xs
xsm
sm
md
lg

4D มีดีที่ไหน Cyber Weekend

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนัง 2มิติ ธรรมดาสามัญ ดูมานานแล้ว หนัง 3มิติ ใหม่จริงแต่ยังไม่ล้ำพอ แล้ว 4มิติ ล่ะ อย่างนี้สิเรียกว่า ล้ำตัวพ่อ แต่มีให้ดูในเมืองไทยหรือยัง ต้องขอบอกว่า ใกล้เต็มที

ถึงแม้ธุรกิจภาพยนตร์หรือหนังที่คนไทยเรียกกันจนติดปากกำลังหาจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญให้กับอุตสาหกรรมหนัง เดิมที่คิดว่า หนัง 3 มิติคือคำตอบ จึงเริ่มเห็นค่ายผู้ผลิตหนังฟอร์มยักษ์ต่าง “คิกออฟ” ส่งหนัง 2มิติ และ 3มิติเข้าสู่โรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี แต่จู่ๆ เทคโนโลยี 3มิติ กลับถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วในตลาดโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงจอแอลอีดีตามบ้าน ที่ทุกค่ายทั้งเกาหลีและญีปุ่นต่างขนสินค้ารุ่นใหม่เข้าตลาดหลากหลายขนาด

เมื่อกระแสทีวี 3มิติ เข้ามาประชิดติดตัวผู้ชมขนาดนี้ ทำให้จุดต่างระหว่างดูหนังที่บ้านกับดูในโรงไม่ต่างกันอีกต่อไป ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติวงการภาพยนตร์สู่รูปแบบ 4มิติ ที่ไม่สามารถหาดูได้จากที่บ้าน และประเทศที่เอาทุ่มเทกับ 4มิติ มากๆ หนีไม่พ้นเกาหลี

นั้นคือ เหตุผลหลักที่อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ในเกาหลี และประเทศที่พัฒนาแล้วประสบ จนทำให้ต้องหันมาให้บริการฉายภาพยนตร์ในรูปแบบ 4มิติแทน

“แอนดี้ จียอน มัน ปาร์ค” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท ซีเจ โฟร์ดีเพล็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ซีเจ ซีจีวี ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประชาชนในเกาหลีส่วนหนึ่งลดจำนวนครั้งเข้าดูหนังในโรงภาพยนตร์ และเปลี่ยนพฤติกรรมไปรับชมที่บ้านแทน จากเทคโนโลยีของโฮมเธียเตอร์ในปัจจุบันสามารถดูภาพยนตร์ความละเอียดสูงไปจนถึงภาพยนตร์ 3มิติได้อย่างสบาย

อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ของเกาหลีมีอัตราการเติบโตคงที่ ราว 5% มาหลายปีแล้ว แต่เชื่อว่าหลังจากมีการให้บริการฉายภาพยนตร์ 4มิติ จะช่วยกระตุ้นและสร้างความแตกต่างให้ทั้งโรงภาพยนตร์ ผู้ผลิตภาพยนตร์และผู้บริโภคที่เข้าไปรับชม แน่นอนว่า ผู้ชมทั่วไปยังจะไม่สามารถหาประสบการณ์ในการรับชมภาพยนตร์ 4 มิติ ได้จากที่บ้านในช่วงเวลา 2-3 ปีต่อจากนี้ไป จึงทำให้ทางบริษัท ซีเจฯ เชื่อมั่นว่า อนาคตของโรงภาพยนตร์ที่จะสร้างรายได้อย่างยั่งยืนคงหนีไม่พ้นหนัง 4มิติ

"ภาพยนตร์แบบ 4มิติ จะเป็นรูปแบบการชมภาพยนตร์ที่สัมผัสได้เฉพาะที่โรงภาพยนตร์เท่านั้น ไม่สามารถสร้างได้ในบ้าน" แอนดี้ ระบุความได้เปรียบของโรงหนัง 4มิติในเวลานี้ได้อย่างชัดเจน

การพัฒนาในอุตสาหกรรมฉายภาพยนตร์ ที่ได้รับความนิยมในวงกว้างเริ่มต้นมาจากรูปแบบการฉายที่เป็นฟิลม์ขนาด 35 มม. ก่อนจะมาเป็นระบบการฉายแบบดิจิตอลที่ช่วยให้ภาพคมชัดขึ้น ตามยุคสมัยของการบันทึกภาพความละเอียดสูง ต่อยอดไปยังการฉายภาพยนตร์ 3มิติ ที่ใช้ความสามารถของระบบดิจิตอลมาช่วย

ถ้ามองในมุมของโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ ก็มีการพัฒนาจากเครื่องเล่นวิดีโอเทปมาเป็นวีซีดี ดีวีดีและบลูเรย์ จากการแสดงภาพจากจอภาพมาเป็นแอลซีดี แอลอีดี ที่ให้ความคมชัดสมจริงของสีมากยิ่งขึ้น

จนมาถึงล่าสุดที่บริษัท ซีเจฯ ได้พัฒนาและคิดค้นระบบฉายภาพยนตร์แบบ 4มิติ ที่นำการฉายภาพยนตร์แบบ 2มิติ หรือ 3มิติ มาใส่สภาพแวดล้อมขณะรับชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของเก้าอี้ สัมผัสของลม น้ำ กลิ่น และแสง เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมให้แปลกใหม่ ซึ่งยังคงไม่คุ้มที่จะลงทุนในโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์

บริษัท ซีเจฯ ประเมินไกลไปในอนาคตว่า ความต้องการโรงภาพยนตร์ 4มิติ เมื่อเทียบกับมูลค่าในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้วจะอยู่ที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อโรงภาพยนตร์ 4มิติ หนึ่งแห่งหรือคิดเป็น 1,200 โรงทั่วโลก

กลุ่มเป้าหมายหลักของภาพยนตร์ 4มิติ จากกระแสตอบรับในเกาหลีและเม็กซิโก พบว่า อยู่ในช่วงวัยรุ่น อายุระหว่าง 15 - 25 ปี คิดเป็นสัดส่วนผู้เข้าชมประมาณ 70%

“แอนดี้” ยังพูดถึงทิศทางการทำตลาดโรงภาพยนตร์ 4มิติ ของบริษัท ซีเจ โฟว์ดีเพล็กซ์ (4DPlex) ที่ใช้ทำตลาดในเกาหลี หรือภายใต้ชื่อแบรนด์ โฟว์ดีเอ็กซ์ (4DX) สำหรับทำตลาดทั่วโลก นอกจากเน้นหาพันธมิตรทางธุรกิจในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์เพื่อขยายสาขาไปทั่วโลกแล้ว ยังรวมถึงการเข้าร่วมกับฝั่งผู้ผลิตภาพยนตร์เพื่อให้สร้างภาพยนตร์แบบ 4มิติ ด้วยเช่นกัน

"การเปิดโรงภาพยนตร์ 4มิติ เริ่มจากในประเทศเกาหลีทั้งหมด 13 โรง ที่กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ และมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 18 โรงภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงการเปิดสาขาไปยังประเทศอย่างจีน เม็กซิโก และไทยตามลำดับ"

กระแสการตอบรับจากทั้งในเกาหลี จีน และเม็กซิโก ถือว่าเกินความคาดหมายที่วางไว้ ทำให้จำเป็นต้องมีการขยายโรงภาพยนตร์แบบ 4มิติ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างในเม็กซิโก ช่วง 2 สัปดาห์แรกมีอัตราการเข้าชมต่อโรงต่อรอบสูงถึง 90% ทำให้บริษัท ซินาโพล บริษัทที่ให้บริการโรงภาพยนตร์ในเม็กซิโกและแถบลาตินอเมริกา มีแผนจะเปิดตัวโรงภาพยนตร์ 4มิติ เพิ่มอีก 40 โรง ในปีหน้า และจะขยายเป็น 150 โรงในอีก 6 ปี

เช่นเดียวกับการขยายตัวไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของซีเจฯ ที่กำลังดำเนินการว่า ขยายเข้าไปยังประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รัสเซียและหลายประเทศในแถบยุโรปตะวันออกในปีหน้านี้

นอกจากนี้ซีเจฯ ยังมีการลงทุนเพื่อเปิดศูนย์พัฒนาโปรแกรมภาพยนตร์ 4มิติ ในลอสแองเจอลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของหลายบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ด เพื่อช่วยให้บุกเบิกเข้าไปยังตลาดสหรัฐฯได้ง่ายขึ้น

"ภาพยนตร์ 4มิติ จะเข้ามาปฏิวัติวงการภาพยนตร์ให้เดินหน้าสู่อนาคต จึงทำให้ทางซีเจต้องเข้าร่วมกับผู้ผลิตตั้งแต่ขั้นตอนโพสต์ โปรดักส์ชันให้สามารถพัฒนาหนัง 4 มิติได้อย่างสมบูรณ์แบบ"

ขั้นตอนการทำภาพยนตร์ 4มิติ ของซีเจฯ จะใช้เวลาในการพัฒนาโปรแกรมประมาณ 16 วันต่อภาพยนตร์หนึ่งเรื่องจากทีมเทคนิคเฉพาะทาง ก่อนส่งกลับไปให้ทางทีมงานผู้ผลิตอนุมัติให้เข้าฉายในตามโรงภาพยนตร์

จุดหนึ่งที่ภาพยนตร์ 4มิติ ที่ผลิตจากเทคโนโลยีของซีเจ ไม่เหมือนกับภาพยนตร์ 4 มิติทั่วไป ตรงที่สามารถปรับระดับความแรงของเอฟเฟกต์ให้เหมาะสมกับแต่ละความต้องการได้ เช่น ถ้ามีการทดลองและพบว่า การเคลื่อนไหวของเก้าอี้รุนแรงไป ก็สามารถเข้าไปแก้ไขโปรแกรมเพื่อปรับระดับความแรงให้เหมาะสมได้

ปัจจุบัน ซีเจ ซีจีวี ถือเป็นผู้นำของตลาดโรงภาพยนตร์ในประเทศเกาหลี จากส่วนแบ่ง 51% มีอัตราการเติบโต 15% ต่อเนื่องมา 13 ปีติดต่อกัน และเชื่อว่าจะยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตเช่นนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าทิศทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่อไปในอนาคต คงไม่ได้จบอยู่ที่ โรงภาพยนตร์ธรรมดาที่ให้ผู้ชมเข้าไปเสพหนังอีกต่อไป แต่จะเป็นการสร้างกิจกรรมที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมไปกับภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ด้วย

***ตลาดไทยยังไม่หวั่น

ในขณะที่ประเทศไทย ผลกระทบหลักๆ ของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ที่ประสบคงมีเพียงแค่เรื่องของละเมิดลิขสิทธิ์เป็นหลักเท่านั้น เพราะในแง่ของเทคโนโลยีโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ในประเทศไทยนั้นยังไม่พัฒนาถึงขั้นเดียวกับในเกาหลีและสหรัฐอเมริกา

ดังจะเห็นได้จากความนิยมในแง่ของการรับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูงอย่างบลูเรย์ หรือภาพยนตร์จากทีวี 3มิติ ที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก จากราคาของผลิตภัณฑ์อย่างเครื่องเล่นและจอภาพที่ค่อนข้างสูง ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักยังเป็นตลาดระดับบนอยู่ แต่เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอาจเกิดผลกระทบอย่างเดียวกับโรงภาพยนตร์ เมื่อผู้ชมเลือกรับชมภาพยนตร์ที่บ้านมากกว่าออกไปชมที่โรงภาพยนตร์

“วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์มานาน ให้ความเห็นว่า การที่ทางเมเจอร์ฯ เลือกนำระบบฉายภาพยนตร์แบบ 4มิติ เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำนวัตกรรมดังกล่าวในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"ถ้าดูจากอดีตที่ผ่านมาเมเจอร์ถือเป็นเป็นผู้นำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาสู่ประเทศไทย ตั้งแต่โรงภาพยนตร์ ไอแม็กซ์ที่เป็นจอฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ภาพยนตร์ดิจิตอลระบบ 3มิติ และล่าสุดที่จะเห็นกันคือ โรงภาพยนตร์ เอไอเอส 4ดีเอ็กซ์

เมเจอร์ฯ ได้วางพื้นที่โรงภาพยนตร์ที่ 5 สาขาพารากอน ที่กำลังปรับปรุงให้เข้าฉายประเดิมภาพยนตร์ 4มิติ เรื่องแรกในไทยอย่าง ทรานฟอร์เมอร์ ภาค 3 ก่อนประเมินการขยายโรงภาพยนตร์ 4มิติ ในประเทศไทย และวางราคาตั๋วไว้ประมาณ 400 บาท ถูกกว่าในต่างประเทศที่อยู่ราว 700-800 บาท

“ขอเวลาสัก 2-3 เดือนในการประเมินพฤติกรรมรับชมภาพยนตร์ของชาวไทย ก่อนตัดสินใจขยายโรงภาพยนตร์ 4มิติ ออกไปยังพื้นที่อื่นๆ หรือแม้แต่ในหัวเมืองใหญ่ๆ”

คงต้องดูกันต่อไปว่า 4มิติ จะสามารถจับจองพื้นที่ให้แจ้งเกิดในประเทศไทยได้เหมือนในเกาหลี หรือจะเป็นแค่โรงภาพยนตร์สำหรับคนมีตังค์ไว้คลายเครียดกันแน่...

Company Relate Link :
CJ CGV
Major Cineplex
กำลังโหลดความคิดเห็น