ลุ้นระทึกตั้งแต่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยระบุว่า หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่าน 2.1GHz เป็นการดำเนินการที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 47 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา45 ประกอบมาตรา 41 วรรค1 และ วรรค 7 ซึ่งได้ร้องขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน และขอให้ศาลมีคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ด้วยการระงับการออกใบอนุญาต2.1GHz (3G) ที่มีการประมูลไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค.55 เอาไว้ก่อน
แต่เมื่อบ่ายวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมานายสุชาติ ศรีวรกร ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครอง ได้นั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งในคดีดังกล่าวโดยระบุว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นผู้ฟ้องร้องไม่มีอำนาจ และสิทธิในการฟ้องในคดีนี้ ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง และไม่คุ้มครองชั่วคราว พร้อมให้จำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบ
คำสั่งดังกล่าว เหมือนเป็นการเปิดฟ้าใหม่ ให้วงการโทรคมนาคมของประเทศไทย หลังอึดอัด อัดอั้น ทนใช้บริการ 3G เทียมมาเป็นเวลานาน รวมทั้งเชื่อได้ว่า บริการ 3G แท้ในย่านความถี่ 2.1 GHz ภายใต้ใบอนุญาตจากกสทช. จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการโทร.(วอยซ์) ให้ทุเลาเบาบางลงไป อย่างน้อยต้องดีขึ้นกว่าปัจจุบันที่โทร.ติดๆ ขัดๆ เสียงไม่ชัดเจน
หลังรับรู้คำสั่งศาลปกครอง พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โต้โผใหญ่การจัดประมูลครั้งนี้ ที่กำลังเอาคอพาดเขียงป.ป.ช. ออกมาให้ความเห็นว่าเป็นที่น่าพอใจสำหรับคำสั่งศาล ที่ไม่รับฟ้องคดี 3G โดยหลังจากนี้ขั้นตอนต่อไป จะสรุปผลการรายงานในเรื่องของคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHz ที่ไม่พบว่าผู้เข้าประมูลทั้ง 3 รายคือเอไอเอส ดีแทค และทรู มีพฤติกรรมการฮั้วประมูล รวมทั้งรายงานผลคำสั่งศาลปกครอง เพื่อสรุปรายงานทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดกทค.ในวันที่ 7 ธ.ค.ต่อไป
อย่างไรก็ตามเอกชนทั้ง 3 รายยังต้องฝ่าด่านหินอีกเรื่อง คือการลดค่าบริการทั้งเสียงและข้อมูลลง 15-20% โดยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องตกลงกันให้ได้ ก่อนที่กทค.จะแจกใบอนุญาต ซึ่งหากตกลงได้เร็ว เอกชนก็จะได้ใบอนุญาตเร็วตามไปด้วย แต่ทั้งหมดนี้ต้องเดินตามเงื่อนไขในการประมูลที่ต้องออกใบอนุญาตให้ภายใน 90 วันหลังกทค.รับรองผลการประมูล หรือ ไม่เกินวันที่ 18 ม.ค. 2556 โดยอัตราค่าบริการที่ได้ข้อสรุปแล้ว จะเป็นเงื่อนไขแนบท้ายการออกใบอนุญาต เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตนำใช้ในการกำหนดค่าบริการ 3G เป็นการชั่วคราว จนกว่ากทค.จะประกาศบังคับใช้อัตราค่าบริการ 3G ขั้นสูงซึ่งเป็นตามที่กฎหมายกำหนดต่อไปภายหลัง ซึ่งเรื่องค่าบริการดังกล่าวจะมีการถกกันในที่ประชุมกทค.ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้แผนงานที่กสทช.จะต้องเดินหน้าต่อไปหลังจากนี้ คือ 1.การออกประกาศหลักเกณฑ์การใช้โครงข่ายร่วมกัน (อินฟราสตักเจอร์แชร์ริ่ง) 2.ประกาศการเชื่อมโยงโครงข่าย (อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ) ที่จะต้องเรียกเก็บไม่เกินนาทีละ 50 สตางค์ โดยเป็นการเก็บค่าบริการเฉพาะผู้ให้บริการ 3G ทั้ง 3 ราย โดยกฎเกณฑ์ทั้ง 2 เป็นกฏเกณฑ์หลักสำหรับการให้บริการ 3G ซึ่งตอนนี้รอเพียงเสนอให้บอร์ดกทค.และกสทช.อนุมัติในหลักการเท่านั้นก่อนจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
รวมไปถึงข้อเสนอที่สำนักงานกสทช.จะเสนอแนวทางให้ผู้ประกอบการต้องทำประกันคุ้มครองความเสี่ยงอันอาจจะเกิดกับผู้บริโภคเนื่องจากโครงข่ายล่ม โทร.ติดยาก รวมถึงคุณภาพบริการเสียงและข้อมูล หากเกิดปัญหาในการให้บริการ 3G เพื่อเสนอให้บอร์ดกทค.พิจารณาเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปด้วย
ทั้งนี้หากกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้น กทค.ก็จะเดินหน้าออกใบอนุญาต 3G ให้ผู้ที่ชนะการประมูล 3 รายคือ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ก จำกัด 2.บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด และ 3.บริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัดทันที ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในสิ้นเดือนธ.ค. นี้ หรือ ดีไม่ดีไม่เกินวันที่ 20 ธ.ค.ด้วยซ้ำ โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการทั้ง3รายจะสามารถเปิดให้บริการ 3G ในหัวเมืองใหญ่ๆ ได้ภายใน 3-4 เดือนหลังได้รับใบอนุญาตแล้ว
***เอกชนเทหมดหน้าตักลุย3G
วิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ระบุว่าแผนการลงทุนพัฒนาโครงข่ายสำหรับ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz นั้นเอไอเอสได้เตรียมงบประมาณจำนวน 50,000 ล้านบาท ในการลงทุนระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยเชื่อว่าจะสามารถเปิดให้บริการ 3G ในกทม. หัวเมืองใหญ่ ได้ภายในเดือนมี.ค.2556 ด้วยคุณภาพสัญญาณทั้งเสียง ข้อมูล รวมถึงราคา จะพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน แต่ต้องได้ใบอนุญาตตามกำหนดเวลาที่หวังไว้ด้วย
ด้านดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ดีแทค มีเงินทุนเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการลงทุน โดยกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศวงเงิน 30,000 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดของบริษัท อีก 20,000 ล้านบาทซึ่งมั่นใจว่าการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G ในครั้งนี้จะสามารถเปิดให้บริการกับผู้บริโภคได้ทันตามกำหนดของ กสทช.ที่ตั้งไว้แน่นอน
ขณะที่นพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการเงิน ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่าบริษัทได้เตรียมเงินลงทุนในการพัฒนาโครงข่าย 3G จำนวน 20,000 ล้านบาท และจะหาหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดด้วย
3G ประเทศไทยถือว่าล่าช้ามานาน แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา คำสั่งศาลปกครองครั้งนี้ ถือเป็นการปลดพ่วงพันธการด้านความถี่ ที่เอกชนไทยถูกมัดมือมาตลอดหลายปี จนทำให้บางรายต้องหาช่องว่างรอยโหว่ของกฎหมาย ดำเนินธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ด้วยการทำสัญญาพิลึกพิลั่น เพื่อครอบครองความถี่ที่ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่า เพื่อต่อยอดธุรกิจสร้างเรื่องราวหลอกล่อนักลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า
เพราะตราบเท่าที่สัญญาสัมปทานใกล้หมดอายุลง ในขณะที่ภาครัฐไร้วิชั่น การเมืองส่งบอร์ดไม่เอาไหนมา ส่งซีอีโอขัดตาทัพมา แล้วก็ไป ขาดการวางแผนระยะยาว แผนเฉพาะหน้า มุ่งแต่ปั้นโครงการสวาปามสร้างความมั่งคั่งส่วนตัว องค์กรตัวเองยังเอาไม่รอด นับประสาอะไรจะให้เอกชนมาฝากความหวังกับสัญญาสัมปทานที่งวดเข้ามาทุกวัน
สังคมต้องแยกให้ออกระหว่างการออกใบอนุญาต และการทุจริตคอรัปชั่น ไม่ปกป้องประโยชน์สาธารณะเพราะใน เมื่อเทคโนโลยีพร้อม ผู้ใช้บริการพร้อม ประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดกับการนำเทคโนโลยีมาใช้พร้อม ผู้ให้บริการพร้อม ประเทศชาติพร้อม แต่สงสัยคนที่เสียประโยชน์อาจไม่พร้อมที่จะก้าวพ้นบ่วงกรรม 3G ก็เป็นได้