xs
xsm
sm
md
lg

โดเมน"ดอทอะไรก็ได้" ไม่มีผลต่อชาวออนไลน์?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Rod Beckstrom ประธานและซีอีโอ ICANN ในงานประชุม ICANN ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ปี 2013 จะเป็นปีที่หน่วยงานดูแลอินเทอร์เน็ตโลกหรือ ICANN จะเริ่มเปิดให้เจ้าของเว็บไซต์สามารถจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมใหม่ที่ต่อท้ายด้วย"ดอทอะไรก็ได้" แทนที่จะเป็น .com, .net, หรือ .org แต่สามารถเป็นดอทชื่อบริษัทเช่น .Apple, .CBS, หรือ .McDonalds รวมถึงคำใดๆก็ได้ตามต้องการ แต่ล่าสุดนักธุรกิจในวงการโดเมนออกมาฟันธงว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อโลกออนไลน์ในระดับ"นิดเดียว"เท่านั้น เพราะผู้บริโภคจะยังติดกับชื่อ"ดอทคอม" และการค้นหาชื่อเว็บบนระบบค้นหาของกูเกิลต่อไป

เจเรมีห์ จอห์นสตัน ประธานฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทจำหน่ายชื่อโดเมนเนม Sedo.com LLC ในเมืองแคมบริดจ์ เป็นผู้ตั้งข้อสังเกตว่าแม้การเพิ่มจำนวนชื่อเว็บแอดเดรสจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่เชื่อว่าการเปิดเสรีให้เจ้าของเว็บไซต์ตั้งชื่อเว็บไซต์โดยใช้คำใดก็ได้ต่อท้าย"ดอท"นั้นจะไม่ทำให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลายในวงกว้าง โดยยกตัวอย่างว่าธุรกิจจำหน่ายชื่อโดเมนของบริษัทนั้นอยู่ในระดับคงที่แม้ ICANN จะอนุมัติชื่อโดเมนเนมใหม่หลายชื่อตั้งแต่ปี 2000 และ 2004

"นี่จึงเป็นคำถามว่า เราจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนที่อยู่เว็บไซต์ด้วยวิธีนี้หรือไม่"

คำถามของจอห์นสตันเกิดขึ้นเมื่อหน่วยงานกำกับดูแลการจดโดเมนบนโลกออนไลน์ Internet Corporation for Assigned Names and Numbers หรือ ICANN ประกาศผลการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2011 ว่าที่ประชุมมีมติเปิดให้ชาวออนไลน์สามารถจดชื่อโดเมนเนมระดับบนสุดหรือ top-level domain ที่ต่อท้ายดอทด้วยคำอะไรก็ได้ที่ต้องการ โดยเบื้องต้นรายงานระบุว่า หนึ่งในเงื่อนไขการจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมดอทอะไรก็ได้นั้นจะมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าจดทะเบียนราว 185,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 5.5 ล้านบาท) และค่าต่ออายุรายปีอีก 25,000 เหรียญ (ราว 7.5 แสนบาท)

ค่าใช้จ่ายมหาศาลนี้เป็นอีกจุดที่ทำให้การเปิดเสรีของ ICANN ครั้งนี้ถูกโจมตี เพราะนักสังเกตการณ์เชื่อว่าการเสียเงินจดทะเบียนเพื่อให้ได้ชื่อที่โก้เก๋นั้นต้องแลกกับการทิ้งเงินไปในอากาศ แม้กลุ่มสนับสนุนจะยืนยันว่าบริษัทและแบรนด์ต่างๆจะคุ้มค่าเพราะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้นของลูกค้า เช่น ลูกค้ารองเท้ากีฬาไนกี้ (Nike) จะสามารถพิมพ์ชื่อเว็บแล้วต่อท้ายด้วย .nike ได้เลย

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าเพราะชาวออนไลน์นั้นค้นหาเว็บไซต์จากกูเกิลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากชื่อแอดเดรสที่พบจะเป็น nike.com หรือคำอื่นแล้วตามด้วย .nike ผู้ใช้ย่อมไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงมากนัก จุดนี้ วิลเลี่ยม ซีมิช (William Semich) ประธานบริษัท WorldNames Inc. ซึ่งให้บริการจดทะเบียนชื่อเว็บแอดเดรสในเมืองมีดฟิลด์ คาดการณ์ว่า 75% ของชื่อโดเมนใหม่อาจจะถูกใช้งานน้อยมาก และอาจจะเงียบหายไปเลยในราว 2-3 ปี

อย่างไรก็ตาม ร็อด เบคสตรอม (Rod Beckstrom) ประธานและซีอีโอของ ICANN ยืนยันว่าการประกาศครั้งนี้หมายถึงการให้อิสระกับโลกออนไลน์ โดยเปรียบว่าการเปิดทางให้บริษัทใช้ชื่อโดเมนเนมดอทอะไรก้ได้คือการเปิดโลกออนไลน์ที่ถูกจำกัดกั้นการใช้งานมานาน โดยให้รายละเอียดว่าการตัดสินใจที่เกิดขึ้นใช้เวลาเจรจาและศึกษาเหตุผลมานานกว่า 6 ปี ถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับโลกได้เปิดรับโดเมน .com มาตั้งแต่ปี 1984 และเหตุที่ทำให้การศึกษาและหาข้อสรุปของมติครั้งนี้ล่าช้า คือความกังวลเรื่องลิขสิทธิ์และเครื่องหมายทางการค้าของบริษัททั่วโลก

ขณะนี้ โลกเรามีโดเมนเนมระดับบนสุดมากกว่า 22 ชื่อ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มชื่อ .biz, .info และ .asia ยังไม่แพร่หลายนักเพราะจะเริ่มใช้งานในช่วงปีหน้า (2012)

สำหรับชื่อแอดเดรสใหม่สุดเสรีที่จะเกิดขึ้น เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบว่าจะเป็นที่นิยมหรือเงียบหายไปตามคำพยากรณ์

Company Related Link :
ICANN
เหล่ากรรมการบริหาร ICANN
บรรยากาศการยืนยันการออกเสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น