ชื่อเสียง-โอกาส-ความน่าเชื่อถือ 3 ส่วนนี้คือปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจออนไลน์สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ทุกคนรู้ดีว่าการจะได้มาแต่ละปัจจัยนั้นต้องใช้เวลาและแรงกายเพียงใด แต่วันนี้เรามีทางลัดที่จะทำให้ 3 ปัจจัยนี้เกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน นั่นคือรายการ "แฟนพันธุ์แท้" ที่มีกรณีศึกษามากมายว่าเป็นตัวช่วยผลักดันธุรกิจออนไลน์ได้จริง
***แฟนพันธุ์แท้สร้างแบรนด์
โดย ขจร เจียรนัยพานิชย์ (@khajochi)
เป็นธรรมดาที่รายการทีวีจะสามารถช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับแขกรับเชิญหรือผู้ที่มาออกรายการได้ แต่มีอยู่รายการหนึ่งคือ "แฟนพันธุ์แท้" ที่สามารถสร้างโอกาสในธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์
แฟนพันธุ์แท้เป็นรายการเกมส์โชว์ที่เชิญผู้เข้าแข่งมาตอบปัญหาในหัวข้อที่ตัวเองรักมากเป็นพิเศษ มากจนถึงขั้นไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนที่รักเรื่องนั้นๆ มากถึงขนาดนี้ รายการแฟนพันธุ์แท้มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถสร้างคำว่า "แฟนพันธุ์แท้" ให้กลายเป็นคำนิยามของคนที่ชื่นชอบ และเชี่ยวชาญเรื่องนั้นแบบไม่มีใครเทียบ
แฟนพันธุ์แท้สร้างโอกาสทางธุรกิจ
การได้รับรางวัลจนได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้นั้น ก็สร้างชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ โอกาสให้กับตัวเอง และธุรกิจได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
•คุณป๋อง สุพรรณ เจ้าของรางวัลสุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง ซึ่งก่อนจะเข้าแข่งในรายการก็เปิดกิจการเช่าพระเครื่องเป็นของตนเองอยู่แล้ว แต่เมื่อเข้าแข่งและชนะได้รางวัลกลับมา ก็มีผู้ชมทางบ้านโทรศัพท์เข้ามาที่ร้านกว่า 100 สาย ส่งผลให้กิจการค้าขายดีขึ้นอย่างมาก
•ในโลกออนไลน์ ก็มีตัวอย่างคุณพีระพัฒน์ ตรีวัน สุดยอดแฟนพันธุ์แท้รถมือสอง ที่ร่วมกับหุ้นส่วนเปิดเต้นท์รถมือสอง และใช้โลโก้ของรายการแฟนพันธุ์แท้ พร้อมรูปถ่ายที่ได้รับรางวัลมาเป็นรูปแบนเนอร์ในเว็บของกิจการตนเอง (http://www.chawalitcar.com)
•คุณอิษยา พรหมมาลี ที่เข้าแข่งในตอนแฟนพันธุ์แท้เครื่องเพชร ถึงแม้จะไม่ได้ตำแหน่งสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ แต่ก็สามารถนำชื่อและรูปที่ได้เข้าแข่งในรายการ มาเป็นรูปในหน้าแรกของร้านเพชร ไอยราเจมส์ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้เป็นอย่างมาก (http://www.aiyaragems.com/)
จะเห็นได้ว่าในด้านธุรกิจนั้น การได้รางวัลหรือเพียงได้เข้าแข่งในรายการ ก็สามารถช่วยเสริมธุรกิจของตนเองได้มาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการความเชื่อถือมากเป็นพิเศษ เช่นร้านเพชร หรือร้านเช่าพระเครื่อง
แต่ชื่อเสียงนั้นก็เป็นเหมือนกับดาบสองคม เมื่อได้รับความน่าเชื่อถือมาก ก็อาจจะส่งผลร้ายตามมาได้ ดังตัวอย่างที่นายอนันท์ อธิวัฒน์วงศา เจ้าของรางวัลสุดยอดแฟนพันธุ์แท้มอเตอร์ไซค์ ถูกตำรวจจับด้วยข้อหารับซื้อของโจรเมื่อปี 2552 (http://hilight.kapook.com/view/43412) ซึ่งพาดหัวข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับด้วยคำว่า "จับแฟนพันธุ์แท้" ส่งผลกับกิจการและตัวเองเป็นอย่างมาก
ความดังในชั่วข้ามคืน
หลังจากที่รายการแฟนพันธุ์แท้กลับมาอีกครั้งในปี 2555 ซึ่งเป็นยุคที่โลกออนไลน์กำลังมีบทบาทมาก ทำให้เราสามารถเข้าไปพูดคุยหรือติดตามผู้เข้าแข่งในรายการจากโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น @themacci สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สตีฟ จ็อบส์ที่มีผู้ตามเพิ่มขึ้นในทวิตเตอร์ กว่า 300 คนในคืนเดียว หรือแม้แต่ @khajochi ของผมเองก็มีผู้ติดตามเพิ่มกว่า 200 คน
บล็อกของ @sanakujira ที่เขียนเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองเข้าแข่งและได้รางวัลสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ 2PM ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงมาก มียอดส่งต่อในเฟสบุ้คและทวิตเตอร์หลายร้อยครั้งในช่วงเวลาไม่กี่วัน
แล้วเราจะหาโอกาสนั้นได้อย่างไร ?
ด้วยความที่รายการแฟนพันธุ์แท้รับสมัครจากคนธรรมดา ที่ไม่ต้องเป็นดาราหรือผู้มีชื่อเสียงก็ได้ หากคุณเป็นคนที่มีความสนใจด้านใดมากเป็นพิเศษ ก็มีโอกาสที่จะสมัครแข่งขันได้อยู่เสมอ เพียงติดตามจากทวิตเตอร์หรือแฟนเพจของรายการว่ามีหัวข้อใดที่พอจะสมัครได้หรือเปล่า
ถ้าการจะลงแข่งเองนั้นดูจะยากลำบาก เราก็อาจจะใช้โอกาสจากการทำความรู้จักผู้ที่เข้าแข่งในหัวข้อนั้นๆ ได้ ดังเช่นที่คุณแซนดี้ หงส์สุดยอดแฟนพันธุ์แท้บาร์บี้ ได้รับเชิญไปแทบทุกงานที่เกี่ยวข้องกับตุ๊กตาบาร์บี้ ซึ่งก็สร้างความน่าสนใจให้กิจกรรม หรือธุรกิจนั้นๆ ได้เช่นเดียวกัน
แต่ไม่ว่าคุณจะได้เกี่ยวข้องกับรายการนี้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วคือถ้าเรารักและมีความเชื่อในสิ่งใดมากจริงๆ อย่าหยุดเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ซักวันนึงสิ่งนั้นก็จะให้อะไรกลับมากับเราแน่นอน ไม่มากก็น้อยครับ