บอร์ด กสท.เดินหน้าร่างประกาศฯ ลดหย่อน-ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต คาด ก.พ. 56 มีผลบังคับใช้ พร้อมเตรียมทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอล ธ.ค.นี้
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยวันนี้ (12 พ.ย.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสท.มีมติเห็นชอบในการร่างประกาศ กสทช. เรื่องการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ ดังกล่าวจะแบ่งเป็น ประเภทชุมชน ถ้ามีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเกิน 70% จะได้รับการยกเว้น ประเภทสาธารณะ มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์มากกว่า 70% ก็จะได้รับการลดหย่อนค่าธรรมเนียม 50% และประเภทธุรกิจถ้ามีเนื้อสาระมากกว่า 50% ที่เป็นประโยชน์ ก็จะได้รับลดค่าธรรมเนียมลง 15%ขณะที่ในปัจจุบัน กสทช.จัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตปีละ 2% ของรายได้
“ร่างประกาศฉบับดังกล่าวจะนำเสนอบอร์ดกสทช.ในวันที่ 14 พ.ย. เพื่อนำไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ตามกระบวนการกฎหมาย โดยเบื้องต้นคาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้าก็จะมีผลบังคับใช้”
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ต้องมีร่างประกาศฯ ขึ้นมาลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการนั้นถือว่าเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ โดยระบุว่าหากผู้ประกอบการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็ควรจะสร้างกลไกจูงใจเพื่อให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญในการผลิตเนื้อหารายการให้มีสาระต่อสังคมมากยิ่งขึ้นต่อไป
พ.อ.นทีกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือในการทดลองระบบรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมาทำข้อตกลงกับ กสทช.เพื่อทดลองการออกอากาศ ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้จะมีความชัดเจนว่าผู้ประกอบการรายใดที่ต้องการเข้าร่วมทดลองการออกอากาศทีวีดิจิตอล และการทดลองออกอากาศในครั้งนี้จะเป็นในลักษณะการรวมกลุ่มกันทุกๆ รายมาทำงานทดลองออกอากาศ เนื่องจากคลื่นที่ใช้ทดลองออกอากาศมีจำนวนจำกัด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ 3 ร่างประกาศภายหลังเปิดประชาพิจารณ์ไปแล้ว ประกอบด้วย เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (มัสต์แฮฟ), ร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน กสทช.ตามมาตรา 53 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอบอร์ด กสทช.เพื่ออนุมัติในที่ประชุมในวันที่ 14 พ.ย.นี้ก่อนจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ขณะเดียวกัน ในประเด็นที่มีบอร์ด กสทช.บางท่านมีข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศมัสต์แฮฟนั้น สุดท้ายมติบอร์ด กสท.ก็ไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด โดยเฉพาะคำนิยามเท่านั้นที่มีต่อท้ายให้ทั้ง 7 ชนิดกีฬาที่ระบุอยู่ในร่างประกาศฯ ต้องเผยแพร่ในช่องฟรีทีวี เนื่องจากคำว่าเท่านั้นถือเป็นสาระสำคัญ หากไม่มีอยู่ร่างประกาศฯ ฉบับนี้จะไม่มีความหมายเลย
โดยสาระสำคัญการที่มีร่างประกาศฯ นี้ก็เพื่อให้รายการกีฬาต้องอยู่แต่เฉพาะในฟรีทีวีไม่ใช่เคเบิล หรือทีวีดาวเทียม แต่หากผู้ประกอบการมีความต้องการนำกีฬาใน 7 ชนิดที่กำหนดในร่างประกาศฯ ไปเผยแพร่ในช่องทางอื่นนอกเหนือจากฟรีทีวี ก็สามารถเข้ามาขออนุญาต กสทช.ได้ ซึ่ง กสทช.จะพิจารณาตามความจำเป็นแต่ละกรณีไป
พ.อ.นทีกล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนกรณีการถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่มีกระแสข่าวออกมาว่าคนไทยอาจไม่ได้ดูนั้น ล่าสุดบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 ได้มาหารือกับ กสท.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ กสท.ได้ยืนยันว่าการถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 32 ทีม 64 แมตช์ คนไทยจะต้องได้ดูทุกแมตช์ผ่านสถานีโทรทัศน์ทั่วไป (ฟรีทีวี) ไม่ว่าจะดูผ่านเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม เนื่องจากถือว่าอยู่ในข้อกำหนดประกาศของ กสทช.ที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม
Company Relate Link :
กสทช.