xs
xsm
sm
md
lg

ครบรอบ 3 ปี แอนดรอยด์ เปลี่ยนไปมาก/น้อยแค่ไหน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


3 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหกจริงๆ ซึ่งในวันนี้เป็นวันครบรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ได้ถือกำเนิดและวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2008 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้วนั่นเอง

นับตั้งแต่ระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ได้ถือกำเนิดขึ้น ตั้งแต่รุ่นแรก Cupcake 1.5 ไล่จนมาถึงระบบปฎิบัติการล่าสุด Ice Cream Sandwich 4.0 ขณะนี้แอนดรอยด์มีระบบปฎิบัติการถึง 7 ตัว แน่นอนว่าเมื่อมีการอัปเกรดย่อมมีการเปลี่ยนแปลง วันนี้เราจะพาไปชมกับต้นกำเนิดของแอนดรอยด์ไล่มาจนถึงปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยอย่างไร

Android 1.5 Cupcake



ก่อนหน้าที่จะมีระบบปฎิบัติการ Cupcake 1.5 นั้น ได้มีสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เครื่องแรกของโลกอย่าง T-Mobile G1 หรือ HTC Dream ซึ่งได้วางจำหน่ายครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 22 ตุลาคม 2551 ในขณะนั้นแอนดรอยด์ 1.0 ยังไม่มีการตั้งชื่อโค้ดเนมระบบปฎิบัติการที่เป็นชื่อขนมแต่อย่างใด ในภายหลังได้มีการรวมซอร์สโค้ดเข้าด้วยกันจนกลายมาเป็น Android 1.5 Cupcake

Android 1.6 Donut



จะว่าไปแล้วระบบปฎิบัติการ Donut นั้นได้เปิดตัวหลังจากที่มีการปล่อย Cupcake อย่างเป็นทางการไปแล้ว 5 เดือน (Cupcake เปิดตัว 30 เมษายน 2552 ส่วน Donut เปิดตัว 15 กันยายน 2552) ข้อแตกต่างระหว่าง Cupcake กับ Donut นั้นไม่มีความแตกต่างกันมาก โดยคุณสมบัติที่เพิ่มมาของ Donut คือสามารถรองรับเครือข่ายแบบ CDMA เพิ่มการค้นหาด้วยเสียง ปรับปรุงในส่วนของ Android Market

Android 2.1 Eclair



ถือว่าเป็นการก้าวข้ามชนิดที่เรียกว่าก้าวกระโดดเลยก็ว่าได้ สำหรับระบบปฎิบัติการ Eclair 2.1 มีการเพิ่มฟีเจอร์ Live Wallpaper (พื้นหลังที่เคลื่อนไหวได้) มีการปรับปรุงไอคอนของแอปพลิเคชันให้ดูคมชัด สวยงามยิ่งขึ้น รวมถึงมีการปรับปรุงทางเข้าหน้าแอปพลิเคชันรวม และมีไอคอนดอท (dot) เพื่อบอกว่าขณะนี้ผู้ใช้อยู่หน้าใดของ Homescreen

Android 2.2 Froyo



ช่วงระยะเวลาการออกระบบปฎิบัติการใหม่ระหว่าง Eclair กับ Froyo ใช้เวลาในการออกไล่เลี่ยกัน โดย Elclair เปิดตัวเมื่อ 26 ตุลาคม 2552 และมีการปรับปรุงใหม่อีกครั้งในวันที่ 12 มกราคม 2553 ส่วน Froyo เปิดตัวครั้งแรก 20 พฤษภาคม 2553 สิ่งที่เพิ่มมาใน Froyo เป็นเรื่องของการเข้างานใช้แอปฯ อย่างทันใจ จากรูปจะเห็นได้ว่าจะมีไอคอนโทรศัพท์กับเว็บ เบราว์เซอร์ ให้ผู้ใช้สามารถเข้าใช้งานได้เลยจากหน้าจอ Homescreen

Android 2.3 Gingerbread



เป็นระบบปฎิบัติการตัวใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนๆ ค่อนข้างเยอะพอสมควร เริ่มตั้งแต่มีการเปลี่ยน notification bar โดยใช้สีดำทึบ ในส่วนของธีมจะใช้สีดำและสีเขียวเป็นสีหลักประจำระบบปฎิบัติการ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มลูกเล่นนิดหน่อย คือ เมื่อมีการปิดหน้าจอเครื่อง หน้าจอจะแสดงผลแบบจอแคโธด เหมือนทีวีรุ่นเก่า และมีการอัปเกรดความสามารถของ Google Apps ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น และ keyboard ให้ดูมีความทันสมัย

Android 3.0 Honeycomb



เป็นระบบปฎิบัติการที่ออกมาเพื่อตอบสนองการใช้งานในรูปแบบของอุปกรณ์แท็บเล็ตโดยเฉพาะ ธีมหลักของระบบปฎิบัติการจะใช้สีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ มีการปรับปรุงอินเตอร์เฟสใหม่ ซึ่งแน่นอนว่ามันจะถูกใช้บนแท็บเล็ต ย่อมต้องมีข้อแตกต่างจากระบบปฎิบัติการบนสมาร์ทโฟนอยู่บ้าง notofication bar จะย้ายจากข้างบนมาอยู่ด้านล่าง ด้านล่างซ้ายจะเป็น virtual Button โดยจะมีปุ่ม Back, ปุ่ม Home และ Multitasking ที่ต้องใช้การสัมผัสเท่านั้น ส่วนด้านบนจะเป็นเมนูทางเข้าแอปพลิเคชันรวม ส่วนรูปเครื่องหมายบวกสำหรับใช้ในการปรับเปลี่ยนวิดเจ็ทและพื้นหลังต่างๆ

Android 4.0 Ice Cream Sandwich



และแล้วก็มาถึงระบบปฎิบัติการน้องใหม่ล่าสุดของชาวแอนดรอยด์นั่นคือ Ice Cream Sandwich ที่มีรูปแบบมีการเปลี่ยนแปลงภายในระบบปฎิบัติการมากที่สุด นับตั้งแต่ใช้ระบบปฎิบัติการบนสมาร์ทโฟนเป็นต้นมา ถึงจะบอกว่าแตกต่าง แต่ระบบปฎิบัติการ Ice Cream Sandwich นั้นมีการดึงรูปแบบอินเตอร์เฟสหลักๆ ของ Honeycomb มาปรับแต่งใหม่เสียมากกว่า จุดเด่นของระบบปฎิบัติการนี้คือ สามารถรองรับการรันทั้งบนสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ชนิดที่ว่านี่คือจุดขายของระบบปฎิบัติการเวอร์ชันนี้ก็ว่าได้ ไอคอนมีการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างโฟลเดอร์สำหรับเก็บแอปฯ ให้เป็นหมวดหมู่ได้ นอกจากนี้มีการเพิ่มฟีเจอร์ที่น่าสนใจ หลากหลายฟีเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อกหน้าจอด้วยใบหน้า (ใช้ได้เฉพาะรุ่นที่มีกล้องหน้า) เว็บเบราว์เซอร์ที่มีการปรับแต่งให้คล้ายกับ Google Chrome บนคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น และถ้าหากใครที่เคยใช้แท็บเล็ต Honeycomb มาก่อนก็คงจะคุ้นกับ Virtual Button ซึ่งในระบบปฎิบัติการ Ice Cream Sabdwich ปุ่มดังกล่าวก็จะถูกใส่ไว้ในสมาร์ทโฟน เพื่อความรวดเร็ว และความสะดวกขณะใช้งานเครื่อง เป็นต้น

สำหรับคำถามที่ว่าระบบปฎิบัติการรุ่นต่อไปของแอนดรอยด์จะเป็นขนมชนิดใด ตอนนี้ต้องบอกเลยว่า "ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม" แล้วเวลาที่เหมาะสมคือเมื่อไหร่ คำตอบนี้จะอยู่ในงาน Google I/O ที่จะจัดขี้น 2 วันในวันที่ 24-25 เมษายนศกหน้า แต่อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีการคาดเดาว่าระบบปฎิบัติการตัวใหม่อาจจะใช้ชื่อ Jelly Beans ก็เป็นได้ เนื่องจากว่าระบบปฎิบัติการของแอนดรอยด์นอกจากจะเป็นขนมแล้ว ยังมีการเรียงลำดับตามพยัญชนะภาษาอังกฤษอีกด้วย ซึ่งระบบปฎิบัติการเวอร์ชันหน้าของแอนดรอยด์จะตรงกับอักษรตัว "J" ในภาษาอังกฤษ เชื่อว่าเราคงจะทราบแน่ชัดหลังงาน Google I/O ว่าข่าวลือนี้จะเป็นจริงหรือไม่ โปรดติดตามโดยพร้อมเพรียงกัน

ขอบคุณภาพประกอบจาก Androidpolice
กำลังโหลดความคิดเห็น