xs
xsm
sm
md
lg

“อนุดิษฐ์” แนะทางออกคลื่น 1800 MHz ต้องอยู่กับ กสท ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อนุดิษฐ์” แนะทางออกหลังสัมปทานคลื่น 1800 MHz หมดต้องอยู่กับ กสท ต่อ เชื่อต้นปีหน้าได้ข้อยุติ ส่วนสัญญา 3G กสท-ทรูระบุต้องลดสถานะเป็นแค่ MVNO

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ในขณะนี้แผนการดำเนินการเพื่อรองรับหลังสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ในการให้บริการระบบ 2G ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ให้สัมปทาน กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ซึ่งมีลูกค้า 17 ล้านราย และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) มีลูกค้าอีก 80,000 ราย ที่ได้สิทธิใช้คลื่นความถี่รายละ 12.5 MHz รวม 25 MHz ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใครจะถือครองคลื่นดังกล่าวหลังหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2556 เนื่องจาก กสท และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่างมีจุดยืนที่เหมือนกันในการนำคลื่นหลังหมดสัญญาสัมปทานกลับมาไว้อยู่ที่ตนเพื่อบริหารจัดการเอง

“เราเป็นห่วงว่าการที่ยังตกลงกันไม่ได้ทั้ง 2 ฝ่ายอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ใช้งานบนคลื่น 1800 MHz ซึ่งมีจำนวนราว 17.8 ล้านราย อาจเกิดสภาวะสุญญากาศในการใช้งานได้”

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวควรที่จะได้ข้อยุติในช่วงต้นปี 2556 โดยการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือ ภายหลังหมดสัญญาสัมปทานคลื่นควรกลับมาอยู่ที่ กสท เพื่อที่ กสท จะได้นำคลื่นที่ได้มาบริหารจัดการให้ลูกค้าที่คงค้างอยู่ในระบบได้ใช้งานอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมถึงการสร้างข้อตกลงทางธุรกิจกับทรูว่าจะทำอย่างไรกับลูกค้าที่ถูกโอนย้ายมา รวมถึงในกรณีเดียวกัน หากพิจารณาจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. กสทช.) ที่ระบุไว้ว่าการบริหารคลื่นจะเลือกวิธีใดก็ตามจะต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ฉะนั้นการคำนึงถึงประชาชนในการได้ใช้งานโทรศัพท์บนคลื่น 1800 MHz จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่การรอเยียวยาปัญหาในภายหลัง

“หากเรื่องดังกล่าวหาข้อยุติไม่ได้ในเรื่องของกฎหมายอาจจะต้องไปถึงชั้นศาล แต่ยังเชื่อว่าจะได้ข้อยุติในช่วงต้นปี 56 เนื่องจากทุกหน่วยงานน่าจะมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจร่วมกันได้ ซึ่งถ้าทะเลาะกันก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไร”

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าปัญหาสัญญาการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่เพื่อให้บริการ 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA บนคลื่นความถี่ 850 MHz ระหว่าง กสท กับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้นตนเห็นว่าทั้ง 2 บริษัทควรตกลงเรื่องการแก้ไขสัญญาให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2556 เพื่อให้ธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทคล่องตัว

“เชื่อว่าในปีหน้าเมื่อได้ข้อยุติทั้งหมดทรูจะเป็น MVNO ของ กสท เท่านั้นโดยสิทธิที่เคยได้เสมือนสัมปทานก็ไม่มีในสัญญาอยู่แล้วในตอนแรก และส่งผลให้ กสท จะมีรายได้จากการให้บริการโครงข่ายร่วม (MVNO) ตรงนี้มาแทนรายได้สัมปทาน เพราะ กสท สามารถแบ่งสัดส่วนคาปาซิตีให้เอกชนรายอื่นทำ MVNO ได้อีกหลังจากที่ กสท กับทรูมูฟได้มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการครองสิทธิคาปาซิตีลงจาก 80% ลงแล้ว”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 55 กระทรวงไอซีทีได้มีการลงบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุน และยกระดับการเรียนรู้ และการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศไทยตามนโยบายช่วยเหลือสังคม (CSR) ของบริษัทหัวเว่ยฯ

โดยหัวเว่ยฯ จะเข้ามาทำหน้าที่จัดบรรยายทางวิชาการ ฝึกทดลอง ฝึกอบรม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมทางวิชาการอื่น เพื่อเสริมความรู้และทักษะให้แก่บุคลากรในกระทรวงไอซีทีเป็นเวลา 2 พันชั่วโมง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะมีระยะเวลาการดำเนินงานทั้งสิ้น 4 ปี

Company Relate Link :
ICT
กำลังโหลดความคิดเห็น