอุ๊กบี ทีวีไดเร็คเป็นหัวหอก จุดนี้จะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน ในการมุ่งสู่เออีซี

ใครที่สนใจธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นี่คือภาพรวมเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ....

----------------------------------------------------------------
(ล้อมกรอบ)

4 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ รอวัน ‘ตกกระป๋อง’

คลื่นลูกใหม่ย่อมไล่ล่าคลื่นลูกเก่าอยู่เสมอ เหตุใดเล่าเทคโนโลยี หรือเทรนด์ใหม่จะเข้ามาแทนเทรนด์เก่าคร่ำครึไม่ได้ นี่คือ 4 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่กำลังรอวันที่จะถูกเรียกว่าเป็นของตกยุคล้าสมัย

1.AudioText หรือที่เรารู้จักกันในนามบริการ 1900 ระบบนี้ เชื่อว่าใครที่อายุ 20 ปีขึ้นไป คงต้องเคยเห็นหรือผ่านตามาบ้าง กับบริการที่ผู้ใช้สามารถสั่งซื้อคอนเทนต์ต่างๆ ด้วยการกดหมายเลขพิเศษ 1900-xxx-xxx โดยค่าบริการของระบบดังกล่าวนี้ ตกนาทีละ 9 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร แถมระหว่างการใช้บริการ ผู้ให้บริการออดิโอเท็กซ์จะพยายาม ‘เตะถ่วง’ ผู้บริโภคให้ไม่สามารถใช้บริการคอนเทนต์ให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 1 นาที พูดง่ายๆ พยายามยื้อให้ลูกค้าเสียเงินมากที่สุดนั่นเอง

2.Web Catalogue เป็นบริการด้านการค้าขายสินค้าออนไลน์ ที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ บริการของ Web Catalogue จะมีแค่หน้าเว็บ พร้อมกับการแสดงสินค้า แต่ไม่มีระบบการสั่งซื้อผ่านหน้าเว็บ จำเป็นต้องอาศัยการโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม และไม่สามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้

บริการดังกล่าวนี้ ใกล้สิ้นอายุขัยเต็มที ภายหลังจากที่ปัจจุบันการขายสินค้าออนไลน์ผ่านตัวแทนอย่างตลาดดอทคอม หรือดีลฟิช กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า รวมไปถึงการขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก ก็ถือว่าเป็นการเข้ามาเบียดพื้นที่ของเว็บแคทตาล็อกเช่นกัน เพราะไม่ต้องมาเสียเวลาต่ออายุโดเมนเนม และเสียค่าบริการโฮสติ้งใดๆ ทั้งสิ้น

3.SMS Marketing ปัจจุบันมือถือไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือฟีเจอร์โฟนก็ตาม กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มนุษย์เดินดินมิอาจห่างกายได้ จึงทำให้เกิดการทำตลาด ชักชวนซื้อขายสินค้า ผ่านระบบ SMS ซึ่งบริการดังกล่าวนี้ ในปี 2556 อาจกลายเป็นอีกบริการหนึ่งที่พร้อมตกยุคได้เช่นกัน เนื่องจากว่า การทำ SMS Marketing นั้นมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งผลที่ได้รับถือว่าไม่ค่อยคุ้มค่าต่อการลงทุน

ปัจจุบันผู้ใช้มือถือส่วนใหญ่ รู้สึกเหนื่อยหน่ายใจกับการที่ต้องคอยลบข้อความจำพวก SMS ขยะลงสู่ถังจนผู้ใช้มือถือบางรายถึงขั้นยกหูกดโทรศัพท์แจ้งเจตจำนงต่อโอเปอเรเตอร์ว่า ไม่ต้องการรับข่าวสารใดๆ ทั้งสิ้นผ่าน SMS

ที่สำคัญที่สุด เวลานี้เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาททำให้สามารถเข้าถึงบุคคลได้ทุกเพศ ทุกวัย จนเกิดเครือข่ายสังคม เข้ามาเป็นช่องทางในการทำตลาดที่ดีกว่า ทำให้แบรนด์ที่ต้องการทำการตลาดผ่านระบบเก่านี้ สามารถหันมาใช้เครือข่ายสังคมที่แทบไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ แถมยังสามารถบอกต่อได้ครบถ้วน ตรงเป้าหมาย และทั่วถึงกว่าอีกด้วย

4.Digital Download การถือกำเนิดของสมาร์ทโฟน ก่อให้เกิดตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจอย่างตลาดแอปพลิเคชัน อีบุ๊ก รวมไปถึงวงการเพลงด้วย ในอดีตตลาดของเพลงนั้น จำกัดอยู่แค่การซื้อเทป-ซีดี ก่อนที่จะเข้าสู่ยุค 2000 ที่เป็นยุคของการดาวน์โหลดเพลง MP3 และบรรดาค่ายเพลงจึงเริ่มปรับกลยุทธ์การตลาดของการดาวน์โหลดเพลงให้อยู่ในรูปแบบของ Digital Content โดยมีการกำหนดรหัสศิลปิน และรหัสเพลง เพื่อดาวน์โหลดลงสู่มือถือ

แต่ในเวลานี้ยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล ได้เปิดบริการซื้อเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยหรือเพลงต่างประเทศผ่าน iTunes ได้แล้ว จุดนี้อาจทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจที่จะเลือกซื้อเพลงจาก iTunes มากกว่าที่จะซื้อ ผ่าน Digital Download ตรงที่ว่า ถ้าซื้อเพลงผ่าน iTunes เพียงแค่เสิร์ชชื่อเพลงก็สามารถซื้อได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องจดจำรหัสศิลปิน หรือรหัสเพลงให้เสียเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น