xs
xsm
sm
md
lg

เลขากสทช.หิ้วเอกสารสัญญา 3G กสท-ทรู ชี้แจงป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขากสทช.เข้าพบปธ.คณะอนุฯไต่สวนข้อเท็จจริงสัญญา 3G กสท -ทรู ที่ปปช.พร้อมยื่นเอกสาร 4 ชุดเพื่อนำไปประกอบในการพิจารณาการไต่สวนต่อไปก่อนฟันธงเร็วๆนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยภายหลังการเข้าพบนายเมธี ครองแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงสัญญาโครงการธุรกิจรูปแบบใหม่ 3G บนระบบ HSPA ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่สำนักงาน ป.ป.ช.สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี

โดยการเข้าพบในวันนี้เลขาธิการกสทช.ได้นำเอกสารเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย ชุดแรก คือ มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช.เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2554 ที่มีมติให้ส่งหนังสือถึง บริษัท กสท โทรคมนาคม เพื่อชี้แจงถึงการทำสัญญากับกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น ในหลายประเด็น อาทิ การไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน การกระทำที่จำกัดสิทธิผู้ให้บริการเฉพาะราย และให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาบางส่วน โดยกำหนดระยะเวลาภายใน 30 วัน แต่ กสท กลับทำหนังสือขอเลื่อนการชี้แจงมาแล้วถึง 2 ครั้ง

ชุดที่ 2 คือ คำสั่งของคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ MVNO ที่ได้มีการศึกษาการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่เช่าใช้โครงข่ายเพื่อนำมาให้บริการโทรคมนาคม หรือ MVNO ตามมาตรา 46 ซึ่งมี 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภท Thin MVNO คือผู้ให้บริการด้านการขายซิม และการทำการตลาด ประเภท Medium MVNO เป็นผู้ให้บริการการทำการตลาด รวมทั้งควบคุมระบบ Switching และประเภท Full MVNO ที่ควบคุมระบบ Radio Network Controller หรือ RNC รวมทั้งควบคุมทั้งคลื่นความถี่และจำนวนผู้ใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีการให้บริการ Thin MVNO และ Medium MVNO ที่เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย ส่วนการให้บริการ Full MVNO ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากตามมาตรา 46 ได้ห้ามไม่ให้มีการโอนย้ายความถี่ไปให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตใช้

นายฐากร กล่าวต่อว่า ในชุดที่ 3 คือ คำสั่งของคณะกรรมการ กสทช.เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อศึกษาการทำสัญญาระหว่าง กสท และกลุ่มทรูที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ 3G ภายใต้แบรนด์ "ทรูมูฟ เอช" โดยมีนายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ เป็นประธานอนุกรรมการ

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการดังล่าวมีหน้าที่ศึกษา และวิเคราะห์ความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาระหว่างกสท และกลุ่มทรู ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 MHz ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยความคืบหน้าล่าสุดคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาการทำสัญญาระหว่างกสท กับทรู จะต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันหลังตั้งคณะอนุฯ หรือ ภายในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้

ขณะที่ในชุดที่ 4 คือเอกสารการฟ้องของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ยื่นฟ้องบริษัท กสท โทรคมนาคม ต่อศาลปกครองกลาง ให้ระงับการให้บริการ 3G ร่วมกับกลุ่มทรู และ บริษัท เรียลมูฟ ผู้ให้บริการระบบ 3G ภายใต้ชื่อ “ทรูมูฟ เอช” ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการและเลขาธิการ กสทช.ให้เพิกถอนมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2554

นายฐากร กล่าวเสริมว่า ภายหลังจากคณะอนุกรรมการ ที่กสทช.ได้ตั้งเพื่อศึกษาในกรณีดังกล่าว ศึกษาแล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. จะได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการของป.ป.ช. ต่อไป

อีกทั้งคดีความที่บริษัท เรียลมูฟ ได้ยื่นฟ้องต่อ กสทช.นั้นทางกสทช.ได้ทำหนังสือขอเลื่อนการส่งเอกสารชี้แจงต่อศาลออกไป เนื่องจากมีเอกสารจำนวนมาก และยังไม่สามารถเตรียมการได้ทัน อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุเวลาผลการสอบในเรื่องนี้แล้วเสร็จแต่อย่างใด

ดังนั้นจากกรณีสัญญาโครงการธุรกิจรูปแบบใหม่ 3G บนระบบเทคโนโลยี HSPA ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบแล้วหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบ เรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ของวุฒิสภา คณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ ส.ต.ง. ศาลปกครอง กสทช. และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทสและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดต่างคนต่างตรวจสอบในประเด็นที่คาดว่าจะทุจริต มิชอบในกรณีดังกล่าว

Company Relate Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น