ฮิตาชิฯ รุกหนักตลาดสตอเรจในไทย ส่งแพลตฟอร์มใหม่ Hitachi Unified Storage VM (HUS VM) ช่วยบริการจัดการสตอเรจสำหรับองค์กรขนาดกลางที่มีงบน้อย แต่ต้องการประสิทธิภาพในระดับเอนเตอร์ไพรส์ พร้อมตั้งเป้าขอก้าวเป็นเบอร์ 3 ภายใน 2 ปี
นายซาราวานัน คริชนาน ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจด้านแพลตฟอร์มและโซลูชันประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ กล่าวว่า ปัญหาขององค์กรขนาดกลางในการบริหารจัดการสตอเรจที่มีการใช้งานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็คือ การขาดโซลูชันจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลเสมือนจริงที่มีลักษณะอเนกประสงค์และสามารถปรับขยายได้ ทำให้ฝ่ายไอทีขององค์กรจำเป็นต้องรับมือกับความต้องการจำนวนมากที่ไม่ต่างจากองค์กรขนาดใหญ่ ในขณะที่งบประมาณมีจำกัด ทำให้องค์กรขนาดกลางจึงมีความต้องการโซลูชันระบบเสมือนจริงที่จะผสานรวมและทำให้การจัดการข้อมูลเป็นเรื่องง่าย ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความมีเสถียรภาพ รวมทั้งปรับปรุงความสามารถด้านการให้บริการ
“วิธีแก้ปัญหาขององค์กรขนาดกลางก็คือ ยอมลดระดับคุณภาพ ความมีเสถียรภาพ และความสามารถในการสร้างระบบเสมือนจริงสำหรับข้อมูลของตนเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่จำกัดของตน สถานการณ์ได้อย่างเสียอย่างนี้ส่งผลให้เกิดความซับซ้อนเพิ่มขึ้น วัตถุประสงค์ด้านระดับบริการ (SLO) ผิดเพี้ยนไป ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการเคลื่อนย้ายข้อมูล และส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ”
นายวัชรสิทธิ์ สันติสุขนิรันดร์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ พีทีอี ลิมิเต็ด กล่าวเสริมว่า เพืื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ทางฮิตาชิฯ จึงได้นำความสามารถในการบริหารจัดการสตอเรจแบบเสมือนจริงสำหรับองค์กรขนาดใหญ่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Hitachi Unified Storage VM (HUS VM) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การโยกย้ายข้อมูลสามารถทำได้รวดเร็วขึ้นถึง 90% และลดต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (ทีซีโอ) มากกว่าระบบอื่นที่ไม่ใช่ระบบเสมือนจริงถึง 30%
จุดเด่นอีกประการของ HUS VM คือ มีซอฟต์แวร์การจัดการที่เรียกว่า Hitachi Command Suite โดยจะช่วยให้สามารถใช้บริการด้านการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่ต้องการได้ทุกที่ทุกเวลา และน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่รับประกันความพร้อมใช้งานของข้อมูลที่ระดับ 100% ซึ่งฮิตาชิมีชื่อเสียงด้านความมีเสถียรภาพในระบบมาอย่างยาวนาน
“HUS VM ถือเป็นผลิตภัณฑ์เชิงกลยุทธ์ของฮิตาชิในการขยายตลาดสตอเรจของฮิตาชิในอนาคต เพราะสามารถบริหารจัดการสตอเรจจากผู้ผลิตยี่ห้ออื่น รวมถึงสตอเรจของฮิตาชิได้ที่จุดเดียว เนื่องจาก HUS VM อิงมาตรฐานเปิด”
นายวัชรสิทธิ์กล่าวอีกว่า กลุ่มเป้าหมายที่เหมาะต่อการนำ HUS VM ไปใช้งานน่าจะเป็นองค์กรที่มีดาต้าเซ็นเตอร์ และมีทีมไอทีที่ดูแลระบบอยู่แล้ว โดยมีขนาดสตอเรจตั้งแต่ 20 เทลาไบต์ขึ้นไป ตลาดในส่วนนี้มีตั้งแต่ธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม หน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงตลาดการศึกษา โดยจะเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ถึง 70% ซึ่งคาดว่าปีนี้น่าจะมีบริษัทติดตั้ง HUS VM อย่างน้อย 1-2 ราย
“ทางฮิตาชิเชื่อว่า HUS VM จะมีส่วนช่วยให้ฮิตาชิสามารถกินส่วนแบ่งตลาดสตอเรจของคู่แข่งได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังไม่มีคู่แข่งในตลาดที่นำเสนอแพลตฟอร์มที่เป็นระบบเปิดในลักษณะนี้สำหรับองค์กรขนาดกลาง”
อัตราการเติบโตของตลาดสตอเรจในประเทศไทยตามที่ไอดีซีระบุไว้ว่าจะอยู่ที่ 10-15% ซึ่งเป้าหมายของฮิตาชิฯ เชื่อว่าจะมีการเติบโตของตลาดรวม โดยเวลานี้ฮิตาชิฯ มีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดสตอเรจภายนอกเป็นอันดับ 5 ในตลาด แต่ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้จะทำให้ฮิตาชิฯ มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 ให้ได้ภายใน 2 ปี
“ตลาดสตอเรจต้องยอมรับว่าการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะราคา เนื่องจากราคาในส่วนของฮาร์ดแวร์ลดลง ขณะที่ความจุของสตอเรจเพิ่มขึ้น”
Company Relate Link :
Hitachi