สื่อต่างประเทศพร้อมใจวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดแท็บเล็ตโลกหลังจาก “สตีฟ บอลเมอร์” ซีอีโอไมโครซอฟท์เปิดตัวแท็บเล็ตนาม “เซอร์เฟซ (Surface)” ต่อหน้าสื่อมวลชนเมื่อวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น คำถามคือเดิมพันที่ไมโครซอฟท์ทุ่มสุดตัวครั้งนี้จะสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดแท็บเล็ตจากไอแพด (ipad) ของแอปเปิลได้หรือไม่ ปรากฏว่าขณะนี้มีการยก 7 เหตุผลที่แสดงว่าแอปเปิลอาจกังวลต่อแท็บเล็ตฝีมือการผลิตของไมโครซอฟท์ไม่มากก็น้อย แม้จะยังมีคำถามถึง 10 ข้อเกี่ยวกับเซอร์เฟซที่ไมโครซอฟท์ยังไม่ได้ตอบในขณะนี้
สตีเฟน แชปแมน (Stephen Chapman) นักเขียนแห่งสำนักซีดีเน็ต (ZDNet) วิเคราะห์เหตุผล 7 ข้อที่เกี่ยวข้องกับรากฐานความยิ่งใหญ่ซึ่งไมโครซอฟท์มีมาตลอดในวงการไอทีช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ความแข็งแกร่งของไมโครซอฟท์เหล่านี้ล้วนมีโอกาสช่วยให้เซอร์เฟซทำตลาดได้อย่างลื่นไหล ซึ่งแอปเปิลรู้ดีในจุดนี้
สิ่งแรกที่ซีอีโอแอปเปิลอย่างทิม คุค (Tim Cook) ไม่ได้มองข้ามคือตลาดองค์กร จุดนี้นักวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสสูงมากที่แท็บเล็ตที่ไมโครซอฟท์พัฒนาเองอย่างเซอร์เฟซจะถูกองค์กรหน่วยงานบริษัทสั่งซื้อไปใช้จำนวนมากเป็นงวดใหญ่ โดยที่ผ่านมาแม้แอปเปิลจะครองสมรภูมิตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคแบบไม่มีใครสงสัย แต่ก็ยังไม่สามารถหยั่งรากลึกในองค์กรธุรกิจเท่ากับไมโครซอฟท์
วันนี้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ยังเป็นระบบปฏิบัติการที่จำเป็นต่อซอฟต์แวร์ซึ่งติดตั้งในคอมพ์ตั้งโต๊ะในองค์กร ทั้งซอฟต์แวร์ด้านฐานข้อมูล, ซอฟต์แวร์งานเอกสาร, แอปพลิเคชันระบบงานในองค์กร รวมถึง middleware ที่องค์กรสร้างขึ้นมาใช้งานกันเองตามความต้องการที่แตกต่าง ทั้งหมดนี้แม้ไอแพด (iPad) และแท็บเล็ตแอนดรอยด์จะได้รับความนิยมมากเพียงไร แต่การไม่สามารถดึงแท็บเล็ตมาใช้กับระบบงานไอทีเหล่านี้แบบครบสูตรทำให้องค์กรยังไม่ดำเนินการสั่งซื้อแท็บเล็ตล็อตใหญ่เพื่อใช้งานในบริษัท เท่ากับหากเซอร์เฟซสามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรธุรกิจได้ โอกาสที่เซอร์เฟซจะถูกชูให้เป็นอุปกรณ์สำนักงานพกพาในอนาคตย่อมมีสูงมาก
เหตุผลที่ 2 คือ ฐานนักพัฒนาที่ไมโครซอฟท์มีอยู่จำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะนักพัฒนาในบริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ จุดนี้เป็นข้อได้เปรียบเพราะไมโครซอฟท์มีโอกาสชนะศึกนี้ได้หากมีนักพัฒนาแอปพลิเคชันให้แก่เซอร์เฟซจำนวนมากพอ เนื่องจากแอปพลิเคชันนั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อแท็บเล็ต ซึ่งที่ผ่านมา แพลตฟอร์มอย่างไอโอเอส (iOS) ของแอปเปิลและแอนดรอยด์ (Android) ของกูเกิลล้วนมีสาวกจำนวนมากเพราะมีแอปพลิเคชันจำนวนหลักแสนให้ผู้บริโภคเลือกทั้งฟรีและมีค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม วันนี้โลกมีเครื่องมือพัฒนาแอปพลิเคชันข้ามแพลตฟอร์มซึ่งทำให้การสร้างแอปพลิเคชันสำหรับระบบปฏิบัติการอื่นๆ นั้นทำได้ง่ายกว่าเดิม จุดแข็งนี้จึงอาจไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลต่อการแข่งขันในตลาดแท็บเล็ตมากนัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้ไมโครซอฟท์อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง
เหตุผลที่ 3 คือ การรองรับระบบโทรทัศน์ในบ้าน (Home TV) ที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับโทรทัศน์นั้นเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ไมโครซอฟท์มีภาษีดีกว่าแอปเปิล เห็นได้ชัดจากความสำเร็จของเครื่องเกมเอ็กซ์บอกซ์ (Xbox) ซึ่งทำให้ไมโครซอฟท์สามารถแฝงตัวเข้าสู่ห้องนั่งเล่นในบ้านเรือนได้ในขณะที่แอปเปิลทำได้ด้อยกว่า
วันนี้ไมโครซอฟท์พัฒนาแท็บเล็ตเซอร์เฟซให้สามารถส่งคอนเทนต์หลากหลายไปเล่นบนทีวีได้แบบไม่สะดุด ปูทางให้ครอบครัวอเมริกันหลายล้านครัวเรือนที่เป็นสมาชิกบริการออนไลน์กับไมโครซอฟท์ผ่านเอ็กซ์บอกซ์อยู่แล้ว สามารถซื้อแท็บเล็ตเพื่อรับบริการที่สะดวกกว่าเดิม ซึ่งตลาดผู้ใช้เอ็กซ์บอกซ์เดิมมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นกลุ่มตลาดที่สำคัญของเซอร์เฟซ
เหตุผลข้อ 4 คือ ความมุ่งมั่นในตลาดคอนซูเมอร์ ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์มีประวัติความพยายาม “เป็นพิเศษ” หลายครั้งในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์สำหรับคอนซูเมอร์หรือผู้บริโภคทั่วไป เช่นเครื่องเล่นเพลงอย่าง Zune หรือโทรศัพท์มือถืออย่าง Kin แต่ทั้งหมดไมโครซอฟท์ยอมยกธงเลิกทำตลาดเพราะพิษขาดทุน และปล่อยให้แอปเปิลครองตลาดอย่างที่เป็นมาตลอด
สำหรับกรณีของเซอร์เฟซ นักวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเหมือนที่เอ็กซ์บอกซ์ทำได้ ก่อนหน้านี้เอ็กซ์บอกซ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทำให้ไมโครซอฟท์ขาดทุนต่อเนื่องหลายปี แต่ในที่สุดก็สามารถยืนหยัดในวงการเกมได้อย่างมั่นคง
เหตุผลข้อ 5 คือ นวัตกรรม ไมโครซอฟท์เป็นหนึ่งในบริษัทที่ถือครองสิทธิบัตรเทคโนโลยีมากที่สุดในโลก รองจากยักษ์ใหญ่สีฟ้าไอบีเอ็ม (IBM) ซึ่งแม้สิทธิบัตรเทคโนโลยีจะไม่ใช่นวัตกรรมทั้งหมด แต่จำนวนของสิทธิบัตรก็สะท้อนได้ว่าไมโครซอฟท์ลงเงินทุนและให้ความสำคัญต่อการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่มากเพียงไร ทั้งหมดนี้หล่อหลอมให้แท็บเล็ตของไมโครซอฟท์มีจุดขายที่น่าสนใจ ซึ่งไม่แน่ว่าเซอร์เฟซรุ่นใหม่ในอนาคตจะมีความน่าตื่นตามากกว่านี้
เหตุผลต่อมาคือ การต่อยอดกลยุทธ์ใหม่ของไมโครซอฟท์ ไมโครซอฟท์ถูกมองว่ากลยุทธ์หลักของบริษัทคือการเน้นจำหน่ายระบบปฏิบัติการวินโดวส์ให้คนทุกแบบหลายครั้ง แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไป ตลาดซื้อขายซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันนั้นเปลี่ยนไป ซึ่งเซอร์เฟซจะทำให้ตลาดวินโดวส์สามารถขยายขอบเขตจากองค์กรบริษัทสู่ครัวเรือนได้อย่างเป็นรูปธรรม
เหตุผลข้อสุดท้าย คือ ความผิดพลาดก่อนผู้เล่นรายอื่น ไม่ว่าไมโครซอฟท์จะล้มเหลวในตลาดสินค้าสำหรับผู้บริโภคอย่างไร แต่บริษัทก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เล่นในตลาดแท็บเล็ตมายาวนานหลายสิบปี ความผิดพลาดที่ได้พบมาก่อนอาจจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไมโครซอฟท์ไปได้ดีในตลาดแท็บเล็ตก็ได้
10 คำถามที่ยังคลุมเครือ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของเซอร์เฟซในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในหลายจุด เช่น ข้อมูลราคาจำหน่าย รวมถึงกำหนดการวางจำหน่าย เช่นเดียวกับเหตุผลที่ทำให้ไมโครซอฟท์ลงมือพัฒนาแท็บเล็ตเอง แทนที่จะเป็นการพัฒนาโดยฝีมือของพันธมิตรตามปกติ
ขณะเดียวกัน ยังไม่มีรายงานความเห็นใดๆ ของบรรดาพันธมิตรของไมโครซอฟท์ที่จำหน่ายแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการวินโดวส์ และต้องกลายเป็นคู่แข่งของไมโครซอฟท์ไปโดยปริยายเมื่อเซอร์เฟซแจ้งเกิด ขณะเดียวกัน แม้เซอร์เฟซจะถูกมองเป็น “iPad Killer” ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นได้หรือไม่ แต่จุดยืนที่เซอร์เฟซมีต่อแท็บเล็ตแอนดรอยด์ก็ยังไม่ชัดเจนเช่นกัน
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์เองก็ยังไม่เคยเปิดเผยแผนทำงานร่วมกับเครื่องเกมเอ็กซ์บอกซ์ที่แน่นอน รวมถึงความสามารถในการรองรับเครือข่าย 4G ของเซอร์เฟซ ซึ่งไม่มีการระบุใดถึงความสามารถในการทำงานบนเครือข่ายข้อมูลไร้สายอย่าง 3G, 4G หรือ LTE
ที่สำคัญ อายุการใช้งานแบตเตอรี่นั้นยังไม่มีการกล่าวถึงในงานเปิดตัวเซอร์เฟซ ซึ่งหากคำถามเหล่านี้มีคำตอบที่ชัดเจนเมื่อไร เมื่อนั้นภาพการแข่งขันในตลาดแท็บเล็ตของไมโครซอฟท์ก็จะชัดเจนขึ้น
เกี่ยวกับ “เซอร์เฟซ”
หลังจากมีข่าวลือหนาหู ไมโครซอฟท์เปิดตัวแท็บเล็ตที่ตัวเองพัฒนาขึ้นทุกขั้นตอนเพื่อแข่งขันกับไอแพด (iPad) ในนาม “เซอร์เฟซ (Surface)” แย้มแผนวางตลาด 2 เวอร์ชัน ได้แก่รุ่นระบบปฏิบัติการ Windows 8 RT และระบบ Windows 8 Pro มาพร้อมขาตั้งซึ่งมีความบางเพียง 0.7 มม. เนียนเรียบไปกับตัวเครื่อง พร้อมปกกันรอยแม่เหล็กที่สามารถทำงานเป็นคีย์บอร์ดระบบสัมผัส หรือ touch keyboard ได้บนความหนาเพียง 3 มม.
เซอร์เฟซเวอร์ชัน Windows 8 RT นั้นจะใช้ชิปของ ARM ของเอ็นวิเดีย (NVidia) มีน้ำหนัก 676 กรัมบนความบาง 9.3 มม. ถือว่าหนักแต่บางกว่าไอแพดซึ่งหนัก 652 กรัมและบาง 9.4 มม. ตัวหน้าจอใช้จอภาพเทคโนโลยี ClearType HD ขนาด 10.6 นิ้ว มาพร้อมพอร์ต USB 2.0, Micro HD และ microSD
ขณะที่เวอร์ชัน Windows 8 Pro จะใช้ชิป Ivy Bridge ของอินเทล (รุ่น i5) มีน้ำหนัก 903 กรัม ตัวเครื่องหนา 13.5 มม. หน้าจอขนาด 10.6 นิ้ว เทคโนโลยี ClearType เช่นกัน มาพร้อมพอร์ต USB 3.0 และช่องต่อ microSD ยังมีพอร์ต Mini DisplayPort Video เพื่อให้ผู้ใช้สามารถส่งวิดีโอไปเล่นบนหน้าจอใหญ่อื่นๆ ได้เต็มตา
จุดที่น่าสนใจของเซอร์เฟซคือ การมาพร้อมเสารับสัญญาณ 2 ต้นอยู่ภายใน (2x2 MIMO) ซึ่งทำให้เซอร์เฟซสามารถจับสัญญาณ Wi-Fi ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแท็บเล็ตรุ่นอื่นในท้องตลาด โดยฝาหลังของเซอร์เฟซนั้น ไมโครซอฟท์เรียกว่าเป็นเคส VaporMG ที่สามารถแยกออกมาเป็นขาตั้งความบางเพียง 0.7 มม. ไม่เป็นภาระเพิ่มน้ำหนักหรือความหนาให้เครื่อง แต่สามารถรองรับน้ำหนักของเซอร์เฟซได้ไร้ที่ติ
ไมโครซอฟท์ไม่ลืมที่จะดึงปกกันรอยฝังแม่เหล็กมาเป็นอุปกรณ์เสริมของเซอร์เฟซ แต่ปกกันรอยนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพับหรือม้วนตามที่เห็นในไอแพด เพราะปกกันรอยแม่เหล็กนี้สามารถทำงานเป็นคีย์บอร์ดระบบสัมผัส หรือ touch keyboard ได้ แถมยังมาพร้อมส่วน track pad ที่ผู้ใช้จะสามารถลากนิ้วเพื่อเลื่อนลูกศรหรือเคอร์เซอร์ได้เหมือนการใช้งานคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊ก ทั้งหมดนี้ตัวปกแม่เหล็กมีความหนาเพียง 3 มม.เท่านั้น
ไมโครซอฟท์ยังไม่เปิดเผยราคาหรือกำหนดการวางจำหน่าย ระบุเพียงว่า เวอร์ชัน Windows RT จะพร้อมจัดส่งในช่วงเวลาที่ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 พร้อมวางตลาด ขณะที่รุ่น Pro จะวางตลาด 3 เดือนหลังจากนั้น โดยเซอร์เฟซรุ่น RT จะมีขนาดหน่วยความจำให้เลือก 32GB และ 64GB คาดว่าจะมีราคาใกล้เคียงกับแท็บเล็ตทั่วไปในตลาด ขณะที่รุ่น Windows Pro จะมีหน่วยความจำ 64GB และ 128GB บนราคาขายที่ใกล้เคียงอัลตราบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์พกพาบางเฉียบ โดยทั้งหมดจะวางจำหน่ายที่ร้านค้าปลีกของไมโครซอฟท์ รวมถึงร้านออนไลน์
รับชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ ประมวลภาพ “Surface” แท็บเล็ตนี้ รุ่งหรือร่วง?
Company Related Link :
Microsoft