xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ‘ฟีเจอร์โฟน’ ถูกกระชับพื้นที่ !!! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทุกวันนี้ตลาดมือถือในประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีอย่างแท้จริง เมื่อโทรศัพท์มือถือที่เป็นฟีเจอร์โฟน กำลังจะถูกเบียดแย่งชิงตลาดจากสมาร์ทโฟน ซึ่งฉลาดกว่า เก่งกว่า และราคาไม่แพง

ทำให้บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ รายเล็กต้องปรับตัวเพื่อต้อนรับกับการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีและหาที่ยืนเมื่อเกิดการแข่งขันในธุรกิจนี้ที่นับวันยิ่งดุเดือดขึ้น

***การมาของแอนดรอยด์ (Android)

การมาของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกเรียกว่า โอเพ่นซอร์ส (Opensource) ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นระบบปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างน้อย การลงทุนไม่สูง นำสิ่งที่มีอยู่มาปรับปรุงใหม่ จึงทำให้ผู้ผลิตสามารถนำระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาใช้ได้ง่าย ประกอบกับเรื่องประสิทธิภาพและความสามารถในการลงแอปพลิเคชันเสริม รวมถึงความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง

ซึ่งช่วงแรกๆ เราอาจจะได้เห็นแอนดรอยด์อยู่ในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับราคาหนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป แต่ปัจจุบัน ขอแค่คุณมีเงินในมือแค่ 5,000 บาท ก็เป็นเจ้าของมือถือระดับสมาร์ทโฟนได้แล้ว

***การหยุดนิ่งของฟีเจอร์โฟน

ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่า สาเหตุที่ฟีเจอร์โฟนเริ่มหยุดนิ่งไม่ไหวติงเพราะฟีเจอร์โฟนไม่มีลูกเล่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ต่างจากสมาร์ทโฟนที่มีลูกเล่นแพรวพราวกว่า ตัวเครื่องดีไซน์ล้ำสมัย อีกทั้งยังมีสิ่งที่เปรียบเสมือนแรงผลักดันให้ตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างธุรกิจการพัฒนาแอปพลิเคชันที่หลากหลาย ตอบสนองการใช้งานและใช้ชีวิตของคนใช้สมาร์ทโฟนได้ตรงใจตามที่ต้องการ

และถ้าหากเทียบกับผลสำรวจล่าสุดจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ได้คาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอีกราว 17.7% ส่งผลให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทยมากกว่า 27.7% และในตลาดแอปพลิเคชัน หรือศูนย์กลางการค้าแอปฯ ก็มีแนวโน้มจะโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาราว 36.5%

ซึ่งในปัจจุบันมือถือจำพวกฟีเจอร์โฟนที่เรียกว่ามีความโดดเด่นจริงๆ แทบจะหาได้ยาก จะมีเพียงแค่มือถืออย่างอาม่า ที่เป็นฟีเจอร์โฟนที่เรียกความน่าสนใจ และจับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าได้ชัดเจน นั่นคือกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ

***แบรนด์น้อย-ใหญ่พร้อมเข้าตี

ไม่ว่าจะเป็นค่ายมือถือแบรนด์ใหญ่หรือเล็ก ต่างก็เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนตัวเอง เข้าสู่วงจรการผลิตสมาร์ทโฟน ซึ่งถ้าหากได้ติดตามข่าวมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่า HTC ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากไต้หวันก็เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ลุยทั้งตลาดมือถือไฮเอนด์ มิดเอนด์ และโลว์เอนด์ ด้วยการนำเสนอ HTC One V ด้วยราคาแค่ 9,900 บาท เป็นการล่อใจผู้บริโภคให้หันหน้าออกจากฟีเจอร์โฟนมาเป็นสมาร์ทโฟน หรือการมาของ Samsung Galaxy Y กับราคาที่เบียดฟีเจอร์โฟนตกกระป๋องเพียง 4 พันบาทปลายๆ เท่านั้นเอง

รวมไปถึงแบรนด์ที่เคยลุยในตลาดฟีเจอร์โฟน และพยายามสร้างจุดเด่นด้วยกล้องถ่ายภาพแนวลูกเล่นโลโม (การตกแต่งภาพถ่ายด้วยสีสัน) พร้อมกับศิลปินเกาหลีอย่างค่าย OPPO เองก็ยังเปลี่ยนทิศทางการเดินใหม่ ด้วยการโละ ล้มเลิก และรีแบรนด์ตัวเองหันมาลุยสมาร์ทโฟนเต็มตัว 100% ด้วยเหตุผลที่ว่า ตลาดฟีเจอร์โฟนเข้าใกล้จุดของความตีบตัน โดยเฉพาะขีดความสามารถของฟีเจอร์โฟนที่ไม่สามารถตอบสนองผู้ใช้ในยุคปัจจุบันได้ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดคือการกระโดดร่วมตลาดสมาร์ทโฟน ด้วยราคาสมเหตุสมผล พ่วงฟีเจอร์อื่นๆ ที่สร้างความแตกต่างและไม่สามารถทำได้จากฟีเจอร์โฟน จุดนี้ทำให้ความน่าสนใจของฟีเจอร์โฟน ถูกลดต่ำลงไปกว่าเดิม

และอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ OPPO เป็นแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากประเทศจีน ทำให้เรื่องของการควบคุมค่าใช้จ่าย ไลน์การผลิต วัสดุ ชิ้นส่วนต่างๆ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้ถูกลงได้ และเมื่อวัตถุดิบต่างๆ มีราคาไม่แพงมากนัก ทำให้การตั้งราคาจะยิ่งได้เปรียบกว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่นๆ อย่างสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ OPPO Guitar ก็เป็นสมาร์ทโฟนราคาประหยัดเพียงแค่ 6,990 บาท แถมยังเป็นมือถือ 2 ซิมอีกด้วย

พร้อมกันนี้หากยังจำกันได้จุดขายเดิมๆ ที่ฟีเจอร์โฟนเคยมี และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องอย่างการเป็นมือถือ 2 ซิม หรือที่เรียกว่าดูอัลซิมนั้น ล่าสุดระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ก็มีความสามารถดังกล่าวมาพักใหญ่ๆ แล้ว ทำให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถเลือกสมาร์ทโฟนราคาประหยัดมาเป็นมือถือสำรอง และใช้งาน 2 ซิมได้

***เครือข่าย 3G

อีกหนึ่งเหตุผลที่ ทำให้ฟีเจอร์โฟนได้รับความนิยมน้อยลง ก็คือเรื่องเครือข่ายมือถือยุคที่ 3 หรือที่เราเรียกกันว่า 3G เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมผู้ใช้เริ่มเปลี่ยนจากใช้แค่โทร.เข้า-ออก เป็นแชตผ่านแอปพลิเคชันโทรผ่าน VOIP (Voice Over Internet Protocol) รวมถึงการใช้งานด้านมัลติมีเดียที่ทำได้ดีขึ้น ซึ่งฟีเจอร์โฟนไม่สามารถทำได้ด้วยสเปกที่จำกัดในหลายส่วน

***เครือข่ายสังคมออนไลน์

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ตลาดฟีเจอร์โฟน ถูกลดความน่าสนใจลงเห็นทีจะหนีไม่พ้นการมาของเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกว่าโซเชียล เน็ตเวิร์ก ซึ่งถูกก่อตัวขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย จนกลายเป็นสังคมใหญ่และมีผู้ใช้บริการอย่างแพร่หลาย จนเกิดเหตุการณ์คนแห่ซื้อสมาร์ทโฟนมาเพื่อเล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์โดยเฉพาะ ทั้งนี้หากจะบอกว่าฟีเจอร์โฟน ไม่มีความสามารถดังกล่าวก็คงไม่ถูกต้องนัก แต่เป็นเพราะว่าฟีเจอร์โฟนใช้งานได้ยากกว่า ด้วยข้อจำกัดหลายส่วนและจุดขายหลักของฟีเจอร์โฟนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานลักษณะนี้ตั้งแต่แรก ทำให้สมาร์ทโฟนซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงกว่า สเปกดีกว่า จึงตอบสนองผู้ใช้ในยุคนี้ได้ดีที่สุด

นอกจากนี้แล้วเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษา กลุ่มคนวัยทำงาน รวมไปถึงการที่ดาราหรือเซเลบริตี้ต่างๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นแบบอย่าง หรือไอดอลของคนทั่วไป ต่างก็ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ จนทำให้เกิดกระแสอยากเล่นบริการเหล่านี้เพื่อตามเทรนด์ ติดตามดาราเกิดขึ้น

แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว มือถือจำพวกฟีเจอร์โฟนก็จะคงอยู่ต่อไป และไม่ได้ถูกกลืนกินจนหมดสิ้นไปจากตลาด แต่ช่องว่าง รวมไปถึงพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดก็จะค่อยๆ ทยอยลดลงไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะเด็กหรือวัยรุ่นที่เติบใหญ่สู่วัยทำงานก็จะคุ้นชินกับการใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า

เรียกว่า ถึงไม่ตายแต่ก็ร่อแร่เต็มที.......
กำลังโหลดความคิดเห็น