วงเสวนาไอทียูยังไม่ชี้ชัดเรื่องข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITRs) ด้านตัวแทนไอซีทีย้ำชัดไม่ต้องกังวล ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยก็จะไม่ลงนามในสนธิสัญญา ฝั่งตัวแทนผู้ประกอบการมองร่างดังกล่าวช่วยสร้างประโยชน์ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
โดยภายในเวทีเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ 9 “ITU จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต : ไทยควรมีท่าทีอย่างไร” จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อหาแนวทางออกสำหรับประเทศไทยในสนธิสัญญาฉบับใหม่ของไอทียู
ดร.อาจิณ จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า คณะทำงานของกระทรวงทราบว่าทุกเรื่องมีขั้นตอนในการจัดการอยู่ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลกระทบ เนื่องจากทางกระทรวงรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ซึ่งในกรณีที่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็พร้อมที่จะไม่เซ็นรับสนธิสัญญาดังกล่าว เพราะไอซีทีก็มีกฎหมายควบคุมอยู่
ขณะที่กาญจนา กาญจนสุต อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มองว่า ปัจจุบันการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนไปกลายเป็นโครงสร้างที่รัฐหรือองค์กรที่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง หลายๆ ผู้ประกอบการมีโครงข่ายเป็นของตนเอง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานจึงควรต้องมีหน่วยงานออกมากำกับดูแล
นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหารเว็บไซต์ kapook.com ให้ข้อมูลเสริมว่า สมัยแรกสุดผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตต้องเสียเงินเพื่อเข้าไปหาข้อมูลที่ดีๆ ต่อมาคอนเทนต์ต่างๆ ถูกนำออกมาเผยแพร่แบบสาธารณะ ส่งผลให้แนวการชำระเงินเพื่อเข้าถึงข้อมูลสูญหายไป
ในขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ก็มองว่าผู้ที่สร้างคอนเทนต์เริ่มมีการใช้แบนด์วิดท์มากขึ้น ส่งผลให้ ISP มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มความเร็วในการใช้งานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้งานได้เข้าถึงคอนเทนต์ ร่างข้อบังคับของ ITU ก็จะช่วยเข้ามาลดภาระของ ISP ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแทนผู้ประกอบการ
“ผู้ประกอบการใดมีคอนเทนต์ที่คนปฏิเสธไม่ได้จะมีอำนาจเหนือตลาด เช่น กูเกิลให้บริการยูทิวบ์ ถ้ามีการเปิดให้บริการ ISP โดยใช้แรงจูงใจว่าผู้ที่ต้องการรับชมยูทิวบ์แบบรวดเร็วต้องสมัครใช้บริการ เป็นแนวทางสร้างรายได้อย่างหนึ่ง”
ก่อนหน้านี้ นางสาวดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ ประเทศไทย ISOC (ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก) ได้จุดประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอในสนธิสัญญาที่สมาชิกไอทียูทั่วโลกเสนอให้ปรับแก้ (Draft of the Future ITRS) ที่จะนำเข้าไปเสนอในการประชุม WCIT-12 (World Conference on International Telecommunication 2012) ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-14 ธันวาคม 2555 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งหมด 15 ข้อ ซึ่งภายในมี 6 ประเด็นสำคัญที่กระทบต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง
ซึ่งทั้ง 6 ข้อประกอบไปด้วย 1. กำหนดให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตจ่ายตามการใช้แบบ Pay Per Click 2. กำหนดให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตจะต้องจ่ายค่าใช้งานให้เจ้าของเครือข่าย หรือเน็ตเวิร์กโอเปอเรเตอร์ (Sender Pay Model) 3. กำหนดให้มีการเปิดเผยประวัติการใช้งานของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 4. กำหนดให้มีนิยามสแปม และขยายขอบเขตการรักษาความปลอดภัยให้ครอบคลุมมากขึ้น 5. กำหนดให้อินเทอร์เน็ตอยู่ภายใต้สนธิสัญญาใหม่ รวมถึงการกำหนดนิยาม ICT/Quality of Service ให้ชัดเจน และ 6. กำหนดให้สนธิสัญญาใหม่เป็นเชิงบังคับ จากเดิมที่เป็นลักษณะสมัครใช้
โดยเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อวงการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย และออกมาให้ความสนใจเกี่ยวกับข้อเสนอใหม่ของไอทียูคงหนีไม่พ้นเรื่องของการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตทุกครั้งต้องเสียเงินที่ถูกเสนอขึ้นมาจากหลายๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่อย่างจีน และรัสเซีย หรือประเทศเล็กๆ อย่างฟิจิ ที่ต้องการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ
“เรื่องทั้งหมดยังเป็นร่างข้อตกลงที่จะนำเข้าเสนอ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ข้อความที่สามารถตีความได้แบบกว้างๆ เพื่อให้สามารถนำมาซึ่งผลสรุปในการประชุมใหญ่ ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงต้องหาท่าทีที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะยอมรับในข้อเสนอใดบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องออกเสียงในการประชุมดังกล่าว”
ทั้งนี้ ขั้นตอนในการนำข้อเสนอร่วมเข้าสู่ที่ประชุม WCIT-12 จะถูกรวบรวมโดยกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นเวทีกลาง โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มองค์กรโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Telecomminity : APT) หลังจากที่แต่ละประเทศพิจารณาร่างข้อบังคับแล้วมีประเทศสมาชิกอย่างน้อย 1 ใน 4 เห็นด้วย ร่างข้อเสนอดังกล่าวก็จะเป็นข้อเสนอร่วม (APT Common Proposal : ACP) แต่ขณะเดียวกันไอทียูก็เปิดให้ประเทศสมาชิกสามารถยื่นเรื่องตรงโดยไม่ต้องผ่านเวทีกลางได้
สำหรับข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Regulations : ITRs) ถือเป็นข้อบังคับทั่วไปในเรื่องหลักการและการปฏิบัติการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่ไอทียูซึ่งมีสมาชิก 193 ประเทศทั่วโลกกำหนดขึ้น ครอบคลุมทั้งเรื่องของการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ การทำงานร่วมกันของโครงสร้างโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งมีการปรับพิจารณาแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี 2531 และมีข้อบังคับหลายประเด็นล้าสมัยไปแล้ว จึงได้มีการหารือเกี่ยวกับการแก้ไข และกำหนดให้เตรียมการประชุม WCIT-12 ขึ้นนั่นเอง
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า กสทช.มีบทบาททำได้เพียงให้ข้อมูลและทำงานร่วมกับไอซีทีให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพราะขอบเขตการทำงานยังไม่ครอบคลุมถึงการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ส่วนในอนาคตถ้าจะมีบทบาทมากขึ้นก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้อำนาจของ กสทช.ครอบคลุมมากขึ้น
Company Relate Link :
ICT
กสทช.
ไอทียู