รมว.ไอซีที เผยหลังรับฟังสรุปกรอบการดำเนินงานในสังกัด เตรียมเร่งปัญหาที่สั่งสมมานาน พร้อมมอบหมายงานให้หน่วยงานภายใต้สังกัดหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 24 ส.ค.นี้
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผย ภายหลังรับฟังการบรรยายสรุปกรอบการดำเนินงานต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดว่า จากนี้ไปจะเตรียมกลับไปสรุปและจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ที่ได้รับฟังจากหน่วยงานต่างภายใต้กำกับดูแลของกระทรวง โดยอาจจะแยกออกเป็นหมวดๆ เช่น ปัญหาข้อพิพาทของคู่สัญญาสัมปทาน การอนุมัติของงบลงทุนโครงการ รวมถึงแผนงานหลักของไอซีที เพื่อให้เป็นไปตามภาพรวมของนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะกระจายบริการโทรคมนาคมสาธารณูปโภคให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมากที่สุด
ปัญหาใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับไอซีที และสั่งสมมานาน เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือในตลาดรวม ซึ่งมีข้อพิพาทมากกว่า 100 คดี ระหว่างผู้ประกอบการเอกชนกับ 2 รัฐวิสาหกิจทั้งทีโอที และกสท ดังนั้น ในหน้าที่ของรมว.ไอซีที จะต้องมาศึกษารายละเอียดเพื่อให้มีการดำเนินการเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งการทำงานต้องไม่เลือกปฎิบัติ และทุกฝ่ายที่จะแข่งขันต้องเท่าเทียม
“คงต้องรอให้รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 24 ส.ค.นี้ก่อน หลังจากนั้นจะนำนโยบายที่แถลงเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยมอบหมายงานให้หน่วยงานภายใต้สังกัดดำเนินงานต่อไป"
สำหรับหน่วยงานบรรยายสรุปกรอบการดำเนินงานต่างๆให้กับ รมว.ไอซีที อาทิเช่น สำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ทีโอที บริษัท ไปรษณีย์ไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาตินั้น
ส่วนกรณีที่ทีโอทีเตรียมจะขอให้ไอซีที เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการอนุมัติงบโครงการโครงข่ายอัจฉริยะเพื่ออนาคต (เอ็นจีเอ็น) และกสท ก็รอให้ไอซีทีลงความเห็นเพื่อขออนุมัติงบโครงการจัดทำอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณ (ทรานมิทชัน) ในโครงการ 3G HSPA ระหว่างกสท และกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ก่อนที่เสนอต่อไปยังสำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังถือเป็นเรื่องเร็วไปที่พิจารณาตัดสินในขณะนี้ ดังนั้นจึงรอเวลาดูรายละเอียดเอกสารและความสำคัญต่อทีโอทีและกสทให้ถี่ถ้วนก่อน
“การดำเนินงานต้องเป็นไปตามแผนแม่บทกระทรวงไอซีที โดยมีการวางเป้าหมายนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ซึ่งจะต้องให้มีโครงข่ายครอบคลุมประชากร 80% ในปี 2558 และในปี 2563 จะครอบคลุมได้ 95% โดยนโยบายของรัฐบาลประชาชนจระต้องได้รับบริการภาครัฐอย่างทั่วถึง ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การเตือนภัยพิบัติ เพื่อให้ระบบไอซีทีช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านแข่งขันด้านอี-คอมเมิร์ชต่อไป”
ขณะที่นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า สำนักงานปลัดไอซีทีได้เสนอแผนงานในเรื่องบรอดแบนด์แห่งชาติ การใช้ให้เกิดการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเครือข่ายสื่อสารข้อมูลภาครัฐ (จีไอเอ็น) มีการพัฒนาและเชื่อมโยงให้กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบวันสต็อปเซอร์วิส เพื่อสร้างการบริการที่เกิดประโยชน์สูงสุด ตามนโยบายการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ยังได้ให้ รมว.ไอซีที ช่วยเร่งรัดงานที่ติดค้างอยู่ในวาระการพิจารณาของครม.ชุดที่แล้ว เช่น การอนุมัติโครงการในการให้ไอซีทีทำงาน ร่วมกับสำนักงานป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายตำรวจท่องเที่ยว โดยออกไปตั้งศูนย์ติดตามข้อมูลการกระทำความผิด ให้ความรู้ และอบรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานทั้งหมดไอซีทีต้องเป็นผู้เสนอของบประมาณ
อีกทั้งยังรายงานแผนงบประมาณประจำปี 2555 แก่รมว.ไอซีทีคนใหม่ ซึ่งไอซีทีได้ยื่นเสนอของบประมาณไป 5,000 ล้านบาท ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบ่งเป็น 6 หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงไอซีทีจำนวน 1,175 ล้านบาท กรมอุตุนิยมวิทยา 1,217 ล้านบาท สำนักงานสถิติแห่งชาติจำนวน 1,108 ล้านบาท สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จำนวน 379 ล้านบาท สำนักรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 1,022 ล้านบาท และสำนักงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 96 ล้านบาท
Company Related Link :
MICT