xs
xsm
sm
md
lg

“Hangouts” ผงาด Gmail

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กูเกิลเปิดกลยุทธ์เสริมแกร่งบริการฟรีอีเมลอย่าง “จีเมล” ด้วยการนำบริการกูเกิลพลัสแฮงก์เอาต์ (Google+Hangout) เข้ามาให้บริการผู้ใช้จีเมลให้สามารถคุยกับเพื่อนมากกว่า 10 คนพร้อมกันแบบเห็นหน้าได้ผ่านวิดีโอเรียลไทม์ งานนี้ไม่ได้แปลว่ากูเกิลต้องการใช้จีเมลเป็นเครื่องมือเพิ่มจำนวนผู้ใช้แฮงก์เอาต์แบบทางลัด เพราะผู้บริหารย้ำว่าตั้งใจเสริมความสามารถที่ใหม่กว่าด้านวิดีโอให้จีเมลเท่านั้น โดยเชื่อว่าแฮงก์เอาต์จะสามารถทำงานร่วมกับบริการกูเกิลทอล์ก ซึ่งผู้ใช้สามารถรับส่งข้อความแชตได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

เฟรด บรีวิน (Fred Brewin) ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์กูเกิล ประกาศว่ากูเกิลจะดำเนินการอัปเกรดระบบวิดีโอในบริการจีเมลตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.จนถึงช่วงต้นเดือน ส.ค.โดยจะนำบริการแฮงก์เอาต์ในเครือข่ายสังคมกูเกิลพลัส (Google+Hangouts) มาทำให้ผู้ใช้จีเมลสามารถคุยวิดีโอกับเพื่อนได้มากกว่า 1 คนในเวลาเดียวกัน ซึ่งผิดจากระบบวิดีโอดั้งเดิมที่ผู้ใช้สามารถสนทนาวิดีโอแชตกับเพื่อนได้แบบ 1 ต่อ 1 เท่านั้น

ไม่เพียงคุยกับเพื่อนมากกว่า 10 คนพร้อมกันผ่านวิดีโอ ผู้ใช้ยังสามารถเปิดเผยวิดีโอสนทนาสู่สาธารณชนได้ผ่านบริการ Google+Hangouts on Air ซึ่งวิดีโอจะถูกบันทึกและเผยแพร่ไว้บนยูทิวบ์ (YouTube)

ผู้บริหารกูเกิลระบุว่า การปรับปรุงระบบวิดีโอแชตในจีเมลจะทำให้ผู้ใช้ได้รับบริการที่เสถียรและสนุกสนานกว่าเดิม โดยการปรับปรุงระบบครั้งนี้จะทำให้แฮงก์เอาต์สามารถเชื่อมโยงผู้ใช้งานจีเมลและกูเกิลพลัสไว้ด้วยกันเป็นเนื้อเดียว ซึ่งสามารถทำงานข้ามแพลตฟอร์มทั้งอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ หรือไอโอเอสได้แบบไร้รอยต่อ

กลยุทธ์นี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในแผนการเพิ่มเขี้ยวเล็บให้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของกูเกิลสามารถแข่งขันกับเฟซบุ๊ก (Facebook) เครือข่ายสังคมเจ้าตลาดในขณะนี้ได้ดีขึ้น ที่ผ่านมาจีเมลเป็นบริการฟรีอีเมลที่มีฐานผู้ใช้งานมหาศาลมากกว่า 425 ล้านคน (สถิติล่าสุด มิ.ย. 2555) ซึ่งหากกูเกิลสามารถดึงผู้ใช้กลุ่มนี้มาสู่บริการกูเกิลพลัสก็จะทำให้สามารถไล่ตามเฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 950 ล้านคนในขณะนี้ได้เร็วขึ้น

ผู้ใช้จีเมลทั่วโลกที่ต้องการใช้บริการแฮงก์เอาต์จะต้องลงทะเบียนใช้งานกูเกิลพลัสที่ https://plus.google.com ทั้งหมดนี้กูเกิลไม่กล่าวถึงผลพลอยได้จากกลยุทธ์นี้ แต่ระบุเพียงว่าผู้ใช้จีเมลทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ใช้กูเกิลพลัสก็จะสามารถจัดการงานเอกสารและสื่อสารกับเพื่อนบนเครือข่ายของกูเกิลได้ดีขึ้น

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากการสำรวจล่าสุดที่พบว่าเครือข่ายสังคมกูเกิลพลัสได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะแอปพลิเคชันกูเกิลพลัสรุ่นใหม่ที่รองรับไอโอเอสและแอนดรอยด์ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยในการใช้งานบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ รายงานจากบริษัทวิจัย Compete พบว่าเฉพาะเดือน มิ.ย.จำนวนผู้ใช้กูเกิลพลัสเพิ่มเป็น 31.9 ล้านคน (คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 43.1%) ท่ามกลางจำนวนผู้ใช้งานกูเกิลพลัสรวม 250 ล้านคนทั่วโลก

จำนวนผู้ใช้กูเกิลพลัสที่เพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย.ถือเป็นตัวเลขที่นำหน้าเครือข่ายสังคมอื่นๆ อย่างน่าจับตา โดยเครือข่ายสังคมเพื่อคนทำงานอย่าง LinkedIn นั้นมีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 24.6 ล้านคน แต่ก็ยังตามหลังบริการทวิตเตอร์ที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 42.6 ล้านคน และเครือข่ายสังคมอันดับหนึ่งที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นมากที่สุดยังคงเป็นเฟชบุ๊ก รายงานระบุว่ามีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 158.6 ล้านคนในเวลา 1 เดือน

การอัปเดตบริการจีเมลด้วยแฮงก์เอาต์ครั้งนี้คาดว่าจะเสริมความแข็งแกร่งให้กูเกิลในธุรกิจโฆษณาออนไลน์อีกทาง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมากูเกิลรายงานผลประกอบการไตรมาสที่สองของปี 2555 ว่ามีกำไรสุทธิ 3.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 แสนล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 17.5% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน โดยบริษัทมีรายได้รวม 1.22 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นราว 35%

เฉพาะรายได้โฆษณาจากเว็บไซต์กูเกิล บริษัทระบุว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 21% โดยธุรกิจโฆษณาออนไลน์จากลิงก์เว็บไซต์หรือ Adsense สามารถขยายตัวอีก 20% ขณะที่ธุรกิจโฆษณาแบบจ่ายเงินตามคลิกหรือ Paid click นั้นขยายตัวอีก 42% ทั้งหมดทำให้กำไรจากการดำเนินงานเฉพาะเว็บไซต์กูเกิลมีมูลค่าถึง 3.99 พันล้านเหรียญสหรัฐ



Company Related Link :
Google Plus
Gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น