ทันทีที่ข่าวเฟซบุ๊กบรรลุข้อตกลงซื้อ “อินสตาแกรม” แพร่สะพัดไป หลายคนตั้งคำถามว่าอินสตาแกรมมีอะไรดี ถึงขนาดสามารถเป็นดีลที่มีมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์เฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กจะได้ประโยชน์อะไรจากอินสตาแกรมในวันที่กำลังเตรียมผันตัวเองสู่การเป็นบริษัทมหาชนหรือไม่ แล้วจะเป็นผลดีต่อการแข่งขันในวงการโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างไรต่อไป
พอล เคดรอสกี (Paul Kedrosky) นักวิเคราะห์จากมูลนิธิ Kauffman Foundation ตอบทุกคำถามในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ และสามารถไขข้อสงสัยว่าทำไมเฟซบุ๊กจึงตัดสินใจซื้ออินสตาแกรรมที่ไม่มีรายได้และไม่มีบิซิเนสโมเดล โดยไม่ได้อิงกับตัวเลขผู้ใช้งาน 30 ล้านคนของอินสตาแกรมแบบผิวเผิน
เพราะพอลมองว่า นี่คือแผนกำจัดเสี้ยนหนามก่อนที่เฟซบุ๊กจะมีคู่แข่งตำใจนามว่าอินสตาแกรม
ก่อนจะพูดถึงเหตุผล พอลชี้ว่าหากหารมูลค่าการซื้ออินสตาแกรม 1 พันล้านเหรียญสหรัฐกับพนักงาน 13 คนของอินสตาแกรม จะพบว่าเฟซบุ๊กยอมจ่ายเงินถึง 76 ล้านเหรียญต่อพนักงาน 1 คนเพื่อให้ได้มาซึ่งทีมงานคุณภาพกลุ่มนี้
ทำไมเฟซบุ๊กจึงยอม คำตอบคือ เพราะอินสตาแกรมไม่ใช่แอปพลิเคชันแชร์ภาพถ่ายธรรมดา แต่อินสตาแกรมเป็นเครือข่ายสังคมบนโลกโทรศัพท์มือถือที่ทรงอิทธิพลอีก 1 เครือข่าย
แม้อินสตาแกรมจะใช้ความเป็นแอปพลิเคชันเป็นฉากหน้า เพื่อเปิดทางให้ผู้ใช้ถ่ายภาพ-แต่งโทนสีของภาพ-แบ่งปันให้เพื่อนชม แต่สิ่งที่อินสตาแกรมซ่อนไว้เป็นฉากหลังคือการก่อร่างสังคมของผู้ชอบอวดภาพถ่ายที่เป็นสาวกของเครือข่ายสังคมอื่นทั่วโลก ผ่านการเปิดให้ผู้ใช้อินสตาแกรมสามารถแบ่งปันภาพกับเพื่อนในเครือข่ายอื่นอย่างไม่จำกัดค่าย
อธิบายให้ลึกคือ ในทุกเครือข่ายสังคมทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิลพลัส พินเทอเรสต์ (Pinterest) นั้นล้วนมีผู้รักการถ่ายภาพและการอวดภาพอยู่ อินสตาแกรมสามารถแทรกแซงและรวบรวมกลุ่มคนเหล่านี้มาจากทุกเครือข่ายได้อย่างเนียนๆ
“อินสตาแกรมไม่ได้เป็นแค่แอปพลิเคชันแบ่งปันภาพถ่าย แต่เป็นหนทางที่ผู้ใช้จะสามารถสื่อสารกันได้เหมือนเฟซบุ๊ก” พอลกล่าว “เฟซบุ๊กมองว่าอินสตาแกรมคือคู่แข่งที่เติบโตเร็ว”
ความเร็วของอินสตาแกรมเห็นได้ชัดจากการเปิดตัวแอปพลิเคชันเวอร์ชันแอนดรอยด์ (Android) ซึ่งพบว่าอินสตาแกรมมีผู้ใช้ในกลุ่มแอนดรอยด์เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคนต่อวัน เทียบกับเวอร์ชัน IOS ที่มีผู้ใช้งานขณะนี้มากกว่า 25 ล้านคน
“มันกลายเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่แข่งขันกับเฟซบุ๊กได้”
นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เฟซบุ๊กยอมเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในช่วงเวลาที่บริษัทควรเก็บตัวมากที่สุด นั่นคือช่วงที่บริษัทกำลังยื่นเอกสาร S-1 เพื่อเข้าสู่ตลาดหุ้นก่อนจะแปลงร่างเป็นมริษัทมหาชนมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐตามที่หลายคนคาดการณ์
“ทั้งหมดสะท้อนว่า เฟซบุ๊กมองว่าดีลนี้มีความจำเป็นขนาดไหน”
แน่นอนว่าเหตุผลนี้ไม่ได้ถูกประกาศต่อสาธารณชน เพราะมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กระบุเพียงว่า เฟซบุ๊กนั้นพยายามพัฒนาความสามารถด้านการแบ่งปันภาพมาหลายปี ทำให้เชื่อว่าความสำเร็จ ความชำนาญ รวมถึงคุณสมบัติของอินสตาแกรมจะช่วยต่อยอดให้เฟซบุ๊กหากทีมงานทั้ง 2 บริษัทร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดกว่าเดิม โดยระบุว่าการควบรวมกิจการกับอินสตาแกรมคือหลักไมล์ที่สำคัญของบริษัท
ไม่แน่ว่าหลักไมล์นั้นอาจจะไม่ได้หมายถึงทีมงานอินสตาแกรมกลายเป็นเนื้อเดียวกับทีมงานเฟซบุ๊กอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงการกำจัดเสี้ยนหนามให้พ้นทางด้วย ซึ่งคุ้มค่ามากในระยะยาวเมื่อเทียบกับการควักเงินสดและหุ้นมูลค่ารวม 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 หมื่นล้านบาท)
ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง ดีลนี้จะสมกับการซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เฟซบุ๊กแบบปฏิเสธไม่ได้
Company Related Link :