คำว่า"ฟล็อปปี้ ดิสก์"นั้นเป็นคำที่หลายคนไม่ได้พูดถึงมานานเกือบ 10 ปี แต่วันนี้สื่อเก็บข้อมูลพันธุ์เก๋าถูกนักคิดเมืองผู้ดีอังกฤษนำมาลงสีและสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์ภาพเหมือนบุคคลซึ่งสะท้อนอารมณ์หลากหลายและแปลกใหม่เหลือเกิน
ศิลปินอังกฤษรายนี้มีชื่อว่า นิค เจนทรี (Nick Gentry) ซึ่งมีดีกรีเป็นนักสร้างสรรค์งานศิลป์จากสื่อไอทียุคเก่ามาตลอด โดยก่อนหน้านี้ เจนทรีเคยนำสื่อเก็บข้อมูลในยุคหลายสิบปีที่แล้วทั้งเครื่อง VCR, ม้วนฟิลม์, เทปคลาสเซ็ต และสื่ออื่นๆมาจัดวางและสร้างสรรค์ใหม่เป็นงานศิลปะ
งานศิลป์ของเจนทรีต้องการสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคของชาวไอที ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีและโลกของสื่ออยู่เสมอ ซึ่งในปัจจุบัน 2 ปัจจัยหลังนั้นมีอิทธิพลมากขึ้นอย่างชัดเจนและมีผลกับผู้บริโภคทั่วโลก
ชุดงานล่าสุดนี้ไม่มีการระบุชื่อที่เจนทรีตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ มีเพียงคำจำกัดความที่สำนักข่าวออนไลน์ตั้งขึ้นเองว่า ‘floppy disk paintings’ หรืองานระบายสีบนฟล็อปปี้ ดิสก์ ซึ่งไม่แน่ว่าผู้ชมผลงานนี้หลายคนอาจจะรู้สึกคิดถึงฟล็อปปี้ดิสก์ในความทรงจำที่เคยใช้งานสมัยเรียนหนังสือ
ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า ฟล็อปปี้ ดิสก์คือแผ่นดิสก์แบบอ่อน เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่อาศัยหลักการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็ก มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกสี่เหลี่ยมที่มีแผ่นดิสก์บางกลมบรรจุอยู่ภายใน คอมพิวเตอร์สามารถอ่านและเขียนข้อมูลลงบนฟล็อปปี้ ดิสก์ ผ่านทางฟล็อปปี้ ดิสก์ไดร์ฟ (floppy disk drive) ซึ่งถูกลดความนิยมในช่วงปี 2003 เป็นต้นมา
แผ่นดิสก์ยุคแรกนั้นมีขนาด 8 นิ้ว สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1971 เพื่อใช้กับเครื่อง System/370 ของบริษัทไอบีเอ็ม (IBM) ต่อมาหนึ่งในทีมงานได้แยกตัวออกไปตั้งบริษัทเองและสามารถลดขนาดแผ่นเก็บข้อมูลให้เหลือ 5¼ นิ้ว พัฒนาของแผ่นดิสก์เกิดขึ้นต่อเนื่องจนทำให้แผ่นสามารถบรรจุข้อมูลมากขึ้นในขนาดที่เล็กลง กระทั่งปี 1984 แอปเปิลตัดสินใจผลิตเครื่องแมคอินทอชที่ใช้แผ่นดิสก์ขนาด 3½ นิ้วของบริษัทโซนี่ และผลักดันให้แผ่น 3½ นิ้ว เป็นมาตรฐานในวงการอุตสาหกรรมของอเมริกา
ความจุเริ่มแรกของแผ่นดิสก์ขนาด 3½ นิ้ว คือ 360 KB สำหรับหน้าเดียว (single density) และ 720 KB สำหรับสองหน้า และต่อมาก็สามารถเพิ่มความจุเป็น 1.44 MB โดยการเพิ่มความจุต่อหน้า (high-density) ต่อมา ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ก็พบวิธีทำให้มีความจุเป็น 2.88 MB (extended-density) โดยการเปลี่ยนวิธีการเคลือบแผ่น แต่รุ่นสุดท้ายนี้ไม่ได้รับความนิยม เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในขณะนั้น ต้องการความจุที่สูงกว่านี้ แผ่นดิสก์จึงถูกแทนที่ด้วยหน่วยจัดเก็บข้อมูลแบบอื่นไป เช่น ซีดีรอม และ ดีวีดีรอม
สำหรับผลงานถัดไป เจนทรีจะสร้างสรรค์งานในชื่อ Xchange โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขอบริจาคฟิล์มเนกาทีฟ ฟิล์ม X-rays และฟิล์มอื่นๆที่โปร่งแสง ซึ่งผลงานจะเป็นอย่างไรต้องรอชมที่ www.nickgentry.com
OBSOLETE - Nick Gentry from Nick Gentry on Vimeo.
Related Link :
NickGentry