xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนาแบตฯสมาร์ทโฟน !?! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



หนึ่งในปัญหากวนใจของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน หลายๆ คนตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของแบตเตอรี ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน รองลงมาจากเรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยไม่รู้ตัว และเรื่องของการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ

ใครที่ได้ลองใช้งาน สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่หลากหลายรุ่นจะพบว่า ตัวเครื่องจะมาพร้อมกับหน้าจอขนาดใหญ่ หน่วยประมวลผลความเร็วสูง และการใช้งานที่ประมวลผลหนักๆอย่างเล่นเกม หรือดูภาพยนตร์ จะส่งผลให้แบตฯหมดเร็ว รวมถึงก่อให้เกิดความร้อนของตัวเครื่อง จนกังวลไปถึงปัญหาที่จะเกิดตามมาโดยไม่คาดคิดอย่างแบตฯระเบิด

***แบตฯระเบิด ไม่เกิดถ้าไม่มั่ว

ข่าวคราวสมาร์ทโฟนที่เกิดเหตุการณ์เครื่องระเบิด หรือเครื่องมีรอยไหม้ ส่วนใหญ่ความผิดจะถูกโยนไปให้กับแหล่งเก็บพลังงานหนึ่งเดียวในตัวสมาร์ทโฟนอย่าง 'แบตเตอรี' ซึ่งหลายครั้งหลายครากลายเป็นจำเลยหลักของสังคม ที่โดนใส่ร้ายในรูปแบบที่ไม่สามารถตอบโต้ได้ แต่เมื่อเกิดการพิสูจน์หลักฐาน หาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว 'แบตเตอรี' มักจะหลุดจากการเป็นผู้ต้องสงสัย

อย่างกรณีสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของค่ายยักษ์ใหญ่จากเกาหลี ที่มีรอยไหม้บริเวณขอบเครื่อง ล่าสุดก็ได้มีการพิสูจน์ออกมาแล้วว่า เกิดจากการนำตัวเครื่องเข้าไปไว้ในไมโครเวฟ หลังจากเครื่องตกน้ำ จนเกิดการระเบิดขึ้นในที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิค จากค่ายมือถือเกาหลี ให้ข้อมูลเสริมว่าในส่วนของอันตรายของสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นที่เกิดจากแบตเตอรี นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องมาจากภายในวงจรของแบตเตอรีปัจจุบันจะมีการใส่เซอร์กิตที่จะคอยตัดไฟ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับระบบ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลัดวงจรภายในตัวเครื่องจึงน่าจะเกิดจากการใช้งาน ผิดประเภทหรือการผลิตแผงวงจรภายในผิดพลาดมากกว่า ซึ่งในกรณีหลังเป็นไปได้น้อยมาก

ในส่วนของการใช้งานแบตเตอรีผิดประเภท อาจเป็นการใช้วิธีชาร์จไฟจากหัวชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อชาร์จแล้วไม่ตัดไฟเมื่อชาร์จเต็ม ส่งผลให้เครื่องเกิดความร้อนสะสม จนในที่สุดทำให้แผงวงจรภายในเครื่องช็อต หรือการเสียบสมาร์ทโฟนชาร์จทิ้งไว้ในรถกลางแสงแดด ซึ่งถ้ามีความระมัดระวังในการใช้งานจริงๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

***โอเอสดี ประหยัดเยี่ยม

นอกเหนือจากในแง่ของวิธีการใช้งานเพื่อประหยัดแบตเตอรีอย่างปรับความสว่างหน้าจอ ปิดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเมื่อไม่ใช้งาน เปิดโหมดประหยัดพลังงานที่ให้มาภายในตัวเครื่องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจหลักซึ่งผู้ใช้งานอย่างเราทำได้เพียงแค่รอคอย คือ การจัดการพลังงานที่ดีของระบบปฏิบัติการที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นทั้ง ไอโอเอส แอนดรอยด์ วินโดวส์โฟน หรือแบล็กเบอรี ก็ตามที

ที่เห็นได้ชัดๆ จากการใช้งานจริงคงหนีไม่พ้นไอโอเอส และแอนดรอยด์ ที่เมื่อมีการอัปเกรดเฟิร์มแวร์รุ่นใหม่ๆ สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งคือเครื่องทำงานได้รวดเร็วขึ้น และยังประหยัดแบตเตอรีมากขึ้นด้วย แน่นอนว่ารูปแบบการจัดการพลังงานของระบบปฏิบัติการเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพียงแต่เป็นการปรับแต่งให้เข้ากับฮาร์ดแวร์มากขึ้นนั่นเอง

สมาร์ทโฟนที่ใช้ขุมพลังประมวลผลแบบ 4 แกน (ควอดคอร์) ทั้ง 3 รุ่นที่มีจำหน่ายในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นซัมซุง กาแล็กซี เอสทรี เอชทีซี วัน เอ็กซ์ และ แอลจี ออปติมัส โฟว์เอ็กซ์ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ว่าเฟิร์มแวร์รุ่นใหม่ ที่ถูกปรับแต่งมาอย่างเหมาะสมช่วยประหยัดพลังงานได้จริง

โดยรูปแบบของการปรับแต่งนั้น ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์อาจคุ้นกันดีถึงระบบที่จะช่วยคำนวนว่า แอปพลิเคชันใด ใช้ทรัพยากรของตัวเครื่องมากแค่ไหน จากนั้นก็จะสั่งให้ตัวหน่วยประมวลผลทำงานตามที่เรียกมาใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใช้งานทั่วไป กดดูตารางนัดหมายตัวเครื่องอาจทำงานด้วยหน่วยประมวลผลเพียงแกนเดียว แต่ถ้ามีการใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ ก็เรียกใช้งานเพิ่มเป็น 2 แกน และถ้าใช้ในการเล่นเกมความละเอียดสูงๆ เมื่อนั้นถึงจะทำงานเต็มประสิทธิภาพที่ 4 แกน

ซึ่งจากรูปแบบการทำงานดังกล่าว นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานแล้ว ยังช่วยลดความร้อนของซีพียูในการใช้งานบนตัวเครื่องที่ไม่มีระบบระบายอากาศ ให้สามารถถือใช้ได้อย่างสบายๆอีกด้วย

อีกจุดหนึ่งที่ผู้ใช้หลายคนอาจคิดไม่ถึงคือระบบ IPv6 ที่กำลังเข้ามาแทนที่ IPv4 ในปัจจุบันนี้ ถือเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่จะช่วยประหยัดพลังงานของสมาร์ทโฟนได้ ผู้เชี่ยวชาญจากเอชพีชี้ถึงระบบดังกล่าวว่า ด้วยความที่ตัวเครื่องไม่จำเป็นต้องมีการส่งสัญญาณเพื่อรักษาสถานะไอพีแอดเดรส (IPv4 ใกล้หมด จึงจำเป็นต้องมีการคงสถานะการเชื่อมต่อตลอดเวลา) ทำให้เมื่อมาใช้งาน IPv6 ตัวเครื่องไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อทุกๆ 5-10 นาที เพื่อคงสถานะการใช้งานไอพีนั้นๆ อีกต่อไป ซึ่งช่วยในการประหยัดพลังงานด้วย

***พกแบตฯเสริม ป้องกันได้

นอกจากการพกที่ชาร์จไว้ในกระเป๋าแล้ว 'พาวเวอร์ แบงก์' หรือแบตเตอรีพกพา เริ่มกลายเป็นสินค้าที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องมีพกติดตัว ในกรณีที่จำเป็นต้องเดินทางตลอดวัน ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีหลายๆแบรนด์นำสินค้าตัวนี้เข้ามาจำหน่าย โดยความแตกต่างของแต่ละรุ่นจะอยู่ที่ความจุของแบตเตอรี ที่มีตั้งแต่ 1,000 mAh ไปจนถึง 11,100 mAh ในราคาไม่กี่พันบาท

หลักการใช้งานของ พาวเวอร์ แบงก์ ทั้งหลายก็คือให้เป็นอุปกรณ์จัดเก็บไฟฟ้าสำรอง เมื่อแบตเตอรีสมาร์ทโฟนใกล้หมดก็นำสายชาร์จยูเอสบีมาเชื่อมต่อเพื่อยืดอายุของแบตเตอรีในการใช้งานได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปแบตเตอรีจะมีความจุอยู่ราว 1,500 mAh แต่ไม่ใช่ว่าซื้อพาวเวอร์ แบงก์ขนาดพกพามาในขนาดเท่ากันแล้วจะชาร์จได้เต็ม 1 รอบ

เพราะในความเป็นจริงเมื่อมีการเสียบชาร์จแต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่อง ความแรงของแบตเตอรีที่ปล่อยออกมาอาจทำได้เพียงลดการสูญเสียแบตฯ แต่ไม่ใช่การชาร์จเพิ่มเพราะตัวเครื่องยังมีการเผาผลาญพลังงานตลอดเวลา ดังนั้นควรเลือกซื้อพาวเวอร์ แบงก์ ที่มีความจุมากกว่าแบตเตอรีสมาร์ทโฟนที่ใช้งานราว 30%

นอกจากนี้ยัง มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงคือ คุณภาพของพาวเวอร์ แบงก์ ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการชาร์จประจุให้เต็ม แล้ววางทิ้งไว้เมื่อไม่มีการใช้งานแต่ประจุลดลงอย่างสังเกตได้ ถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นแล้วว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันในการเลือกใช้งานก็ต้องดูแรงดันไฟให้เหมาะกับอุปกรณ์พกพาแต่ละรุ่นด้วยเช่นกัน

5 ขนาดแบตเตอรีสมาร์ทโฟนสุดฮิต

- Motorola Razr Maxx - 3,300 mAh
- LG Optimus 4X - 2,150 mAh
- Samsung Galaxy S3 - 2,100 mAh
- HTC One X 1,800 mAh
- iPhone 4S - 1432 mAh
กำลังโหลดความคิดเห็น