กสทช.หารือเอกชนทั้งด้านโทรทัศน์ ด้านกระจายเสียง และด้านโทรคมนาคม เบื้องต้นให้เผยแพร่ข้อมูลอิงช่อง 11 พร้อมเล็งจัดทำแผนแม่บทสื่อสารยามภัยพิบัติ
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 11 ต.ค.มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ด้านกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง สรุปเบื้องต้นได้ขอความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้อิงเนื้อหาข้อมูลจากช่อง 11 เพราะเป็นข้อมูลของรัฐและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยกำหนดเวลาเผยแพร่ออกเป็น 3 ช่วง คือ 10.00 น. 16.00 น. และ 22.00 น.คาดว่าจะดำเนินการเช่นนี้เป็นระยะเวลา 1 เดือน รวมไปถึงเตรียมจัดหาเครื่องวิทยุสื่อสารขนาดเล็ก เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ ไปยังพื้นที่ประสบภัยให้กับเจ้าหน้าที่ ประชาชน เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา
'ผู้ประกอบการมือถือ (โอเปอเรเตอร์) ทั้ง 3 รายใหญ่ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการยืดวันหมดอายุสำหรับโทรศัพท์ระบบเติมเงิน (พรีเพด) การเติมเงินให้ฟรี เป็นต้น'
ที่ประชุมยังเสนอแนวคิดการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อร่วมมือกับการทำงานของรัฐบาลเต็มที่ โดยเตรียมจัดทำแผนแม่บทการสื่อสารกรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ เนื่องจากแผนที่มีอยู่เป็นลักษณะการขอความร่วมมือ ดังนั้นแผนดังกล่าวจะเห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะมีการกำหนดการทำงานของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดภัยพิบัติขึ้นในอนาคต
ด้าน พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวเสริมว่า ในตอนนี้สื่อที่เผยแพร่ข่าวสารมีความหลากหลายทั้งสื่อระดับชาติ และสื่อท้องถิ่น ซึ่งข้อมูลที่จะนำเสนอก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงมีข้อสรุปในที่ประชุมให้อิงข้อมูลข่าวสารจากช่อง 11 ซึ่งเป็นข่าวที่มาจากทางการและมาจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
ในขณะเดียวกันเรื่องของภัยพิบัติในท้องถิ่นซึ่งสื่อระดับชาติ และสื่อของทางราชการอาจเข้าไม่ถึงจึงขอให้สื่อท้องถิ่นแจ้งข่าวมายังสื่อระดับชาติด้วย โดยในส่วนของวิทยุชุมชนถือเป็นกำลังสำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์เพื่อแจ้งให้คนในพื้นที่ทราบ และแจ้งข่าวมายังสื่อของทางราชการ
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมกสทช.ต้องมีการสรุปอีกครั้งว่าจะขอความร่วมมือในส่วนไหนบ้าง ซึ่งวันนี้ข้อมูลยังเป็นปัญหาของสังคมไทย ดังนั้นสื่อมวลชนต้องแจ้งข้อมูลในการเตรียมพร้อมในการรับมือให้ประชาชนได้รับทราบให้มากขึ้นในช่วงนี้ เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติต้องเตรียมอะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้างเป็นขั้นตอน
นายสิทธิพล ทวีชัยการ โฆษก กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้หลังรับฟังความคิดเห็นทำให้ได้ทราบว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมดำเนินการในส่วนไหนบ้างแล้ว ส่วนผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ก็ได้ทราบว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
'บทบาทของกสทช. คือ หน่วยงานกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคม ไม่ใช่ผู้ประกอบการด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกสทช.ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ โดยที่ประชุมกสทช.ต้องสรุปแนวทางการดำเนินการหลังประชุมกับผู้ประกอบการอีกครั้ง แล้วจึงแจ้งแนวทางการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้กับผู้ประกอบการทราบโดยตรง'
Company Related Link :
NBTC